วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 02, 2558

เช็ก 4 กลุ่มต้าน คสช. วัดพลังนักศึกษา จุดติด-ไม่ติด ?



ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

01 ก.ค. 2558

วิเคราะห์


คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจบริหารประเทศมาแล้ว 13 เดือน

เป็น 13 เดือนที่ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้นำรัฐประหารและสวมหมวกเป็นนายกรัฐมนตรี บอกเสมอว่า "เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว" 

เพราะทั้งมีปมร้อนด้านปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองเข้ามาให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ตลอดเวลา

หากนับเฉพาะแรงต้านการเมือง ใน-นอกประเทศ แบ่งได้ออกเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มแรกกลุ่มการเมือง แม้การรัฐประหารครั้งนี้ จะไม่มีแรงต้านจากกลุ่มการเมืองมากเท่ากับการรัฐประหาร 2549 ที่มีม็อบสนามหลวงอันเป็นปฐมบทคนเสื้อแดงปักหลักชุมนุมตั้งแต่วันรุ่งขึ้นของการยึดอำนาจ จนถึงบุกหน้าบ้านประธานองคมนตรี

แต่นักการเมือง กลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช.อย่างเผ็ดร้อน แม้กฎอัยการศึกบังคับใช้อยู่

กลุ่มที่สอง แรงกดดันจากพลังนักศึกษา จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มดาวดิน เมื่อ 19 พ.ย. ที่ชู 3 นิ้ว ปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ การชุมนุมลุกลามเริ่มมีเชื้อลุกลาม หลังมีการชุมนุมหน้าหอศิลป์ กทม.ในวันครบรอบการรัฐประหาร 22 พ.ค. ลงเอยด้วยการที่ตำรวจออกหมายเรียกนักศึกษา 14 คน ที่มีทั้งกลุ่มดาวดิน และกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์ และมีการจับกุมนักศึกษาทั้ง 14 คน ตามหมายจับของศาลทหาร เมื่อ 26 มิ.ย. ซึ่งขณะนี้มีผู้สนับสนุนทั้งนักวิชาการปีกแดง และกลุ่มแนวร่วมแดง คอยให้กำลังใจเพิ่มขึ้นทุกขณะ

กลุ่มสาม กลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียในการต่อต้าน คสช.กระจายข่าวลับ ข่าวลวง จนถึงมีการลือว่าจะมีกลุ่มทหารทำปฏิวัติซ้อน ซึ่ง คสช.ระบุว่ามีเครือข่ายเบื้องหลังซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ช่องทางของโลกโซเชียลยังถูกใช้นัดหมายคนที่เห็นต่าง คสช.ไปร่วมให้กำลังใจนักศึกษาทั้ง 14 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ ภายใต้ชื่อว่า "post it for friend"

กลุ่มสี่ แรงกดดันจากนักการเมือง นักวิชาการ ที่ลี้ภัยเคลื่อนไหวต้าน คสช.อยู่ต่างประเทศ คนหนึ่งที่เปิดเผยตัวชัดเจนคือ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภายใต้ใช้ชื่อว่าองค์การเสรีไทย คอยเดินเกมเชื่อมกกับองค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ในต่างประเทศ รวมถึงแรงกดดันจากมหาอำนาจตะวันออกที่พุ่งเป้าโจมตีไทยโดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการค้า-เศรษฐกิจไทย เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ

เป็นกลุ่มที่ฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล จัดส่งข้อมูลใส่แฟ้มด้านความมั่นคง คสช.พิจารณา

แต่ "พ.อ.วินธัย สุวารี" โฆษก คสช. ปฏิเสธว่า คสช.ไม่ได้แยกเป็นกลุ่ม แต่เรียกว่ากลุ่มทั้งหมดนี้ว่าเป็นกลุ่มที่เห็นต่างซึ่งมีอยู่แล้วเป็นปกติ ไม่เป็นปัญหาต่อระบบบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะที่นักวิชาการด้านความมั่นคง "สุรชาติ บำรุงสุข" ซึ่งในอดีตเคยเป็นแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 วิเคราะห์ว่า แรงต้านที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการรัฐประหาร ซึ่งในการรัฐประหาร 2549 แรงต้านไม่มากเท่าปี 2557 เพราะปัจจุบันมีกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เชื่อว่าระบอบเลือกตั้งน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

"กลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดเสรีนิยม เพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นหลักประกันทางการเมืองที่ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ถ้ารัฐบาลคิดว่าพลังของนักศึกษามีผู้อยู่เบื้องหลัง เช่น ที่มีการคิดว่าเหมือน 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และพฤษภา 2535 แสดงว่ารัฐบาลละเลยความความคิดของนักศึกษาหัวเสรีนิยม ถ้ารัฐบาลมองไม่เห็นจุดนี้ก็จะตกอยู่ในสภาวะเหมือนปี 2516 ที่ยังมองว่ามีเบื้องหลังยิ่งทำให้การมองของรัฐบาลมองผิดได้ง่าย"

"หนุ่มสาวมีอุดมคติ มีความเห็นทางการเมือง เคลื่อนไหวไม่จำเป็นต้องมีเบื้องหลัง เพราะมีแรงขับของตนเอง กลุ่มอื่นๆ ก็มีแนวคิดไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่สนับสนุนนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ก็คิดไม่ต่างจากนักศึกษา เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระบอบการเลือกตั้งได้ฝังลึกในการเมืองไทย"

"นอกจากนี้รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 2534 จนถึง 2549 รัฐบาลทหารมักมีอายุไม่ยืนยาว ต่างจากอดีตที่มีอายุยาว ทำให้คนรุ่นใหม่คุ้นเคยกับระบบเลือกตั้งมากกว่าการรัฐประหารที่ถูกมองว่าไม่ใช่อนาคตทางการเมืองไทย ประกอบกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยแล้ง แรงกดดันจากต่างประเทศ ก็จะทำให้คนมีความรู้สึกว่า กระบวนการเลือกตั้ง"

ส่วนสถานการณ์จะบานปลายหรือไม่ "สุรชาติ" ตอบว่า เป็นเรื่องของอนาคต แต่ถ้ายังใช้มาตรการทหาร และตำรวจเข้าจับกุม ก็ไม่สามารถทำให้ปัญหาทุเลาลงได้ ถ้าการจับกุมขยายตัวมากขึ้น อาจเผชิญแรงต้านมากขึ้น

"ในฐานะที่เป็นแกนนำนักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปี 2519 ไม่อยากให้รัฐบาลมองว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษา อยากให้มองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้ารัฐบาลใช้มาตรการแข็งต่อนักศึกษา ก็อาจทำให้รัฐบาลตกเป็นเป้าหมายของประชาคมต่างประเทศในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจจะกระทบต่อการค้าการลงทุน นอกจากนี้ หากรัฐบาลมีนโยบายสร้างความปรองดอง การใช้ไม้แข็งจะยิ่งสร้างความขัดแย้ง ในสังคมเหมือนปี 2519"

"อยากขอให้อดีตผู้นำนักศึกษาที่อยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นใจนักศึกษา ให้คิดถึงวันที่เราเคยถูกกระทำในอดีต"

ooo


รวมกลุ่มคนที่ท่านประยุทธ์ขออย่าออกมาประท้วงตอนนี้ ไม่นับพวกลูกหาบแม้ว

1. ชาวนา : ราคาข้าวตก แล้ง ถูกขอร้องห้ามทำนา

2. ประมงค์ : ตอนนี้หยุดออกเรือประท้วงเพราะเจอ ม.44 บังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนเรือ

3. สวนยาง : ราคายางดิ่งเหว

4. เครือข่ายหมอณรงค์ อดีต ปลัดสาธารณสุข : โดนเด้งฟ้าผ่า

5. นักศึกษาริเบอรัล : ประเด็นสิทธิ ประชาธิปไตย

6. พวกกรีนต้านเหมือง บ่อแก๊ส และเขื่อน : รัฐบาลอนุมัติสร้างเหมือง บ่อแก๊ส และเขื่อน เงียบๆ จำนวนมาก

พวกที่กำลังจะตามมา
- ท่องเที่ยว : ร่อแร่
- SME : เจ๊ง

ก็ต้องขอให้ท่านผู้นำจงเจริญ

Harit Mahaton