วันจันทร์, มิถุนายน 08, 2558

5 ปี, ไม่ใช่ 2 ปี "สงสารลูกหลาน" ลูกหลานจงจำไว้

Thailand 2015-2020 : Stability, Prosperity, Sustainability

https://www.youtube.com/watch?v=DZCOacufMLw

Credit
สุชาติ สวัสดิ์ศรี




..

ประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 2558-2563


https://www.youtube.com/watch?v=zpPJd9MHXaQ

ooo

แม่ค้าน้ำตานองหน้า!! เหลือเงินติดตัว 20 บาท โจรลักเส้นก๋วยเตี๋ยว-แก๊งเงินกู้ป่วนหนัก (คลิป)


ที่มา ข่าวสดออนไลน์
วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวน้ำตานองหน้าวิ่งโร่แจ้งตำรวจร้องผู้สื่อข่าว ถูกแก๊งเงินกู้นอกระบบส่งคนข่มขู่ขโมยเส้นก๋วยเตี๋ยว คาดเหตุขาดส่งเงิน 2 วัน ก่อนหน้านั้น 1 เดือน ส่งคนมายึดตู้เย็น ตู้แช่ ต่างๆไป จนต้องไปยืมเงินเพื่อนๆ มาขายก๋วยเตี๋ยวต่อ เพื่อส่งเงินรายวัน เนื่องจากกลัวอิทธิพล ช่วงนี้ขายของไม่ดีไม่มีเงินให้กลุ่มเงินกู้ส่งคนมาลักเส้นก๋วยเตี๋ยว เพื่อข่มขู่ จนตนเองไม่มีเงินลงทุนแล้ว วอนเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ ซึ่งจ.อุทัยธานี แก๊งเงินกู้นอกระบบ และแก๊งหวยเถื่อนออนไลน์รายวันเต็มพื้นที่

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 7 มิ.ย. ด.ต.เยี่ยม ไม้สนธิ์ เจ้าหน้าที่สายตรวจจุดตรวจบ้านประดาหัก ต.กวางทอง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ได้รับแจ้งจากนางบุญทัน สายตรง อายุ 60 ปี อยู่หมู่ 1 ต.เขากวางทอง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ว่าตนเองได้เก็บของจำพวกเส้นก๋วยเตี๋ยว วัตถุดิบปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยว ใส่กะละมังใบใหญ่ไว้ภายในบ้าน ที่อยู่หลังร้านขายก๋วยเตี๋ยว ก่อนออกจากร้าน ก็ได้ปิดประตูบ้านไว้อย่างดี พอรุ่งเช้า ตนมาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวตามปกติ เมื่อเปิดประตูบ้าน เพื่อจะนำสิ่งของต่างๆ มาตั้งร้าน แต่ไม่พบกาละมังใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวและเครื่องปรุงหายไปทั้งหมด จึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบดังกล่าว

หลังจากได้รับแจ้ง เจ้าหน้าที่จึงไปตรวจสอบ ซึ่งร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นเพิงมุงด้วยแฝกเก่าๆ ด้านหลังร้านมีบ้านเพิงไม้เก่าอยู่หนึ่งหลัง ซึ่งอยู่ติดกับถนนสายหนองฉาง–ลานสัก

จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุภายในร้านก๋วยเตี๋ยว พบตู้กระจกใส่เส้นก๋วยเตี๋ยว ถ้วยชาม ภายในบ้านพบเพียงหม้อต้มน้ำก๋วยเตี๋ยว 2 ใบวางอยู่ ส่วนกะละมังใส่เส้นก๋วยเตี๋ยว และเครื่องปรุงต่างๆ หายไปหมด

จากการสอบสวนเบื้องต้นจากนางบุญทัน สายตรง เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าว่า สาเหตุของหายในครั้งนี้ ตนมั่นใจว่าเป็นฝีมือพวกเก็บเงินกู้นอกระบบแน่นอน เนื่องจากตนกู้เงินนอกระบบ ดอกร้อยละ 20 เพื่อมาส่งลูกเรียน และสามีตนก็ไม่ค่อยสบาย โดยตนจะขายก๋วยเตี๋ยวส่งรายวัน ก่อนหน้านั้นจะส่งวันละ 1,400 บาท ก็ส่งมาตลอด แต่ปัจจุบัน เหลือ วันละ 400 บาท โดยจะทนขายก๋วยเตี๋ยวส่งให้กับพวกเก็บเงินกู้ตลอด ซึ่งจะมาเก็บทุกวัน ช่วงหลังมา ตนขายของไม่ดี จะขาดส่งเงินกู้ ก่อนหน้านั้นประมาณ 1 เดือนเศษ พวกเก็บเงินกู้ ได้มายึดตู้เย็น ตู้แช่ และถังแก๊ส ไป 2 ใบ ซึ่งตนเองก็ส่งตลอดจนเหลือแค่ 5 พัน ก็มายึดของไป ตนกลัวกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากมีอิทธิพลในพื้นที่สูง กลัวจะมาทำร้ายตนเอง

นางบุญทัน กล่าวต่อว่า ตนได้ไปยืมเงินเพื่อนๆ มาลงทุนขายก๋วยเตี๋ยวต่อ เพื่อจะนำเงินส่งให้กลุ่มเงินกู้นอกระบบพวกนี้ เนื่องจากกลัวมาทำร้าย แต่ 2 วันนี้ ตนขายของไม่ดี ไม่มีเงินส่งให้กับพวกเงินกู้ แค่ 2 วัน เท่านั้น กลุ่มเงินกู้ก็ส่งคนมาก่อกวนตนเอง

นางบุญทัน กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าอีกว่า ตอนนี้ชีวิตของตนมันสุดๆ แล้ว พยายามดิ้นรนให้ทุกอย่างก็ยังมาทำกัน ตอนนี้ก็เหลือเงินติดตัวแค่ 20 บาท ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงวอนให้เจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบด้วย

หลังจากนั้นนางบุญทัน ได้นำเอกสารเป็นใบกู้เงิน ของพวกเงินกู้นอกระบบ ดอกร้อยละยี่สิบจำนวนหลายเจ้า และสมุดที่นางบุญทันส่งเงินรายวันแต่ละเจ้ามาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้สื่อข่าวดู ด้วยน้ำตานองหน้าดังกล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มที่ลงมือก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มเงินกู้


ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 02 มิถุนายน 2558

คงไม่มีใครอยากเห็นภาพ “ยายเฒ่า” นั่งร้องไห้มองดูเจ้าหน้าที่ตัดฟันต้นยางพารา ซึ่งปลูกมากับมือ เพราะภาพนั้นมันไม่ได้สร้างผลงาน “เชิงบวก” ให้กับภาครัฐอย่างแน่นอน

ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ร่วมผูกแขนเอิ้นขวัญให้นางจันทรา บังทอง วัย 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมด้วยกำลังทหารบุกเข้าตัดฟันต้นยางพาราไปกว่า 2,000 ต้น

ยายจันทรามีสิ่งเดียวที่เป็นความหวังของครอบครัว ก็คือสวนยางแปลงนี้ แต่ก็มาถูกตัดทิ้งไปแบบไม่ทันตั้งตัว “ขอบใจลูกๆหลานๆ ที่ยังเป็นห่วงและมาปลอบขวัญให้กำลังใจ แม้จะมีความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด และสะเทือนใจที่มาถูกทหารและป่าไม้ตัดฟันต้นยางทิ้งไปอย่างไร้ความปราณี” ยายจันทราพูดปนสะอื้นไห้

อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 มิ.ย.2558 คือวันดีเดย์ในภารกิจ “ทวงคืนผืนป่า” ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่พุ่งเป้า “สวนยางพารา” ที่รุกป่าเป็นอันดับแรก โดยตั้งเป้ายึดคืน 6 แสนไร่ ในปี 2558 และอีก 9 แสนไร่ ในปี 2559

ภารกิจทวงคืนผืนป่านั้น เริ่มตั้งแต่มีการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ว่าด้วยเรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน

พูดง่ายๆ นี่คือแผนแม่บทป่าไม้ในการทวงคืนผืนป่า โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ประสานกับกองทัพภาค เริ่มยึดพื้นที่ที่ถูกบุกรุกคืนมาได้บางส่วน แต่ปัญหาที่พบในการลงพื้นที่คือ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เป็น “คนยากจน” ซึ่งทำให้เกิดเงื่อนไขขึ้นมาว่า ถ้าเอาเขาออกมาแล้ว จะเอาเขาไปไว้ที่ไหน

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายของ “โครงการนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ” (คตช.) คือ หาที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกิน

พล.อ.ดาว์พงษ์ ชี้แจงว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ คือ การเจอกับ “ผู้มีอิทธิพล” ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าทำงาน และเขาก็เข้ามาแก้ปัญหานี้ทันที

“สิ่งที่เจอในพื้นที่เขาจะเจออิทธิพลในท้องถิ่น และอิทธิพลในทุกระดับ ถึงขนาดระดับชาติลงมา เขาก็เซฟตัวเองดีกว่า หรี่ตาหลับตาดีกว่า มันถึงเกิดปัญหาหมักหมม พอมาถึงรัฐบาลปัจจุบันเราก็ต้องทำให้เจ้าหน้าที่เขามั่นใจในนโยบายของเรา”

การเข้ามาเป็นขวัญและกำลังใจให้ลูกน้องอย่างเต็มที่ ทำให้ผ่าน 7 เดือนไป สามารถยึดพื้นที่คืนได้กว่า 5 หมื่นไร่ ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ มองว่ายังไม่พอต่อการพลิกฟื้นผืนป่าทั่วไทย

บังเอิญว่าเป็นช่วงที่มีปัญหา “ยางราคาตก” และมีคนวิเคราะห์ว่า การบุกรุกป่าทำสวนยางพารากว่า 4 ล้านไร่ ทำให้ยางพาราล้นตลาด พล.อ.ดาว์พงษ์ จึงถือโอกาสจัดการปัญหาสวนยางเป็นวาระพิเศษ

“นายกฯ เลยให้เอาเรื่องจัดการการบุกรุกป่าไม้ และสวนยาง เป็นความเร่งด่วนแรกก่อน และก็จัดการนายทุนซะก่อน ซึ่งมีนายทุนตัวจริงกับที่เอาชาวบ้านเป็นนอมินี เรารู้หมด” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว

ในปี 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าจะยึดพื้นที่คืน 6 แสนไร่ พร้อมทั้งขอกำลังจาก“กองทัพ” จากทุกกองทัพภาค เพื่อนำมาช่วยเจ้าหน้าหน้าที่ป่าไม้ โดยจะปูพรมทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป

ส่วนภารกิจการแก้ปัญหา “ที่ดินทำกิน” รัฐบาลมีพื้นที่เป้าหมายอยู่ 6 พื้นที่ 5 หมื่นกว่าไร่ โดยที่นำร่องไปแล้วก็คือ ที่ ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และจะเปิดเฟส 2 อีก 5 หมื่นไร่ใน 8 พื้นที่ ซึ่งเรื่องที่ดินนั้น เดิมอย่างที่แม่ทาชาวบ้านจะได้รับเป็น “โฉนดชุมชน” ซึ่งจะเป็นสิทธิรายบุคคล แต่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายให้เป็นที่ดินรวม เขาก็ยอมรับได้

เหรียญมีสองด้านฉันใด นโยบายทวงคืนผืนป่าย่อมสองด้านฉันนั้น การดำเนินงานในภาคปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ระดับล่างนั้นได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ “เกษตรกรรายย่อย” ด้วย มิได้แต่การกำจัดอิทธิพลของนายทุนที่บุกรุกป่าเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ตัวแทนภาคประชาชน จึงเข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ อำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา 

โดย ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และตัวแทนชาวสวนยาง ได้นำเสนอเรื่องการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยวิธีส่วนต่างของราคา และสรุปผลการประชุมดังนี้

1.ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ทำหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานอื่นของรัฐในการสำรวจ และทำทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยเฉพาะ “เกษตรกรรายย่อย” ที่มีพื้นที่สวนยางต่ำกว่า 25 ไร่ เร่งทำข้อมูลเพื่อลดผลกระทบกับคนจน ซี่งเป็นเกษตรกรชาวสวนรายย่อย ตามคำสั่ง คสช.66/2557 จากนโยบายยึดคืนพื้นที่ป่าด้วยการโค่นยางพารา

ในการนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอให้มีชะลอการดำเนินการตามนโยบายนี้ของรัฐบาลไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีการสำรวจข้อมูลแล้วเสร็จ

2.เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการ 7 คน ที่มาจาก ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง 2 คน ตัวแทนรัฐบาล 2 คน และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอีก 3 คน เพื่อกำหนดราคากลางที่เกษตรกรชาวสวนยางสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

หลังจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร จะได้ประสานไปยัง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น

การดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างมิมีการจำแนก ย่อมส่งผลกระทบถึง “คนรากหญ้า” มากกว่า และอาจกลายเป็นประเด็นทางการเมือง หากว่าทาง คสช. เชื่อและฟัง “ป่าไม้สายเหยี่ยว” มากกว่าจะรับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน โอกาสเกิดการเผชิญหน้ากันก็มีสูง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้

....................................................

เสียงก้องจาก “เทือกเขาภูพาน”

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายทวงคืนผืนป่าบางส่วน ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ส่งผลให้ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่ชาวบ้านมีฐานะยากจนอยู่แล้ว เมื่อถูกดำเนินคดีก็ยิ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวมากยิ่งขึ้น

เลื่อน ศรีสุโพธิ์ เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร เล่าถึงสถานการณ์ของจังหวัดสกลนครให้ฟังว่า ชาวบ้านใน 16 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ กำลังประสบปัญหาการประกาศเขตของที่ดินของรัฐทับซ้อนที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินที่ป่าชุมชนของชาวบ้าน ทั้งจากการประกาศพื้นที่ป่าสวงนแห่งชาติ 16 แห่ง และเขตอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง ที่ดินสาธารณะ ที่ราชพัสดุ และอื่นๆ

คนเหล่านี้อยู่มาก่อนการประกาศกฏหมายป่าไม้ หรือเมื่อมีการประกาศเสร็จก็ไม่มีการบังคับใช้ตามกฏหมายของเจ้าหน้าที่ มีการผ่อนผันตามนโยบายรัฐกันเรื่อยมา อย่างที่ป่าสงวนป่าดงชมภูพาน-ป่าดงกะเฌอ ประกาศเมื่อปี 2531 ถ้าเจ้าหน้าที่ไปดูคงมีการให้ออกมาตั้งแต่ปีที่มีการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว

วันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสกลนคร ตัวแทนชาวบ้านอีสาน ทั้งจากชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี และกาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกิน เดินทางมาร่วมให้กำลังใจพี่น้องชาวบ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ที่ศาลจังหวัดสกลนคร นัดฟังคำพิพากษาผู้ถูกกล่าวหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน-ดงกะเฌอ จำนวน 1 ราย โดยศาลพิพากษาปรับ 35,000 บาท จำคุก 2 ปี จำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 12 เดือน ปรับ 17,500 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ขณะกระทำผิด จำเลยเป็นเกษตรกร ทำไร่ ไม่ได้รับจ้างนายทุน

อีกทั้งปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวก่อนหน้านี้แล้ว และไม่ได้กลับเข้าไปทำกินอีก อีกทั้งหน่วยงานรัฐไม่ประสงค์ให้จำเลยต้องจำคุก ประกอบกับจำเลยไม่มีพฤติกรรมร้ายแรง ไม่เคยต้องคดีอาญามาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

นี่เป็นตัวอย่างของเรื่อง “คนกับป่า” ที่ภาครัฐกับภาคประชาชน ยังมองปัญหากันคนละมุม

ooo

ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท --- แรงงานไทยไม่ใช่แรงงานทาส


ที่มา บล็อกรวมบทความของ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ
"โลกวันนี้วันสุข"
ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2555

ในที่สุด มาตรการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ก็เริ่มปฏิบัติเป็นจริงตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัด รวมกรุงเทพ จังหวัดโดยรอบ และภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัด ในเบื้องต้น ให้ขึ้นค่าจ้างตามสัดส่วนเดียวกันคือ เพิ่มร้อยละ 40 จากอัตราเดิม แต่จะต้องปรับเป็น 300 บาทต่อวันเช่นกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเพิ่มเติมให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้เป็นเวลาสองปี ซึ่งก็คือปี 2556 และปี 2557 จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก ยกเว้นในกรณีภาวะเศรษฐกิจผันผวนอย่างรุนแรงจนกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้างเท่านั้น

มาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงมาตั้งแต่แรก และถูกต่อต้านอย่างหนักถึงปัจจุบันจากนายจ้างบางกลุ่ม รวมทั้งจากสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เสียงคัดค้าน นอกจากจะมาจากนายจ้างที่เดือดร้อนจริงแล้ว ยังมาจากกลุ่มนายจ้างนายทุนใหญ่ที่อิงแอบอยู่กับกลุ่มทุนขุนนางเก่า ทำมาหากินกับระบอบจารีตนิยมของไทยมานานหลายชั่วคน ผูกขาดตัดตอน เอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยและผู้บริโภคไทยมานานจนเคยตัว แม้ในระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง กลุ่มทุนพวกนี้ ซึ่งรวมศูนย์กันอยู่ในกรุงเทพ ก็มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เป็นพรรคการเมืองมือเท้าของพวกจารีตนิยมอีกเช่นกัน

ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มอันธพาลเสื้อเหลืองข้างถนนที่ขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยปี 2549 และรัฐบาลพลังประชาชนปี 2551 ก็มีกลุ่มทุนเก่าพวกนี้บางส่วนเข้าไปให้การสนับสนุนทั้งอย่างลับ ๆ และเปิดเผย สอดประสานกับองคาพยพอื่น ๆ ของพวกจารีตนิยม จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในทางกลับกัน คนพวกนี้จึงออกมาเชียร์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2552-53 แต่กลับแสดงอาการผิดหวังอย่างออกนอกหน้าเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเมื่อกรกฎาคม 2554 หลังจากนั้น คนพวกนี้ก็พากันเรียงหน้าออกมา “เตือนรัฐบาล” ในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่การต่อสู้กับภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ นโยบายรถคันแรก การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลอยตัวราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้

ความจริงข้อหนึ่งที่นายจ้างกลุ่มทุนเก่าเหล่านี้ไม่ยอมพูดถึงคือ นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ค่าจ้างแรงงานไทยมีการปรับขึ้นช้ามากคือไม่ถึงร้อยละ 2 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 3-4 ต่อปี ผลก็คือ ค่าจ้างของคนงานไทยล้าหลัง ไล่ตามไม่ทันค่าครองชีพต่อเนื่องมากว่าสิบปีแล้ว

สิ่งที่เราสังเกตได้ตลอดหลายปีมานี้คือ คนงานลูกจ้างมีแนวโน้มต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ได้รายได้เสริม ทั้งทำงาน “ล่วงเวลา” หรือ “โอที” ในที่ทำงานประจำ ไปจนถึงทำงานรับจ้างที่อื่นหรือค้าขายรายย่อยนอกเวลางานและในวันอาทิตย์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รายได้ที่ไล่ทันกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกปีนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้นคือ รายได้ประชาชาติของไทยที่วัดโดย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตลอดกว่าสิบปีมานี้ ก็เติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 4-5 ต่อปี สูงกว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีกเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้แรงงานไทยได้รับส่วนแบ่งรายได้ของประเทศที่น้อยลงเรื่อย ๆ และมีรายได้เพิ่มขึ้นที่ช้ากว่าผู้ประกอบอาชีพและรายได้กลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงกว่าสิบปีมานี้จึงยืนอยู่บนฐานของการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างมาก โดยให้คนงานทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีรายได้ที่ไล่ไม่ทันค่าครองชีพและรายได้ของกลุ่มอาชีพอื่น ๆ

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จึงมีเหตุผลในแง่ความเป็นธรรมทางสังคมอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานไทยได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งในความเจริญของประเทศกับเขาบ้าง

ความจริงแล้ว การขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานถือว่า เป็นแนวโน้มสำคัญที่ถึงอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมดังเช่นประเทศไทย ซึ่งทั้งรัฐบาลและนายจ้างเอกชนจะต้องรับมือและปรับตัวให้ได้

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น ๆ คือ เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจจากพี้นภูมิหลังที่เป็นเกษตรกรรม มีแรงงานเหลือเฟือ การพัฒนาเศรษฐกิจยุคแรกของไทยในยุค 2500-2520 จึงเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จ้างคนงานไร้ฝีมือและค่าแรงต่ำ ต่อเมื่อแรงงานล้นเกินเริ่มหมดไป คนงานมีการศึกษาและทักษะสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อุตสาหกรรมก็จะต้องปรับตัวไปสู่การใช้กระบวนการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะสูง ค่าจ้างสูง หันมาใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ประหยัดแรงงาน เน้นทุนเข้มข้นและเทคโนโลยีเข้มข้นมากขึ้น ชดเชยกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และกำลังเกิดขึ้นในจีนปัจจุบัน

อุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคขาดแคลนแรงงานในช่วง 2530-40 เมื่อแรงงานไทยส่วนเกินเริ่มหมดไป คนงานไทยมีการศึกษาสูงขึ้นมาก ค่าจ้างก็เริ่มสูงขึ้น นายจ้างจึงหันไปใช้แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบัน มีแรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายนับล้านคน แรงงานเหล่านี้เป็นการต่อชีวิตให้กับอุตสาหกรรมไทยที่ใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูก นายจ้างนายทุนจำนวนมากคิดแต่ที่จะแสวงประโยชน์จากแรงงานราคาถูกไปเรื่อย ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ยอมปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะที่กลุ่มทุนเก่าบางจำพวกหากินอยู่กับพวกจารีตนิยมตลอดมา ก็หวังพึ่งแต่การคุ้มครองและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ตนจะได้จากระบอบการเมืองเผด็จการ เห็นผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคเป็นเพียงแค่บ่อเงินบ่อทองให้ขุดลอกไม่รู้จบเท่านั้น อีกทั้งยังต่อต้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทยถึงปัจจุบันอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่นายจ้างและอุตสาหกรรมไทยจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ หยุดคร่ำครวญเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ได้แล้ว หยุดแบมือขอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ยอมรับความจริงที่ว่า การเมืองประชาธิปไตยและทุนนิยมแข่งขันโลกาภิวัฒน์คือปัจจุบันที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับองค์กร กระบวนการผลิตและการตลาดไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานทักษะสูง จ่ายค่าจ้างแรงงานสูง กระบวนการผลิตเน้นการใช้ทุนและเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะอีกไม่นาน แม้แต่แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะหมดไปเช่นกันเมื่อเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้นพัฒนามากขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมไทยก็ต้องยกระดับไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เพื่อความอยู่รอดในยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์