วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 16, 2558

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ลดทอนเป้าประสงค์ที่แท้จริงของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมให้สังคมได้รับรู้ร่วมกัน



ที่มา เพจ ILAW

ตามมาตรา 5 ของ 'พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ' กำหนดว่า เมื่อได้ประกาศในราชกิจจาฯ แล้ว ให้ใช้บังคับได้ นั้นหมายความว่า ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 การชุุมนุมใดๆ จะไม่ได้อยู่ภายใต้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกฎหมายการชุมนุมสาธารณะอีกด้วย

ทั้งนี้ กฎหมายการชุมนุมสาธารณะตั้งแต่เริ่มมีการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาคประชาชน(ดูรายละเอียดที่http://ilaw.or.th/node/3546) หรือ นักกฎหมาย ( ดูรายละเอียดที่ http://ilaw.or.th/node/3608)

แต่ทว่าข้อเรียกร้องเหล่านั้น ก็ไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ของมัน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ตรากฎหมายให้คำนึงถึงผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตยได้ ซึ่งประเด็นที่คนเรียกร้องให้มีการแก้ไข อาทิ

การกำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุม เช่น ห้ามจัดการชุมนุมภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล เว้นแต่จะมีการจัดสถานที่เพื่อใช้สำหรับชุมนุม โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจสั่งห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรของสถานที่ดังกล่าว และห้ามกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ อาทิ สถานที่ราชการ ท่าอากาศยาน เป็นต้น

ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจจะไปลดทอนเป้าประสงค์ที่แท้จริงของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมให้สังคมได้รับรู้ร่วมกัน อีกทั้ง การชุมนุมโดยปกติย่อมได้รับความไม่สะดวกในการใช้สถานที่อยู่แล้ว การกำหนดเรื่องการกีดขวางทางเข้าออกจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และหากเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะถูกตีความเพื่อ
คุ้มครองมากกว่าควบคุม

อ่านรายละเอียด ประเด็นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอื่นๆ ได้ที่http://ilaw.or.th/node/3676

ดูรายละเอียดร่างฉบับเต็มได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/063/19.PDF

ooo

สำรวจความเห็นภาคประชาชนต่อ ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่าน สนช. และประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งร่างกฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้การชุมนุมเป็นช่องทางในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐ เราสำรวจความเห็นของภาคประชาสังคมที่ใช้ช่องทางนี้เป็นประจำว่าเขาคิดเห็นอย่างไรกับร่างกฎหมายฉบับนี้

 


ที่มา เวป ILAW
เมื่อ 26 ก.พ. 2558 โดย iLaw

วิไลวรรณ แซ่เตี่ย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีปัญหา หากไม่ลำบากก็ไม่อยากออกมาหรอก เพราะวันหนึ่งได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ต้องลางานมันไม่คุ้ม ที่ผ่านมาการยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรี ประธานสภา ปกติเขาก็ไม่ค่อยสนใจเราอยู่แล้ว ยิ่งกฎหมายมาจำกัดสิทธิการเคลื่อนไหว มาบังคับใช้ให้แย่ลง คนจนจะลำบากมากกว่าเดิม หาที่ยื่นได้ลำบาก เราไม่มีอำนาจต่อรอง การเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุมเป็นพลังที่สำคัญ เมื่อไม่มีอำนาจทางการเมือง ก็ตายอย่างเดียว ดังนั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการลิดรอนสิทธิ ถ้าแก้กฎหมายต้องให้ประชาชนมีความสุข

ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง (กสรก.)

การต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า เป็นการสกัดกั้นการแสดงออก หากแจ้งขอชุมนุมรัฐก็คงไม่ให้อยู่ดี โดยเฉพาะเงื่อนไขในการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง มันมากไปกับคนงาน มันเป็นไปได้ยาก บ่อยครั้งที่มีปัญหา เราเลือกที่จะต้องชุมนุมกัน หาก พ.ร.บ.นี้ออกมา ก็เพื่อต้องการจัดการกับผู้ชุมนุม คือจับกุมและควบคุมได้ง่ายขึ้น

ส่วนการต้องแจ้งวัตถุประสงค์ เวลา และสถานที่ที่จะชุมนุมนั้น เป็นสิทธิของประชาชน การกำหนดเงื่อนไขมาแบบนี้ คนคงจะแจ้งน้อย เพราะถ้าแจ้งก็คงไม่ได้จัด ดังนั้น ไม่แจ้งเลยดีกว่า ให้ที่ชุมนุมกดดันต่อรองจะดีกว่า เพราะขนาดสหภาพแรงงานประกาศบอกล่วงหน้า ก็มักไม่ได้สถานที่ มักโดนสกัดกั้นก่อน ตนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมฉบับนี้ หากยังจะออกมาก็จะจำกัดสิทธิของประชาชนและยิ่งทำให้คนถูกดำเนินคดีมากขึ้น

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย

การแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง แล้วต้องแจ้งวัตถุประสงค์ กำหนดเวลา และสถานที่ชุมนุมให้ชัดเจน ตนคิดว่าไม่กระทบกับการชุมนุม แต่อาจแจ้งความจริงได้ระดับหนึ่ง เพราะบางเรื่องเราก็บอกไม่ได้ เช่นเรื่องจำนวนคน ส่วนเรื่องวัตถุประสงค์เราก็แจ้งอยู่แล้ว

ตนมองว่าการชุมนุมเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเพื่อไปสู่เป้าหมาย จริงๆ อาจมีหลายเครื่องมือก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตนให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่จะเขียนออกมามากกว่ากฎหมายลูก เพราะถ้ากฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูกก็เอามาใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ ตนเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะออกมาเพื่อรองรับการยกเลิกกฎอัยการศึก กล่าวคือ ใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ดูเนียนขึ้นในสายตาต่างชาติที่มองแต่เปลือก

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม

ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดว่าต้องแจ้งทุกอย่างว่าใช้อุปกรณ์ใดบ้างในการชุมนุม จำนวนผู้ชุมนุมมีกี่คน และต้องบอกวัตถุประสงค์ให้ชัด ซึ่งขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างมาก ประชาชนมีสองมือเปล่า ไม่มีอาวุธ ไม่มีเครื่องมืออะไรจะไปต่อรองกับรัฐ การชุมนุมเป็นเหมือนการกดดันรัฐ เอกชน เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขปัญหา ในเมื่อความหมายของการชุมนุมเป็นแบบนี้ ถูกจำกัด ถูกควบคุมให้แจ้งทุกอย่าง คล้ายกับว่าเครื่องมือชิ้นนี้ของประชาชนไม่สามารถใช้กดดันรัฐได้อีกต่อไป ปัญหาที่ประชาชนเรียกร้องให้แก้ก็ไม่รู้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่

นอกจากนี้ ตนเกรงว่ากระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจะโดนกลั่นแกล้งให้รับโทษ เช่น การจัดเวทีในศาลาวัดโดยนักศึกษา เอ็นจีโอ มีคนเข้าร่วม 60-80 คน ซึ่งอาจตีความว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะ เพราะการชุมนุมมีความหมายกว้าง และอาจถูกกลั่นแกล้งว่าไม่ได้แจ้งให้หน่วยงานรัฐทราบ ทำให้เวทีอาจถูกยกเลิกได้

จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์

การจัดการชุมนุมมีทั้งการชุมนุมที่ทราบล่วงหน้า สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ แต่บางเรื่องที่เร่งด่วน เช่น คนงานถูกเลิกจ้าง ปิดโรงงาน ไม่จ่ายเงินค่าจ้าง แบบนี้เราไม่สามารถแจ้งล่วงหน้าได้ เพราะฉะนั้นต้องยกเว้นให้กรณีเร่งด่วนไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทันท่วงที กว่าจะ 24 ชั่วโมงนายจ้างอาจจะบินไปนอกประเทศแล้วหรือขนเครื่องจักรออกหมดแล้ว ทั้งนี้ ถ้าตนมีสิทธิเลือกในการแก้ไขก็อยากให้ตัดประเด็นนี้ออกไปเลย

ส่วนเรื่องที่ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ เวลา สถานที่ ต้องมีลักษณะยืดหยุ่น ให้ผู้ชุมนุมมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองสิทธิการชุมนุม ไม่เช่นนั้น พ.ร.บ.การชุมนุมก็ปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุม ซึ่งทุกวันนี้ก็มีกฎหมายอื่นๆ ที่ปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมอยู่แล้วในทางอ้อม เช่น เรื่องการขออนุญาตใช้เครื่องเสียง การชุมนุมบนถนนก็ผิด พ.ร.บ.จราจร เป็นต้น ดังนั้น ถ้าจะมี พ.ร.บ.ชุมนุม ต้องเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องต่อการชุมนุมที่ไม่ปิดกั้นเสรีภาพประชาชน

ooo

ทิศทางเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทย : ฉบับเต็ม


https://www.youtube.com/watch?v=Kp2EHv7oNlI

Published on Mar 22, 2015
การเสวนาทางวิชาการ ประเด็น “หลักความจำเป็นและความพอสมควรแก่เหตุของร­ัฐ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในการชุม­นุสาธารณะ ในมุมมองของภาคประชาสังคม”

ร่วมเสวนาโดย
คุณไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คุณธนพร วิจันทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ดำเนินรายการโดย คุณพูนสุข พูนสุขเจริญ สมาชิกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ณ ห้องประชุมไพบูรณ์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558

ooo

เมื่อ 24 มี.ค. 2558 โดย iLaw

18 มีนาคม 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทิศทางเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทย” ที่สถาบันองค์กรพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งในงานดังกล่าว ทางสมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ผ่านการรับหลักการของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระสอง และในงานมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม อาทิ กลุ่มภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่าง ชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อที่ดิน ทรัพยากร และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยแบ่งเป็นประเด็นดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง : ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เห็นว่า ขอบเขตเนื้อหาในร่างเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม เพราะการกำหนดลักษณะการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นไปอย่างกว้างขวาง อาทิ การไม่ขออนุญาตจัดชุมนุม การชุมนุมที่กีดขวางทางสาธารณะ การชุมนุมที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ตามปกติ หรือได้รับความเดือดร้อนเกินคาดหมาย เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมาไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่าการจะยุติการชุมนุมได้นั้นต้องเป็นกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศกฎอัยการศึกเท่านั้น

ด้าน ภาคประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การใช้สิทธิในการชุมนุมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ จะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ เพราะแรงงานมีสิทธิชุมนุมประท้วงนายจ้าง แต่ทว่าไม่มีข้อยกเว้นเรื่องการใช้สิทธิด้านนี้ของแรงงานในกฎหมายชุมนุม และภายใต้เนื้อหาแบบนี้ย่อมกระทบต่อการเรียกร้องของแรงงานอย่างแน่นอน

ประเด็นที่สอง : การแจ้งการจัดการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เห็นว่า การแจ้งการจัดการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่มีลักษณะของการขอความอนุญาตมากกว่าการแจ้งให้ทราบ เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าหากการชุมนุมนั้น ไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ การชุมนุมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่ง ภาคประชาชน ก็เห็นในประเด็นที่ยกมาว่า ไม่ควรเป็นการขออนุญาตเพราะมันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะการกำหนดว่าจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมงเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ประชาชนควรสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ทันทีที่มีการตัดสินใจว่าจะชุมนุม อย่างกรณีแรงงานประท้วงนายจ้างกว่าจะ 24 ชั่วโมงก็ไม่ทันการที่จะกดดันนายจ้างได้แล้ว

ประเด็นที่สาม : การกำหนดพื้นที่และระยะในการชุมนุม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เห็นว่า การกำหนดพื้นที่บางส่วนที่ห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาดยังไม่สอดคล้องกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของไทย เพราะการชุมนุมเกิดจากการเรียกร้องและต้องการบรรลุเป้าหมายจึงต้องมีพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการกดดัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือพื้นที่ของรัฐ ดังนั้นการกำหนดพื้นที่และระยะในการชุมนุมอาจไม่เพียงพอต่อการกดดันให้รัฐรับฟังและแสดงความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหา และถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดพื้นที่ถาวรหรือชั่วคราวก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าพื้นที่นั้นจะส่งผลให้เกิดการบรรลุวัตถุประสงค์ของการชุมนุมได้

และ ภาคประชาชน ก็เห็นด้วยในประเด็นว่า การกำหนดพื้นที่และระยะการชุมนุม ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งมีผลต่อยุทธศาสตร์การเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชน ทั้งที่รัฐเองมีหน้าที่ให้การช่วยเหลือ และบางครั้งรัฐเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนเองด้วยซ้ำ ดังนั้นการกำหนดพื้นที่และระยะในการชุมนุม เช่น ห้ามชุมนุม 150 เมตร บริเวณรัฐสภา ศาล ฯลฯ ทำให้ประชาชนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้

นอกจากนี้ การห้ามชุมนุมหน้าสถานทูตก็เป็นปัญหา หากประชาชนในประเทศต้องการเรียกร้องให้ประเทศนั้นๆ เข้ามาจัดการแก้ไขบุคคลหรือกลุ่มธุรกิจของประเทศนั้นๆ ซึ่งสร้างผลเสียให้ประเทศจะทำได้อย่างไร หรือการชุมนุมเพื่อกดดันเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนต่อประเทศนั้นๆ จะได้ทำได้อย่างไร หากชุมนุมใกล้ๆไม่ได้เลย

ประเด็นที่สี่ : อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าพนักงาน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เปิดทางให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลยพินิจในการตีความได้ในหลายบทบัญญัติ จึงควรมีการวางแนวทางในการใช้ดุลยพินิจเพื่อพิจารณาและการตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เพิ่มเข้าไปอีก

ด้าน ภาคประชาชน มองว่า การมีอยู่ของ ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ควรเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพด้านนี้ของประชาชน หน่วยงานรัฐควรมีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาเช่น ควรมีกลไกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีนั้นๆมารับเรื่องหรือดำเนินการหรือเจรจากับผู้ชุมนุมโดยเร็ว ไม่ใช่ไม่ให้ชุมนุม

และภาคประชาชนยังย้ำอีกว่า หน่วยงานรัฐควรต้องมีการปรับตัว ถ้าหากเกิดเรื่องแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยแก้ปัญหาในทันที กำหนดเลยว่าจะทำภายในกี่วันเพื่อให้ไม่การชุมนุมยืดเยื้อ และการแจ้งให้ทราบต้องมีบทบังคับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยอำนวยความสะดวก เช่น การประกาศว่ามีคนใช้สิทธิเช่นนี้อยู่ กำหนดเส้นทางสัญจรใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรระบุขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงานรัฐว่าเมื่อใดจึงจะเข้าสลายการชุมนุมให้ชัดเจน และควรมีระบุความผิดในกรณีเจ้าหน้าที่ดำเนินการเกินกว่ากฎหมายกำหนด

ประเด็นที่ห้า : หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการชุมนุมและข้อห้ามของผู้ชุมนุม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เห็นว่า การที่กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ต้องมารับผิดชอบแทนผู้ชุมนุมที่ไม่ปฎิบัติตามหน้าที่และต้องรับโทษไปด้วยนั้น ขัดต่อหลักความรับผิดในทางอาญา เพราะการลงโทษเป็นเรื่องของปัจเจก ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมายอยู่แล้ว

ส่วน ภาคประชาชน เห็นตรงกันว่า ถ้ามีบทบัญญัติทางกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระรับผิดชอบให้ผู้จัดการชุมนุม โดยเฉพาะถ้าเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ คงไม่สามารถติดตามให้เป็นไปตามกฎหมายได้ และการกำหนดนิยามของผู้จัดการชุมนุมไว้กว้าง เช่น ผู้ที่เชิญชวนออกไปชุมนุม หรือผู้ที่จัดการเรื่องเครื่องเสียง เป็นต้น ก็เป็นการสร้างเงื่อนไขและภาระเพราะโทษของผู้จัดการชุมนุมมีมากกว่า และประเด็นสุดท้าย การกำหนดเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงตายตัวอาจเป็นเงื่อนไขที่ยากต่อการปฎิบัติจริง เพราะจำเป็นต้องพิจารณาขนาดของผู้เข้าร่วมชุมนุมประกอบด้วย

ประเด็นที่หก : เขตอำนาจศาล

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เห็นว่า การที่กฎหมายชุมนุมสาธารณะไม่กำหนดให้คำสั่งของเจ้าหน้าที่เป็นคำสั่งทางปกครอง เป็นการตัดอำนาจศาลปกครองออกไป ซึ่งทำให้เกิดปัญหา เช่น ระบบการพิจารณาคดีอาจไม่เหมาะสม เพราะการพิจารณาคดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมเป็นระบบกล่าวหา ไม่เหมือนกับศาลปกครองที่เป็นระบบไต่สวน ซึ่งระบบไต่สวนจะช่วยเหลือคู่ความในการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ดีกว่า อีกทั้งการให้เขตอำนาจศาลยุติธรรมจะทำให้ขาดองค์กรมาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกฎต่างๆ

และ ภาคประชาชน ยังเสริมอีกว่า มีบทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่สามารถขออนุญาตศาลในพื้นที่การชุมนุมนั้นๆ สั่งยุติการชุมนุมได้ แต่ทว่าเมื่อประชาชนรู้สึกว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบ กลับอุทธรณ์ได้แค่กับเจ้าหน้าที่ และหากกระทบสิทธิใดๆกับประชาชน หรือประชาชนไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ศาลจะย้อนแย้งคำสั่งได้หรือไม่ ดังนั้นควรมีบทบัญญัติให้คำสั่งของเจ้าหน้าที่เป็นคำสั่งทางปกครอง ให้เป็นอำนาจของศาลปกครองปกติ

ประเด็นที่เจ็ด : การกำหนดบทลงโทษ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ เห็นว่า การกำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่สอดคล้องกับการรับรองเสรีภาพในการชุมนุม เพราะความรับผิดทางอาญาของผู้ชุมนุมมีอยู่แล้วในกฎหมายอื่น

ภาคประชาชน เสริมประเด็นนี้สองเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ ไม่ควรมีโทษจำคุกเลย เพราะโทษที่เป็นความผิดทางอาญาก็มีความผิดตามกฎหมายอื่นๆอยู่แล้ว เช่น กฎหมายความสะอาด เป็นต้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเพิ่มโทษเข้าไปอีก หรือถ้าจะมีก็ให้เป็นโทษปรับ และการตั้งโทษจำคุกสูง หรือโทษปรับด้วยเงินจำนวนมากก็อาจจะไปกระทบต่อความต้องการที่จะใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนไปด้วย

ภาคประชาชนยืนยัน ร่างนี้ต้องถอนออกไปก่อน ให้มีส่วนร่วมก่อนแล้วจึงค่อยพิจารณา

ในวงเสวนา ภาคประชาชนและชาวบ้านเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน เพราะยังขาดการมีส่วนร่วของประชาชน ให้ได้ประเมินผลกระทบภายหลังจากการมีกฎหมาย หรือดำเนินการวิจัยผลกระทบให้เป็นชิ้นเป็นอันเสียก่อน และยิ่งกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน และเป็นการผลักดันของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ยิ่งต้องชะลอการพิจารณาออกไป ไม่งั้นจะกระทบต่อสิทธิประชาชนอย่างแน่นอน