วันพุธ, มิถุนายน 17, 2558

กำลังซื้อคนชั้นกลางวูบ ห้างเหงา บ้าน-รถขายไม่ออก เจ้าสัวชี้ศก.ครึ่งปีหลังยังแกว่ง



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ

กำลังซื้อคนชั้นกลางวูบหนัก ห้างเหงา บ้าน-รถ ขายไม่ออก เจ้าสัวสหพัฒน์ชี้ ศก.ครึ่งปีหลังยังแกว่ง

มติชนสุดสัปดาห์ 12-18 มิถุนายน 2558

ใกล้จะผ่านพ้นครึ่งปีแรกเข้ามาทุกขณะ แต่จนถึงวันนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะกระเตื้องขึ้น และยังไม่มีสัญญาณบวกให้ใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง ทั้งๆ รัฐบาลจะออกแรงกระตุ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

โดยเฉพาะกำลังซื้อของคนชั้นกลางและระดับรากหญ้าที่เป็นฐานส่วนใหญ่ของประเทศ

ผลพวงจากภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลกระทบโดยตรงจากการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอตัว โดยเฉพาะกำลังซื้อของชนชั้นกลางและระดับรากหญ้าที่เป็นฐานส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อบวกกับปัญหาเดิม "หนี้ครัวเรือน" ทุกครอบครัวล้วนต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่เป็นกรรมเก่า รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นตัวแปรสำคัญให้กำลังซื้อยิ่งเหือดแห้งลงไป

ส่งผลให้ยอดขายสินค้าทั้งอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า บ้าน คอนโดฯ รถยนต์ ฯลฯ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดซบเซาอย่างหนัก

นับเป็นปีที่หนักและเหนื่อยสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ และต้องออกแรงดิ้นเพื่อฝ่าฟันมรสุมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เป็นปัญหาไปให้ได้

จึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพของกิจกรรมและแคมเปญทางการตลาดที่แต่ละธุรกิจทยอยส่งออกมากระตุ้นการจับจ่ายตั้งแต่ต้นปีทั้งลดแลกแจกแถม สารพัดชิงโชค ลุ้นโชค ที่ยิ่งออกมาเป็นระยะๆ และคาดว่าจะมีดีกรีความเข้มขึ้นมากขึ้น

ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ยอมรับว่า ตอนนี้ในแง่ของกำลังซื้อการจับจ่าย สำหรับตลาดที่เป็นกลุ่มแมสยังซึมอยู่ ซึ่งเป็นการซึมต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา และวันนี้ก็ยังไม่ดีขึ้น

ที่ผ่านมา เดิมเคยฝากความหวังไว้กับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และบน แต่ล่าสุด วันนี้กลุ่มลูกค้าระดับดังกล่าว ก็เริ่มส่งสัญญาณว่ามีปัญหา ลูกค้ากลุ่มนี้เริ่มชะลอการจับจ่าย เพราะยังมีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ สำหรับตลาดบน ที่มีกำลังซื้อ และไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยบรรยากาศทางเศรษฐกิจ การเมือง โดยรวมที่เป็นอยู่ ก็ทำให้มู้ดหรืออารมณ์สะดุดลงไปบ้าง และทำให้การจับจ่ายชะลอลงบ้าง

เช่นเดียวกับค่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า "ถกล นิยมไทย" จากค่ายโตชิบา ไทยแลนด์ ที่กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ยอดขายค่อนข้างฝืด โดยช่วงครึ่งปีแรก ผู้บริโภคระดับกลาง-ล่าง ไม่มีเงินใช้จ่ายมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือน แต่กลุ่มลูกค้าระดับบนกระทบน้อย บริษัทจึงหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภคระดับบนมากขึ้น โฟกัสตลาดนี้ ด้วยสินค้าระดับพรีเมี่ยม และนวัตกรรมมาสร้างสีสัน

ขณะที่กลุ่มทุนท้องถิ่นธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในต่างจังหวัดก็ระบุคล้ายๆ กันว่า ปัจจุบันกำลังซื้อจากกลุ่มชนชั้นกลางยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในต่างจังหวัด ไม่คึกคักเท่าที่ควร ขณะนี้แม้ว่าในส่วนของข้าราชการจะมีการปรับขึ้นเงินเดือน และมีตกเบิกย้อนหลัง 5-6 เดือน

แต่ก็ยังไม่มีผลกับการจับจ่ายใช้สอยมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มีความจำเป็น การจับจ่ายจึงยังไม่คึกคักเท่าที่ควร

สําหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน-คอนโดฯ ก็ต้องเผชิญภาวะกำลังซื้อฝืดเคืองไม่แพ้กัน

"ชัยรัตน์ โกวิทจินดาชัย" ผู้อำนวยการสำนักงานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ให้ข้อมูลว่า บรรยากาศซื้อขายบ้าน-คอนโดฯ 5 เดือนแรกที่ผ่านมายังชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับกลาง-ล่าง ราคายูนิตละ 1-3 ล้านบาท จากการเก็บสถิติพบว่า เดิมทุกๆ ปริมาณลูกค้าที่แวะชมโครงการ 2.5 ครั้ง จะปิดการขายได้ 1 ราย แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 4 ครั้ง จะปิดการขายได้ 1 ราย เท่ากับว่าขายได้ช้าลง

ขณะที่ "ปิยะ ประยงค์" กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจทาวน์เฮ้าส์ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบยอดขายทาวน์เฮ้าส์ช่วงปลายปีที่ผ่านมากับปัจจุบัน พบว่ากำลังซื้อทาวน์เฮ้าส์ระดับล่างราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ชะลอตัวลง และมีปัญหากู้ไม่ผ่านกว่า 10% มาจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานโรงงาน เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็มีผลกระทบรายได้

ส่วนตลาดทาวน์เฮ้าส์ระดับกลาง-ล่าง ในต่างจังหวัดหลายๆ จังหวัดก็ชะลอตัว

ไม่เพียงแต่บ้านเท่านั้น ค่ายรถยนต์ต่างก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน

"วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมยอดขายรถยนต์ 4 เดือนแรกปีนี้ ทำได้ 251,845 คัน ลดลง 15.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยตลาดรถยนต์นั่งอัตราการเติบโตลดลง 15.7% กระบะ 1 ตัน และรถพีพีวีลดลง 20.6% จากปัญหาเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทำให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่างระมัดระวังทั้งการลงทุนและการใช้จ่าย

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์มีตัวเลข 54,058 คัน ลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเป็นการลดลงเมื่อเทียบกับยอดขายช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ทำได้ 83,983 คัน

จากข้อมูลของโตโยต้า ยังระบุด้วยว่า กลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กและรถยนต์นั่งขนาดกลางลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลจากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และสถาบันทางการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มรถหรูหรือรถระดับราคา 2-5 ล้านบาท ยังคงเติบโต

และแม้กระทั่ง "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ประธานเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ยังยอมรับว่า "ปัจจุบันกำลังซื้อของประชาชนลดลง แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ"

พร้อมทั้งแนะว่า "รัฐบาลจะต้องมีอย่างมาตรการอื่นๆ มาเสริม เช่น การเปลี่ยนเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีปริมาณมาก จากสกุลเงินต่างประเทศให้มาอยู่ในรูปเงินบาท เพื่อทำให้เงินไหลมาถึงมือประชาชนให้มากที่สุด และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นการส่งออก ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้"

เสี่ยบุณยสิทธิ์ ยังเปรียบเปรยว่า "...ตอนนี้เหมือนเอารถดีๆ ไปขับบนถนนที่มีฝุ่น ยังไม่ได้ขึ้นไฮเวย์"

เพราะวันนี้ธุรกิจอยู่ท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในประเทศเองก็ดี ทั้งการเติบโตของจีดีพี การส่งออก กำลังซื้อระดับกลาง-ล่าง ที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งเศรษฐกิจต่างประเทศที่ย่ำแย่ ทั้งอเมริกา ยุโรป รวมไปถึงจีน

สําหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง แม่ทัพใหญ่เครือสหพัฒน์ มองว่า ยังไม่มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ดีกว่าครึ่งปีแรกอย่างเด่นชัด และเชื่อว่าเศรษฐกิจยังคงซึมยาว หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าก็จะทำให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ ฯลฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว

นอกจากนี้ "บุณยสิทธิ์" ก็เห็นด้วยที่จะให้รัฐบาล บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อเพื่อปฏิรูปประเทศอีก 2 ปี เนื่องจากเห็นว่ามีความจริงใจในการทำงาน ขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น และต้องการให้แก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างและจัดระเบียบประเทศให้เรียบร้อยก่อน

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือ การกระตุ้นให้ธุรกิจไม่ซึมไปตามสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น

นับเป็นปีที่เหนื่อยของเอกชนอีกปี เพราะแม้บริษัทใหญ่ที่มีสายป่านยาวยังออกมาส่งสัญญาณเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม หลายๆ ฝ่ายต่างยังคงวาดหวังว่า สถานการณ์ที่ซบเซา ทำมาค้าขายฝืดเคืองจะคลี่คลายลงไปบ้าง และน่าจะกลับมาฟื้นได้ครึ่งหลังของปี 2558 นี้