วันเสาร์, มิถุนายน 13, 2558

เฝ้าระวังบัลลังก์ราชย์ :เรื่องเมืองอิเหนา ๒๐๑๕ (ทูเตาซั่นฟิฟทีน)


มิติการเมืองในย็อกยากาต้า นักศึกษาเรียกร้องประชามติ ต้นกรกฎาคม ๒๐๐๗

(ถอดความ โดย ยะแดหวา จากเรื่อง Watch the Throne : The Battle Over Indonesia”s First Female Sultan. โดย จอน อีม้อนต์ นิตยสาร Foreign Affairs https://www.foreignaffairs.com/articles/indonesia/2015-06-09/watch-throne?cid=nlc-twofa-20150611&sp_mid=48858218&sp_rid=Y2hhZHNyaTk0QGdtYWlsLmNvbQS2)

เมื่อสุลต่านฮาเบ็งกูบูโวโน ที่สิบ ผู้ปกครองย็อกยากาต้าของอินโดนีเซียประกาศเปิดทางให้ธิดาองค์โต กุสตี กันเจ็ง ระตู เพ็มบาเย็น ได้ขึ้นครองบัลลังก์แทนพระองค์ กฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์อายุ ๔๐๐ ปี แห่งราชอาณาจักรหนึ่งเดียวที่ยังทรงอิทธิพลในประเทศ ได้ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เป็นเวลานับร้อยๆ ปี กษัตริย์แห่งมาตารัมปกครองแคว้นชวาตอนกลาง เกาะหลักของอินโดนีเซีย ด้วยกฏบัตรพระชนกที่ส่งต่อจากพ่อไปสู่ลูกชาย แต่นี่เป็นปัญหาสำหรับฮาเบ็งกูบูโวโน ๑๐ ซึ่งมีแต่ธิดา ๕ องค์ ปราศจากโอรส

เพื่อแก้ไขปัญหาพระองค์ได้ทำให้พระราชทินนามเป็นกลางไม่สังกัดเพศใด เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พระองค์ทรงยกเลิกพระนาม คาลิฟา (ผู้ดูแลของพระเจ้า) ที่ตีความตามกฏหมายมุสลิมท้องถิ่นว่าเป็นราชทินนามพระราชทานให้ได้เฉพาะเพศชาย อีก ๕ วันต่อมาทรงเปลี่ยนนามของบุตรี จากเพ็มบาเย็นไปเป็น แม็งกูภูมีอันเป็นชื่อที่แต่โบราณกาลมาใช้สำหรับองค์รัชทายาท แล้วทรงให้พระธิดาประทับบนที่นั่งที่ในทางราชประเพณีมีไว้สำหรับองค์มกุฏราชกุมารเท่านั้น กล่าวได้ว่าฮาเบ็งกูวูโวโน ๑๐ ทรงเปลี่ยนกฏมณเฑียรบาลภายในสองสามวันให้เพศหญิงสามารถเป็นสัญญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมมุสลิมได้เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีทั้งนัยยะอันสำคัญและนำไปสู่ความยุ่งยากด้วยเช่นกัน 

สุลต่านแห่งย็อกยากาต้ามีอำนาจมากที่สุดของอินโดนีเซีย เป็นราชอาณาจักรที่อยู่รอดตลอดมาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่รายล้อมอยู่ทั่วทั้งอินโดนีเซีย ในทศวรรษ ๑๙๕๐ ฮาเบ็งกูวูโวโน ที่เก้า พระราชบิดาของสุลต่านองค์ปัจจุบัน ให้การสนับสนุนต่อขบวนการรีพับลิกันต่อต้านการปกครองของดัทช์ จึงได้รับการตอบแทนโดยให้ย้อกยากาต้ามีสถานะเป็น แดราห์ อิสติเมวา (เขตปกครองพิเศษ) อยู่ภายในอินโดนีเซีย สถานะพิเศษนี้ยอมให้มีสถาบันกษัตริย์ต่อไปได้โดยสุลต่านทำหน้าที่ผู้ปกครองรัฐ 

ขณะนี้ฮาเบ็งกูวูโวโน ๑๐ พระชนมายุ ๖๙ ชันษา ถ้าหากว่าพระประสงค์ของพระองค์บรรลุผล แม็งกูภูมี ราชธิดาองค์โตก็จะได้เป็นมหารานี ผู้ปกครองหญิงคนแรกของอาณาจักรที่สมบูรณ์ทางวัฒนธรรมและทรงอิทธิพลเหนือหลายจังหวัด นอกเหนือจากนั้นพระนางยังจะได้เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญานของชาวมุสลิมชวาหลายสิบล้านคน

ยังไม่มีอะไรยืนยันได้ว่ามันจะเป็นไปตามแผนการณ์ ด้วยแรงกดดันจากภายในพระบรมวงศานุวงศ์ สุลต่านแห่งย็อกยากาต้ายังมิได้สถาปนาราชบุตรีขึ้นเป็นรัชทายาทอย่างทางการ พระองค์ทรงมีลูกพี่ลูกน้องอยู่หลายองค์ที่ต่างพากันรวมหัวกับกลุ่มมุสลิมอนุรักษ์ทำการคัดค้านมิให้ทรงตั้งราชธิดาขึ้นเป็นมหารานี ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ สับดาราชา อันเป็นที่รู้กันว่าคือพระบัญชาของสุลต่าน ก่อให้เกิดรอยปริแยกขึ้นในเมืองมหาวิทยาลัยที่เคยสงบเงียบ นำไปสู่ความพยายามเสาะหาข้อยุติกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับอนาคตที่ก้าวไปอย่างรวดเร็วของราชธานีย็อกยากาต้า

ชาวย็อกยากาต้าเดินผ่ารูปของสุลต่าน หลังการชุมนุมเมื่อปลายตุลาคม ๒๐๐๘
กรณีศึกษาที่ย้อนแย้ง

มีนักกิจกรรมหัวก้าวหน้าในย็อกยากาต้าไม่กี่คนที่สนับสนุนความต้องการของสุลต่าน โดยมองว่านี่เป็นแผนการณ์ที่ประกาศออกมาอย่างเปิดเผยเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งอำนาจกำกับควบคุมราชสำนักให้อยู่กับครอบครัวของพระองค์ มากเสียกว่าเป็นการตั้งอิตถีเพศขึ้นมาเป็นหัวแถวทีมสุลต่าน 

ย้อกยากาต้ามักจะเผชิญกับความขัดแย้งแตกต่าง ที่นี่เป็นหัวหาดฝ่ายก้าวหน้าทางการศึกษาระดับสูง เช่นเดียวกับเป็นฐานแห่งจิตวิญญานล้ำลึกทางด้านประเพณีแห่งพระบิดรชวา ฮาเบ็งกูวูโวโน ๑๐ สามารถรักษาสมดุลระหว่างสองวัฒนธรรมในนคราแห่งนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น สุลต่านทรงมีดำรัสต่อบัณฑิตมหาวิทยาลัยกัดจาห์ มาดา อันเป็นสถานอุดมศึกษาชั้นนำของอินโดนีเซีย ให้น้อมรับเอาเทคโนโลยี่ยุคใหม่และวัฒนธรรมทันสมัยเข้าไว้ พร้อมกันนั้นพระองค์ทรงนำสาธุชนมุสลิมสวดภาวนาทุกวันศุกร์ และเข้าร่วมในพิธีศักดิ์สิทธิ์ อาทิ อุปาคาลา ลาบูฮัน งานนักขัตรฤกษ์ประจำปีเฉลิมฉลองการลงหอร่วมร่วมรักของสุลต่านกับเทพธิดาแห่งทะเลใต้

ทั้งที่สุลต่านทรงกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ด้วยระเบียบแผนใหม่ แต่ก็ทรงประกอบพิธีกรรมด้วยอัตตลักษณ์ทางภาษาและพิธีกรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมมุสลิมโบราณ ทรงยกฐานะราชธิดาให้สูงขึ้นด้วยบัญชาของพระอัลเลาะห์ที่ประทานต่อพระองค์ผ่านทางราชวงศ์ดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น 

แทนที่จะมีพระราชโองการจัดตั้งราชธิดาขึ้นเป็นรัชทายาทโดยตรง กลับทรงกำหนดการสืบราชสมบัติโดยสัญญลักษณ์ ผ่านทาง ธาวูห์ ราชา (พระบรมราชโองการ) ที่แก้ไขนามของราชธิดาให้คล้ายกับพระนามรัชทายาทองค์ก่อน แล้วโปรดเกล้าให้ราชธิดาประทับบนพระแท่นศักดิ์สิทธิ์ วาตู กิลัง ที่สงวนไว้เป็นพิเศษสำหรับองค์รัชทายาท

พระบรมราชโองการของสุลต่านถูกต่อต้านอย่างหนักแน่นจากบางส่วนของย็อกยากาต้า 

เคามันเป็นท้องที่ในใจกลางย็อกยากาต้าที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้ เป็นแหล่งเกิดของขบวนการมูฮัมมัดดิยาห์ พวกอิสลามอินโดนีเซียยุคใหม่ที่นบนอบต่อผู้คงแก่เรียนมุสลิมในสายการบังคับบัญชาของศาสนจักรมากกว่าสุลต่าน มุสลิมยุคใหม่จะไม่ยอมรับความเชื่อลี้ลับในคำสอนชวาโบราณที่บอกว่า พระอัลเลาะห์ทรงสื่อสารถึงมวลมนุษย์ผ่านทางตัวกลาง ที่ยังมีกระจัดกระจายทั่วทั้งชวา 

เคยมีการชุมนุมในเคามันประท้วงพระบรมราชโองการของสุลต่าน ผู้ร่วมประท้วงจำนวนมากยกป้าย ติดประกาศกว่าสองร้อยแผ่นไปทั่วเมืองเรียกร้องให้สุลต่านนำกฏมณเฑียรบาลดั้งเดิมมาใช้ เมื่อไม่นานมานี้ อะบุรดา ฟารุค อิมามอาวุโสของสุเหล่าเกเดห์เคามัน ออกมาแสดงการคัดค้านสุลต่านอย่างโจ่งแจ้ง 

พิธีนักขัตรฤกษ์กูนังกัน บูชาศาสดาโมฮัมเม็ด เมื่อต้นมีนาคม ๒๐๐๙
“มันเป็นปัญหาทางค่านิยม ปัญหาของประเพณี ปัญหาเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ และปัญหาทางศาสนา ถ้าหากประมุของค์ต่อไปเป็นสตรีเพศ สายใยเชื่อมโยงอันสำคัญระหว่างราชวังกับชุมชนมุสลิมจะขาดลอย ในเมื่อพระธิดาไม่อาจที่จะนำการสวดภาวนาในวันศุกร์ได้ นั่นเป็นความรับผิดชอบที่สุลต่านจะต้องทรงยึดมั่นตลอดรัชสมัย"

ขณะเดียวกัน นักกิจกรรมก้าวหน้าส่วนน้อยจำนวนหนึ่งยอมรับโองการของสุลต่าน พวกนี้บอกว่าท่านทำอย่างเปิดเผยในอันที่จะรักษาอำนาจควบคุมราชสำนักไว้กับครอบครัวของพระองค์ ไม่ใช่แค่ส่งเสริมเพศหญิงมาเป็นผู้นำสุลต่านโดยตรง 

'มิตา' เป็นศิลปินคร่ำเคร่งอาศัยในท้องนาที่ตั้ง สหกรณ์เข็มและเขี้ยว หญิงกร้าวอะนาชาห่างจากเคามันออกไป ๑๕ นาฑี สนทนาเรื่องที่ว่าผู้หญิงจะเป็นประมุขย็อกยากาต้าได้ไหม พร้อมไปกับจิบน้ำชาจากถ้วยที่มีข้อความเขียนว่า ราชินีแม่งทุกสิ่งเธอไม่เห็นว่าการตั้งลูกสาวให้เป็นรัชทายาทจะสลักสำคัญอะไร “มันแค่ชั้นเชิงในการเสริมภาพพจน์และชื่อเสียงของสุลต่านเท่านั้นเอง” 

'คุส' สมาชิกสหกรณ์อีกคนหนึ่งแสดงความเห็นด้วย “นี่มันเป็นเพียงการเมืองภายในราชวงศ์” เขาว่า ทรัพย์สินของราชสำนักมีอยู่มหาศาล รวมทั้ง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของที่ดินในย็อกยากาต้า ตามการประเมินของเอกชน คุสบอกว่าข้อโต้แย้งเรื่องใครควรสืบสันตติวงศ์อยู่ที่พี่น้องครอบครัวไหนจะได้ครองทรัพย์สินเหล่านั้นต่างหาก “ไอ้การพูดถึงสิทธิสตรีในเครือข่ายสุลต่านก็เหมือนพูดกันเรื่องสิทธิของสาราสัตว์ขณะกินสะเต๊ะนั่นแหละ”

ความเคารพศรัทธาต่อองค์สุลต่านยังพอมีในหมู่คนในท้องที่ แม้ว่าจะไม่เป็นที่รับรู้ของแวดวงชนชั้นนำนัก

สมาชิกสหกรณ์บอกว่าพวกเขาไม่ยี่หระเท่าไรหรอกว่าหญิงหรือชายจะมาเป็นสุลต่านองค์ต่อไป และต้องการให้แยกบทบาทระหว่างสุลต่านกับผู้ปกครองออกจากกัน ตำแหน่งสุลต่านจะได้เป็นเพียงสัญญลักษณ์เท่านั้น แทนที่พวกนี้จะสนใจว่าใครจะมาเป็นสุลต่านองค์ต่อไป พวกเขากลับแสดงความห่วงใยมากเรื่องชาวนาถูกไล่ที่ออกจากทรัพย์สินของสุลต่านเพราะมีโครงการขยายสนามบินตรงบริเวณนั้น ความเห็นของพวกเขาเหล่านี้มิใช่จะโดดเดี่ยวก็หาไม่ “มันเป็นการแข่งขันกันของอำนาจในย็อกยากาต้า...เห็นได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในสังคมศักดินาเช่นนี้” นักกิจกรรมคนหนึ่งเขียนส่งมาทางเอสเอ็มเอส

ศรัทธาแรงกล้าฝังแน่นในองค์สุลต่านยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในหมู่คนท้องที่ แม้ว่าจะไม่เป็นที่รับรู้ของหมู่ชนชั้นนำก็ตาม  

ในระบอบกษัตริย์ที่ซึ่งพระราชประสงค์ของพระองค์มักเป็นที่น้อมรับเสมอไป การอมพะนำไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ดังที่ชาวย็อกยากาต้าจำนวนมากทำกันอยู่นั้น เป็นแบบฉบับแท้จริงในการแสดงความจงรักภักดีและให้การสนับสนุนราชวงศ์  

นี่เป็นความจริงแม้แต่ในพระราชโองการกำหนดองค์รัชทายาทด้วยวิธีนอกลู่นอกทางก็ตาม ฮาราตุลมา รัฟ สัตยาเลกะวา นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ในพื้นที่คนหนึ่งบอกว่า ความเห็นของเขาในเรื่องการเปลี่ยนผ่านมีง่ายๆ “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าอยู่หัวของผม แค่นั้นพอแล้ว แน่นอนผมเห็นด้วยกับการตัดสินพระทัยของพระองค์”

อทิตยา นันทิวัฒนา นักศึกษาและเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอที่อ้างตนเป็นนักอิสรภาพนิยมและอนาร์คิสต์ (ขัดขืนอำนาจรัฐ) เห็นแย้งอย่างแรง “ภูตผีศักดินายังคงสิงอยู่ในย็อกยากาต้า” เขายันว่าข้อถกเถียงมันเกี่ยวกับเรื่องว่าครอบครัวไหนที่ประชันขันแข่งกันอยู่นี่ ใครจะได้สวาปามสินทรัพย์ศฤงคารกันแน่ “บทบาทดราม่าทั้งหมดเนี่ยเหมือนเกมชิงบัลลังก์เด๊ะเลย” (Game of Thrones ซีรีย์ฮิตช่องเอชบีโอ)

การสนทนาโต้แย้งในย็อกยากาต้านี่น่ะ แม้กระทั่งในหมู่นักศึกษาวัยเดียวกัน ทำให้รู้สึกเหมือนดั่งว่าความคิดอ่านต่างยุคสมัยหลายศตวรรษผิดแผกไป มาเกิดขึ้นพร้อมๆ ในเวลาเดียวกัน มันประกอบด้วยคำถามมากมาย ไม่ว่าต่อการเป็นไปได้ไหมที่ผู้หญิงจะมาเป็นประมุขทางจิตวิญญานและทางการเมืองอันโดดเด่นของชวา ไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ของอินโดนีเซียยุคใหม่ ที่ซึ่งสถาบันสุลต่านได้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคคลิกภาพนครรัฐแห่งนี้อย่างรวดเร็ว

อิสติเมวา (แปลตรงตามอักษรได้ว่า พิเศษ หรือ เอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร) เคยเป็นคำที่ใช้อธิบายท้องที่ย็อกยากาต้า กับราชาธิบดีผู้ที่มักจะกลายเป็นผู้ปกครองของนครรัฐแห่งนี้ แต่สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ อิสติเมวามีความหมายลึกล้ำกว่านั้น สโลแกนที่ว่า เททับ จ็อกจา อิสติเมวา (รักษาความเป็นเอกลักษณ์ของย็อกยากาต้าเอาไว้) ถูกนำไปใช้โดยหลายฝ่ายในข้อถกเถียงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์นี้ 

พวกมุสลิมอนุรักษ์นิยมเอาไปใช้ทำแผ่นป้ายเรียกร้องให้คืนกลับสู่กฏมณเฑียรบาลดั้งเดิมติดไว้เกลื่อนนคร มันยังใช้เป็นสโลแกนของพวกประเพณีนิยมย็อกยากาต้าที่มีความเห็นตรงข้ามว่า ไม่ควรโต้แย้งพระราชวินิจฉัยของสุลต่าน แล้วยังเป็นข้ออ้างเรียกร้องของพวกที่ไม่เชื่อว่าองค์สุลต่านทรงอิทธิพลเพียงพอดำรงอิสติเมวาไว้กับย็อกยากาต้าได้นานอีกสักกี่น้ำ

ในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ มูลนิธิฮิปฮ็อปจ็อกจา (เจเอชเอฟ) เขียนบทเพลงประจำชาติเร้าใจ จ็อกจา อิสติเมวา กระตุ้นให้ย็อกยากาต้ากลับไปสู่สิ่งที่ทำให้ไม่เหมือนใครในแต่แรกเริ่มเลย บรรเลงด้วยเครื่องเล่นเกมและเครื่องดนตรีตามประเพณี เพลงนี้วิงวอนให้นครกลับไปหารากฐานเดิมอันเรียบง่าย ไม่มีโรงแรม มอลส์ และการจราจรวุ่นวายที่ทำให้รถติดไปทั่วเวลานี้ เพลงของเจเอชเอฟกล่าวถึงความกังวลต่อวัฒนธรรมของนครที่กลายเป็นมูลภัณฑ์ทางการค้าไปแล้ว ย็อกยากาต้ากลายเป็นเหมือนบาหลี เกาะสำหรับนักท่องเที่ยวห่างไปทางตะวันออกร้อยกว่าไมล์
จ็อกจา อิสติเมวา แร้ปเปอร์อินโดนีเซีย

มาร์ซูกิ โมฮัมเม็ด ผู้ก่อตั้งวงเจเอชเอฟ และผู้เขียนบทเพลง จ็อกจา อิสติเมวาได้เขียนบทความบนบล็อกเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ชื่อ เกเกแรน อิสติเมวา (ยุ่งเหยิงอย่างพิเศษ) ความว่า เพศของสุลต่านองค์ต่อไปจะเป็นอะไรไม่สำคัญ เหตุเพราะว่าไม่มีกษัตริย์องค์ไหนชายหรือหญิงดูเหมือนจะไม่มีใครสามารถปกป้องและฟูมฟักพสกนิกรของพระองค์ได้ โมฮัมเม็ดลงท้ายข้อเขียนของเขาด้วยเนื้อความการสนทนากับสุลต่านก่อนที่เรื่องรัชทายาทจะเกิดอื้ออึงขึ้นมา

ณ จุดหนึ่ง ฮาเบ็งกูวูโวโน ๑๐ พยายามที่จะอธิบายปรัชญาของชวาเกี่ยวกับตัวเลขให้ข้าพเจ้าฟัง ว่าเลขลำดับสูงสุดของการสืบราชสันตติวงศ์ชวานั้นอยู่ที่หมายเลข ๙ ดังนั้นหมายเลข ๑๐ จึงเหมือนกับศูนย์ เช่นนี้การเป็นสุลต่านรัชกาลที่ ๑๐ จำเป็นต้องเริ่มทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมด วางรากฐานใหม่ๆ ให้กับย็อกยากาต้า แต่ใครเล่าจะรู้ ตอนนั้นมันผุดขึ้นมาในหัวของเราว่า ศูนย์ก็หมายถึง ว่างเปล่า หรือ จบแล้ว ด้วยเช่นกัน ในจินตนาการของเรา เรามองเห็นพระราชวังล้มเลิกลงไป ลูก ๕ คน ลูกสาวทั้งหมด เป็นสัญญานจากดินฟ้า

นั่งอยู่ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในร่มแห่งภูเขาเมราปิ ภูเขาไฟที่ยังระอุที่สุดลูกหนึ่งของอินโดนีเซียซึ่งตั้งอยู่บนเขตแดนด้านเหนือของย็อกยากาต้า วาห์ยุ สะซองโก นักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคนหนึ่งชี้ให้ดูเกสต์เฮ้าส์กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในชนบท “สภาพแวดล้อมของท้องที่กำลังถูกทำลาย” เขาบ่น เงินทุนที่ใช้ในการพัฒนาไหลเข้ามาจากภายนอกย็อกยากาต้า “เรากลายเป็นคนดู การพัฒนาในบ้านของเราเอง” 

สะซองโกเคยคิดว่าย็อกยากาต้ายังมีเอกลักษณ์ของตนเองอยู่ ที่เรียกว่า ‘ประเทศภายในประเทศแต่เขาไม่อาจที่จะสลัดความรู้สึกอย่างหนึ่งไปได้ โดยไม่คำนึงว่าใครจะมาปกครองย็อกยากาต้าเป็นคนต่อไป ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ของเขาได้ถูกกลืนไปเสียแล้ว