วันอาทิตย์, สิงหาคม 02, 2558

"อย่าหาว่าพวกเราไม่เตือน" ขีดเส้น ๓ สิงหา เปิดระบายน้ำเขื่อนปากมูล

หน้าเพจ ร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถาวร โพสต์ข้อความเมื่อวานนี้

เขื่อนปากมูล ต้องเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน สุดบาน ในวันที่ 3 สิงหาคม 2558 นี้ ไม่เช่นนั้น อย่าหาว่าพวกเราไม่เตือน!!

เมื่อปีที่แล้วเขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำสุดบาน ทั้ง 8 บาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. # แต่ปีนี้ รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นมา ด้วยหวังว่าจะเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล

ซึ่งต่อมาคณะกรรมการฯ ได้กำหนดเกณฑ์ในการเปิดประตูเขื่อนปากมูลไว้ดังนี้ "เมื่อระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม มีระดับที่ 95 ม.รทก" ( 95 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งจะต้องพร่องน้ำเป็นเวลา 7 - 10 วัน

และต่อมาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ระดับน้ำที่ห้วยสะคามได้เพิ่มขึ้นที่ระดับ 95.10 ม.รทก. และในวันเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ได้ประชุมและเปลี่ยนเกณฑ์การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลใหม่ โดยเปลี่ยนมาเป็นการลดระดับน้ำแทน ซึ่งว่ากันไป

อย่างไรก็ตาม พวกเรายังยืนยันว่า การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องเปิดสุดบานทั้ง 8 บานในวันที่ 3 สิงหาคม 2558 นี้

# พวกเราไม่อยากชุมนุม แต่การไม่ยอมเปิดประตูเขื่อนปากมูล มันก็คือการสร้างเงื่อนไขให้พวกเราต้องชุมนุม

# ท่านเลือกเองนะว่าจะใช้แนวทางไหน ???? พวกเราพร้อมรับทุกสถานการณ์



บทสรุปเขื่อนปากมูล จากคณะกรรมการเขื่อนโลก

โดย วันดี สันติวุฒิเมธี

หลักจากถกเถียงกันอยู่นานว่า รายงานสรุปของคณะกรรมการเขื่อนโลกกรณีเขื่อนปากมูล ที่ทั้งฝ่ายสมัชชาคนจนและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่างหยิบยกมาอ้างถึง เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนแก่ฝ่ายตนนั้น ฉบับไหนเป็นฉบับจริง ฉบับไหนเป็นฉบับร่าง

ล่าสุดปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตัวแทนจากคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams - WCD) ได้ออกมาสรุปรายงานดังกล่าวด้วยตนเองแล้วว่า เขื่อนปากมูลประสบความล้มเหลวในทุกด้าน

ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลของสมัชชาคนจนซึ่งเคยเปิดเผยทางสื่อมวลชนมาก่อนหน้านี้จึงได้รับการยอมรับว่าสอดคล้องกับข้อมูลฉบับจริงของคณะกรรมการเขื่อนโลก

นายเจมส์ เวิร์กแมน โฆษกคณะกรรมการเขื่อนโลก กล่าวถึงความน่าเชื่อถือของรายงานฉบับนี้ว่า "เขื่อนปากมูลเป็นหนึ่งในเจ็ดเขื่อนทั่วโลกที่คณะกรรมการฯ ทำการศึกษาโดยมีการประเมินตรวจสอบผลกระทบทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคม กระบวนการตัดสินใจ และโครงสร้างอำนาจที่ผลักดันโครงการ ถือเป็นความพยายามที่จะหาข้อสรุปร่วมในสนามรบของการพัฒนาทรัพยากรที่ดำเนินไปอย่างดุเดือด"

ความล้มเหลวของเขื่อนปากมูลในด้านต่างๆ ปรากฏชัดอยู่ในรายงานฉบับดังกล่าว 

โดยในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในรายงานระบุว่า กำลังไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูลผลิตได้จริงนั้น น้อยกว่าที่ทาง กฟผ. คาดการณ์ไว้ตอนแรกหลายเท่า คือจาก 150 เมกะวัตต์ เหลือเพียง 20.81 เมกะวัตต์ (คำนวณจากกระแสไฟที่จายออกมารายวันระหว่างปี 2538-2541)

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนในการสร้างเขื่อนทั้งหมดที่เพิ่มสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกกว่าหนึ่งเท่าตัว คือจาก 3,880 ล้านบาทเป็นกว่า 8,000 ล้านบาท (รวมต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเกือบ 3,000 ล้านบาท และต้นทุนทางสังคมอีกกว่า 1,000 ล้านบาท) เขื่อนแห่งนี้จึงไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจดังที่คาดการณ์ไว้

ประเด็นต่อมาคือ ผลกระทบด้านอาชีพประมง ทางคณะกรรมการเขื่อนโลกสรุปว่า การสร้างเขื่อนทำให้จำนวนพันธุ์ปลาในเขตต้นน้ำมูล-ชี ซึ่งเคยสำรวจไว้ก่อนปี 2538 ว่ามีอยู่ประมาณ 265 ชนิด ได้ลดลงเหลือเพียง 96 ชนิด ทำให้ปริมาณปลาที่ชาวบ้านจับได้ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

และบันไดปลาโจนมูลค่า 2 ล้านที่ กฟผ. พยายามสร้างขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านอาชีพประมงนั้น ทางคณะกรรมการฯ ก็ได้ผลสรุปว่า ประสบความล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถช่วยให้ปลาขึ้นไปวางไข่เหนือเขื่อนได้แต่อย่างใด เห็นได้จากปริมาณปลาในอ่างเก็บน้ำซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่า

กล่าวคือ กฟผ. คาดการณ์ไว้ว่า หากไม่มีการเพาะพันธุ์ปลาภายในอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ 60 ตารางกิโลเมตร จะมีปลาจำนวน 100 กิโลกรัม/1หมื่นตารางเมตร/ปี และหากมีการเพาะพันธุ์ปลา ปริมาณปลาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 220 กิโลกรัม/1 หมื่นตารางกิโลกเมตร/ปี แต่จากการสำรวจพบว่า มีปลาในอ่างเก็บน้ำเพียง 10 กิโลกรัม/1 หมื่นตารางเมตร/ปี เท่านั้น

และถึงแม้ว่า กฟผ. จะได้พยายามปล่อยพันธุ์กุ้งลงแม่น้ำมูล เพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์เป็นรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้าน ทว่าก็ยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมงได้อย่างถาวร เนื่อจากกุ้งพันธุ์ดังกล่าวไม่สามารถขยายพันธุ์ในน้ำจืด หากไม่มีการปล่อยพันธุ์กุ้งลงแม่น้ำเพิ่มเติม ปริมาณกุ้งก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงต้องเสียงบประมาณในการสั่งซื้อพันธุ์กุ้งปีละหลายล้านบาท

ส่วนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ สรุปว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนปากมูลไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่ธนาคารโลกกำหนดไว้ กล่าวคือ มิได้มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และหามาตรการแก้ไขผลกระทบอย่างเหมาะสมก่อนดำเนินโครงการ 

อาทิ โครงการก่อสร้างเขื่อนปากมูลได้ส่งผลให้แก่งธรรมชาติซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลายชนิดกว่า 50 แก่ง จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำอย่างถาวร แต่ในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกลับไม่เคยมีการประเมินความสูญเสียดังกล่าวไว้เลย

นอกจากนี้ ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ทาง กฟผ. ก็ไม่เคยมีการหารือกับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ตลอดจนกระบวนการแก้ไขผลกระทบแต่อย่างใด เขื่อนปากมูลจึงเป็นเขื่อนที่ประสบปัญหามากมาย

หลังจากข้อมูลดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ผู้บริหารของ กฟผ.หลายคนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยกล่าวว่ารายงานฉบับนี้มีความลำเอียง เนื่องจากคณะกรรมการฯ ไม่ได้นำข้อมูลของฝ่าย กฟผ.เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย แต่กลับนำไปใส่ไว้ในภาคผนวกของรายงานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นายเจมส์ เวิร์กแมน โฆษกคณะกรรมการเขื่อนโลก ได้ออกมายืนยันกับสาธารณชน เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งว่า

"รายงานฉบับนี้ผ่านการประมวลผลอย่างรอบด้านและได้เชิญ กฟผ. เข้าร่วมให้ความเห็นก่อนหน้านี้แล้วเช่นเดียวกับทุกๆ ฝ่าย เราได้รวบรวมความเห็นที่เราห็นว่าเป็นข้อเท็จจริง และมีความชัดเจนแม่นยำที่สามารถนำมาพิสูจน์ได้อย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ผลของรายงานอิสระเช่นนี้จะไม่ได้ทำให้ทุกฝ่ายชอบใจ แต่เราก็ยังเชื่อมั่นในรายงานฉบับนี้"