วันอาทิตย์, พฤษภาคม 10, 2558

สะท้อนผลการ ‘เลือกตั้ง’ อังกฤษสักเล็กน้อย ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจของสื่อไทยมากกว่าในบ้านตัวเอง




สะท้อนผลการ ‘เลือกตั้ง’ อังกฤษสักเล็กน้อย ดูเหมือนจะเป็นที่สนใจของสื่อไทยมากกว่าในบ้านตัวเอง

ความเห็นต่างๆ เก็บมาจาก ‘ผู้รู้’ บางท่าน ที่บังเอิญผ่านมาทาง (บ้างอาจจะเผลอวิ่งชน) เรา

เป็นที่ทราบกันแล้วว่าพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative) ที่เป็นแกนหลักรัฐบาลชุดก่อนชนะขาด และพรรคแรงงาน (Labour) แพ้หลุดลอย ๓๓๑ ต่อ ๒๓๒ ขณะที่พรรคเล็กพรรคน้อยกลายเป็นปลาซิวปลาสร้อยไปตามๆ

ดังเช่นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democrats) ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดที่แล้ว เสียที่นั่งในสภาไปอย่างถล่มทลาย จาก ๕๗ เหลือแค่ ๘ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกช่วงชิงไปโดยพรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์ (Scottish National Party) ที่หลายคนเชื่อว่าได้รับชัยชนะท่วมท้น ๕๖ ที่นั่งจาก ๕๙ สำหรับเขตสก็อตแลนด์ เพราะกระแสชาตินิยมต่อเนื่องมาจากการลงประชามติแยกตัวเป็นอิสระเมื่อปีที่แล้ว

ต่อการนี้ Andrew MacGregor Marshall นักหนังสือพิมพ์อิสระชาวสก้อตที่ทำการค้นคว้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เขียนถึงผลการเลือกตั้งอังกฤษไว้ว่า

“In many ways, the UK election result was terribly depressing, to the extent that I even feel sorry for Nick Clegg. But the positive aspect is that Scotland has sent a clear message that the people living here want sane progressive politics. And we will not accept having another right wing government imposed on us by London. Scottish independence is a live issue again. Let's do it.

And to the people of Isaan in Thailand: we share your pain.”

ส่วนพรรคอิสระ ‘ยูคิป’ (United Kingdom Independence Party) ที่ต่อต้านชนต่างด้าวอย่างสุดโต่ง ได้เพียงที่นั่งเดียว ทั้งที่นายไนเจิล ฟาราจ หัวหน้าพรรคเองไม่ได้รับเลือกตั้ง

นิค เคล็ก หัวหน้าพรรคลิเบอรัล กล่าวถึงการ ‘พ่ายแพ้ยับเยินที่สุดนับแต่ก่อตั้งพรรคมา’ ว่า “ความกลัวและโศรกสลดชนะไป เสรีนิยมพ่ายแล้ว แต่ว่ามันกลับเป็นสิ่งที่มีค่าล้ำกว่าครั้งใดๆ ที่เราจะต้องต่อสู้ไม่ลดละเพื่อจะรักษามันเอาไว้”

ทั้งนี้โดยที่ไม่มีเขาเป็นหัวเรืออีกต่อไป เพราะเขาได้ประกาศลาออกพร้อมกับอีกสองหัวหน้าพรรคที่แพ้เลือกตั้ง คือนายเอ็ด มิลลิแบนด์ ของเลเบอร์ กับ ไนเจล ฟาราจ แห่งยูคิป

(http://www.theguardian.com/…/and-then-there-was-one-miliban…)

‘ความกลัว’ ที่นายเคล็กเอ่ยถึง น่าจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสำนวนการเมืองที่ใช้พูดกันลอยๆ ในเมื่อนายรอเจอร์ โคเฮ็น นักเขียนสายเสรีนิยมประจำหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์ ก็ได้อ้างถึงตัวแปรแห่งผลการเลือกตั้งอังกฤษครั้งนี้ไว้ด้วย

“ความกลัวเป็นพลังที่ดุดันในทางการเมือง ท้ายที่สุดความกลัวนี่แหละเป็นคนบอก มันเป็นพื้นฐานในการรณรงค์หาเสียงของนายเดวิด คาเมรอน มันทำให้เขาหลุดจากบ่วงเมื่อเขาชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง”

ความกลัวที่หัวหน้าพรรคคอนเซิฟเวทีฟใช้ในการหาเสียงมีอยู่สองง่าม ตามที่นายโคเฮ็นอ้าง ได้แก่บอกว่าอังกฤษจะต้องถดถอยทางเศรษฐกิจหากปล่อยให้นายมิลลิแบนด์ได้ชัยชนะเข้าไปเป็นนายกฯ กับถ้าหัวหน้าพรรคเลเบอร์ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาล ก็จะถูกจองจำเป็นตัวประกันโดยพรรคชาตินิยมสก็อตแลนด์ที่มุ่งมาดแบ่งแยกบริเตน

นายโคเฮ็นกล่าวถึงเสียงข้างมากที่พรรคของนายคาเมรอนได้มา แม้จะทำให้สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ก็ไม่ใช่เสียงข้างมากที่มั่นคงเหมือนเมื่อก่อน (รายงานข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนให้ข้อคิดไว้ทำนองเดียวกันว่า คราวที่แล้วได้เสียงของพรรคลิเบอรัลหนุนอย่างหนักแน่น)

ครั้งนี้พรรคอนุรักษ์ (The Tories) จักต้องหันไปพึ่ง ๘ เสียงปลาสร้อยจากพรรคสหภาพแรงงานประชาธิปไตยในไอร์แลนด์เหนือมาไว้กันเหนียว

ผลกระทบที่จะตามมาในปีหน้าแน่นอนก็คือ นายคาเมรอนจะต้องจัดให้มีการลงคะแนนประชามติเพื่อตัดสินใจว่าสหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมยุโรปอีกต่อไปหรือไม่ ตามเสียงเรียกร้องของชาวทอรี่ส์ (แต่ว่าทัดทานโดยพวกลิเบอรัล)

และแน่ละ จะต้องเจอกับการคัดง้างจากชาวสก็อต และฝ่ายสนับสนุนอียู ชนิดที่นายโคเฮ็นทำนายว่าถึงขั้นผละออกไปทำสัญญากับอียูกันอย่างเอกเทศเลยทีเดียว

(http://www.nytimes.com/…/roger-cohen-british-election-david…)

เหล่านั้นเป็นประเด็นการเมืองเฉพาะของสหราชอาณาจักรและยุโรป จะมีที่แตะถึงเมืองไทยบ้างก็ตอนที่นายมาร์แชลทะลุกลางปล้องออกมาว่า

“และสำหรับประชาชนชาวอีสานในประเทศไทย เราขอแบ่งปันความปวดร้าวของพวกท่าน”

นอกนั้นก็มีแต่ประเด็น ‘การเลือกตั้ง’ กับ ‘ประชามติ’ ที่ยังเป็นลูกผีลูกคนอยู่ในบ้านเรา แม้นว่าผู้ที่เป็นกูรูใหญ่รับมอบหมายจัดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณธรรมล้นแก้วเองกับมือ ออกมาพูดแล้วว่า

“ส่วนตัวยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องทำประชามติ แต่การจะให้มีการออกเสียงประชามติได้ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยความเห็นชอบร่วมกันของ คสช., ครม.และ สนช.”

(http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59182)

หากแต่หัวหน้า คสช. ที่เป็นนายกของ ครม. และเป็นผู้มีบุญคุณล้นหลามต่อ (การแต่งตั้ง) สนช. ได้ออกมาจ้อขาประจำไว้แล้ว

“ไม่ควรออกมาพูดวิจารณ์รัฐธรรมนูญให้เกิดความเสียหายในเวลานี้" นะ

"ขึ้นอยู่กับ กมธ.ยกร่างฯจะแก้ไขอย่างไร โดยต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงภายในเดือน ส.ค.นี้ แล้วก็ให้ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากไม่เห็นชอบก็ไปร่างกันใหม่ ส่วนเรื่องการทำประชามติจะพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้” เข้าใจ๋

(http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59183)

กระนั้นก็ยังมีผู้รู้สองรายที่ผ่านมาใกล้เรา พอให้หยิบฉวยเอาข้อคิดเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งอังกฤษซึ่งกระทบไทยมากระตุ้นต่อมสำนึกได้บ้าง




หนึ่งนั้นคือ Pipob Udomittipong เขียนว่า

“เซอร์ไพรซ์มากหน่อยคือกรณีพรรคเลเบอร์ที่เสียทุกที่นั่งในสก็อตแลนด์ให้ กับ Scottish National Party ที่โหนกระแส ‘ประชามติ’ มาก่อนหน้านี้ ที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งเที่ยวนี้ทำให้คนอังกฤษได้สส.อายุน้อยสุดในรอบสามร้อยกว่าปี...”

“Mhairi Black อายุแค่ ๒๐ ปี เป็นนศ.รัฐศาสตร์ปีสุดท้ายที่ Glasgow University ชนะ Douglas Alexander ๔๗ ปี อดีตสส.เขต ซึ่งตอนที่เขาได้รับเลือกตั้งครั้งแรกเธอยังเป็นทารกอยู่เลย ชนะขาดเสียด้วย

นอกจากเข้าร่วมเป็นแกนนำรณรงค์กรณีแยกประเทศสก็อตแลนด์แล้ว ก่อนหน้านี้มายรี แบล็คยังเข้าร่วมรณรงค์ต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัด (austerity) ต่อต้านสงครามอิรักตั้งแต่ปี 2005 ทำงานกับชุมชนยากจนในบ้านเกิด

เธอบอกว่าตั้งใจเป็นตัวแทนของชาวสก็อตที่มักถูกทอดทิ้ง เพื่อทำให้เสียงของชาวสก็อตปรากฏในรัฐสภาบ้าง “The people of Scotland are speaking and its time for their voice to be heard at Westminster.”

(http://www.scotsman.com/…/mhairi-black-the-new-20-year-old-…)

“ครับ (ดูสก็อตแลนด์แล้วย้อนดูไตแลนด์บ้าง) บางคนบอกการเลือกตั้งไม่ใช่องค์ประกอบเดียวของประชาธิปไตย พูดอีกก็ถูกอีก แต่ถ้าไม่มีการเลือกตั้งที่ free and fair มันจะเป็นประชาธิปไตยได้ไหม?

เราจะเห็นคนแบบน้องมายรี แบล็คมีโอกาสเข้าสู่ระบบตัวแทนประชาชนมั้ย? และต้องบอกว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็น fallouts เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจาก Scottish independence referendum

คือยิ่งประชาชนมีส่วนร่วมมากเท่าไร ประชาธิปไตยยิ่งมีสีสันมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่มีแต่สีเขียวโง่ๆ แค่สีเดียว คิดว่าตัวเองรู้หมดทุกเรื่อง ปั๊ดโธ่!”

นั่นแหละ เขาแตะนิดๆ แต่ว่ากระทบเยอะ

เช่นเดียวกับปรมาจารย์การเมืองไทยอีกท่าน Somsak Jeamteerasakul ว่าถึงปัญหาของระบบเลือกตั้งในยูเค ตามที่หนังสือพิมพ์ เดอะ อินดิเพ็นเด๊นซ์ ยกประเด็นขึ้นมาถกเถียง

(http://i100.independent.co.uk/…/heres-how-the-election-resu…)

“การเลือกตั้งเมื่อวานนี้ พรรคคอนฯ ได้คะแนนเสียงประมาณ ๓๗% ของผู้ลงคะแนน แต่จะได้ที่นั่งในสภาเกินครึ่งเล็กน้อย ๕๐.๗% ของที่นั่ง (ประมาณว่าคงได้ ๓๓๐ ที่นั่งใน ๖๕๐ ที่นั่ง) ขณะที่เลเบอร์ได้คะแนนโหวต ๓๑% จะได้ที่นั่งในสภาประมาณ ๒๓๒ ที่นั่ง หรือประมาณ ๓๕.๖% ของที่นั่ง)




หรือถ้าเราดูในแง่ของการ ‘สวิง’ หรือการเพิ่มมากขึ้นหรือน้อยลงของโหวตเมื่อเทียบกับคราวก่อน เปรียบเทียบกับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่เพิ่มหรือลดลง

คราวก่อนพรรคคอนฯ ได้คะแนนโหวต ๓๖% ได้ที่นั่ง ส.ส. ๓๐๖ ที่นั่ง แต่คราวนี้ได้เสียงโหวตเพิ่มขึ้นราว ๑% เท่านั้น (เป็น ๓๗% ดังกล่าวข้างต้น) แต่จะได้ที่นั่งราว ๓๓๐ ที่นั่ง คือได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นถึงประมาณ ๒๔ที่นั่ง

ในขณะที่เลเบอร์ได้เสียงโหวดคราวก่อน ๒๙% ได้ ส.ส. ในสภา ๒๕๘ ที่นั่ง คราวนี้ เอาเข้าจริงเลเบอร์ได้เสียงโหวตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยด้วยซ้ำ คือคาดว่าจะได้ ๓๑% แต่ผลโดยรวมจะได้ที่นั่ง ๒๓๒ ดังกล่าว หรือลดลงถึงราว ๒๖ ที่นั่ง

คือถ้ามองในเชิงไอเดียเรื่องการเลือกตั้งคือการหา ‘ตัวแทน’ (representation) ของผู้เลือกตั้ง (‘ประชาชน’) เข้าไปในองค์กรรัฐตามสัดส่วนความต้องการของผู้เลือกตั้ง ก็สามารถกล่าวได้ว่าระบบเลือกตั้งแบบอังกฤษ มีปัญหาในเรื่อง representation นี่ไม่น้อยเหมือนกัน”

สศจ. มาเพิ่มเติมในกระทู้ต่อมาถึงการที่นายฟาราจ หัวหน้าพรรคยูคิป ‘บ่น’ ไว้ ประเด็นการผิดผีผิดไข้ของวิธีการแปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็น representation

“คือถ้าใครติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้คงพอรู้ว่า พรรคที่ ‘ชนะ’ หรือได้ที่นั่ง ส.ส. ชนิด spectacular (‘ถล่มทลาย’) มากๆ คือพรรคชาติสก๊อต Scottish National Party หรือ SNP คือได้ที่นั่งถึง ๕๖ ที่นั่ง (จากจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสก๊อตแลนด์ทั้งหมด ๕๙ ที่นั่ง เลือกตั้งครั้งก่อนมีเพียง ๖ ที่นั่ง)

ในทางกลับกัน UKIP กลับได้ที่นั่งน้อยมาก คือ ๑ ที่นั่งเท่านั้น (ครั้งก่อนไม่มีที่นั่งเลย)

แต่ถ้าดูเปอร์เซนต์ของโหวตที่สองพรรคนี้ได้มาเปรียบเทียบกัน จะน่าตกใจในเชิงตัวเลขมาก คือ (ดูภาพประกอบ)

UKIP ได้เสียงโหวต ๑๒.๖% ได้ ส.ส. ๑ ที่นั่ง SNP ได้เสียงโหวต ๔.๘% ได้ ส.ส. ๕๖ ที่นั่ง

ในแง่จำนวนโหวต UKIP มีประชาชนนิยมมากกว่า SNP ถึง ๒ ล้านกว่าคน หรือกว่า ๗% แต่กลับมีที่นั่งในสภาน้อยกว่าถึง ๕๕ ที่นั่ง”
..............

โดยเนื้อหารายละเอียดที่ สศจ. ยกมาชี้ให้เห็นปัญหาของระบบเลือกตั้งในอังกฤษ สะท้อนถึงระบบเลือกตั้งในประเทศไทยที่คณะพ่อยกแม่ยก ‘ร่าง’ รธน. กันขึ้นมาแล้วนั้น

ที่ว่าเป็นการให้ 'ตัวแทน' ประชาชนตรงตามสัดส่วนคะแนนจริง ในโมเดลเยอรมันผสมอังกฤษนั่นน่ะ ก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

ทว่า สศจ. มิได้พาดพิงไว้ในกรณีนี้ หากแต่เขากล่าวถึงแรงสะท้อนในอีกแง่มุมหนึ่ง ตอนลงท้ายของโพสต์ก่อนหน้า

“แต่ประเด็นสำคัญคืออย่างนี้นะครับ

‘ประชาธิปไตย’ เป็นอะไรที่ไม่ใช่ ‘ยุติ’แล้ว แต่เป็นอะไรที่ on-going หรือต้องพัฒนา เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงไปเรื่อย คือเป็น unfinished project (โครงการที่ยังไม่สิ้นสุด) อยู่ตลอดเวลา หมายความ ถ้าคนอังกฤษเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้มีปัญหา (มีคนพูดกันอยู่หลายปีแล้ว) ก็ต้องหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

และ (อันนี้สำคัญมากๆ)

อังกฤษนั้น อำนาจเจ้า-ทหารไม่มีแล้ว คืออำนาจของ ‘กลุ่ม-เครือข่าย’ หรือ ‘บล็อกอำนาจ’ นี้ (เจ้า-ทหาร) หายไป (โดยพื้นฐาน) เป็นศตวรรษแล้ว

ปัญหาการเมืองเชิงประชาธิปไตยที่ยังมีต่อไป (เช่นปัญหาระบบเลือกตั้งที่ยกตัวอย่าง) จึงกลายเป็นเรื่องของนักการเมือง-ประชาชน ล้วนๆ ทั้งในแง่นักการเมืองสู้นักการเมือง, ประชาชนสู้นักการเมือง

ไม่มีอำนาจเจ้า-ทหารเข้ามา ‘เผือก’”