วันศุกร์, พฤษภาคม 15, 2558

จาตุรนต์ ชง 2 ทางเลือกหากประชามติไม่ผ่าน



ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
14 พ.ค. 2558

“จาตุรนต์”เร่ง ครม.-คสช.ตัดสินใจทำประชามติ ร่าง รธน.พร้อมชง 2 แนวทาง หากประชามติไม่ผ่าน นำ รธน.40,50 ประกบเป็นตัวเลือก หรือ เลือกตั้ง สภาชิกสภาร่าง รธน. เขียน รธน.ใหม่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีมติเสนอ ครม.และ คสช.แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การตัดสินใจของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เสนอให้ทำประชามติ เท่ากับยังรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ อยู่บ้าง ขณะที่ ครม.และ คสช. ต้องหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาเตรียมพร้อม ทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ และมีโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ โดยขั้นตอนการลงประชามติ ตนมีข้อเสนอว่า หากลงประชามติแล้วประชาชนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้นำรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาเป็นตัวเลือก แล้วมาแก้ไขในส่วนที่มีปัญหา หรือ ถ้าประชามติไม่ผ่าน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ทั้งนี้ แน่นอนว่า ข้อเสนอดังกล่าว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ เสียเวลา ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ต้องใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท ทำให้ คสช.รัฐบาลอยู่ยาวมากกว่าโรดแม็ปที่วางไว้ แต่ถ้าเสียเงินแล้วเสียเวลา แต่ได้รัฐธรรมนูญที่ดีก็เป็นเรื่องที่ยอมได้ ประชาชนเข้าใจ ดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่นี้ออกไปให้เป็นอันตราย แล้วอนาคตเศรษฐกิจเสียหายเป็นแสนล้านบาท.

ooo

โคราชเซ็ง! เวทีฟังความเห็นรธน.พูดแต่ในกระดาษ แนะ ถ้าคว่ำร่างฯ กมธ.ควรลาออก-คืนเบี้ย


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

วันที่ 14 พ.ค. เมื่อเวลา 10.30 น. ที่อาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ( มทส.) นครราชสีมา นายประชา เตรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมนายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมจัดโครงการเวทีเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน โดยมีนายธงชัย ลืออดุลย์ ผวจ.นครราชสีมา และนายกษิเดชธนทัต เสกขุนทด สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) จังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ ท่ามกลางตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ 32 อำเภอ จำนวนกว่า 2 พันคน ร่วมรับฟังการเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ สิทธิ หน้าที่ และมาตราใหม่ๆ ที่ควรทราบ และเป็นประโยชน์ในการดำรงชีพ

ทั้งนี้ บรรยากาศโดยรวมเป็นไปอย่างจืดชืด เนื่องจากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาพูดบนเวทีค่อนข้างนาน รวมทั้งเนื้อหา สาระ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนในท้องถิ่นเท่าไรนัก จึงไม่มีแรงจูงใจให้สนใจรับฟัง เมื่อใกล้เที่ยงวัน จึงได้ทยอยเดินทางกลับเหลือไม่ถึง 200 คน ในระหว่างเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นในเวลาจำกัด

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ รองประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า เวทีสัญจรครั้งนี้ ใช้ลงทุนไม่คุ้มค่า เชิญภาคประชาชนมาทุกอำเภอ บางแห่งมีระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร แกนนำทำการบ้านมาเป็นอย่างดี มีความตั้งใจจะนำเสนอปัญหา รู้สึกผิดหวังที่มาฟังการนำเสนอของกรรมาธิการ ฯ ซึ่งทราบรายละเอียดจากการนำเสนอทั้งในเอกสาร และสื่อต่างๆ มาก่อนหน้านี้ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชน แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

ด้านนายประพิศ นวมโคกสูง ตัวแทนข้าราชการครูบำนาญ กล่าวว่า เป็นห่วงครูสังคม จะสอนเรื่องประชาธิปไตยอย่างไรให้นักเรียนเข้าใจ เมื่อผู้มีอำนาจในบ้านนี้เมืองดี ไม่ยอมรับกฎ กติกา และเสียงข้างมาก อ้างถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ก็เปิดช่องให้ใช้คนนอกได้ นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ ที่ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ สุดท้ายก็ถูกฉีกทิ้ง อ้างถ้าฉบับนี้มีปัญหา จะทำให้เสียชื่อวงศ์ตระกูล น่าจะแสดงตนยอมลาออกแต่โดยดี และยินดีคืนเงินค่าตอบแทน เบี้ยประชุม จะดูดีกว่า