วันจันทร์, พฤษภาคม 18, 2558

ความเห็นทางกฎหมายกรณี กลุ่มพลเมืองโต้กลับจะฟ้องประยุทธ์และพวกฐานกบฏ 113



ที่มา FB พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen


ความเห็นทางกฎหมายกรณี กลุ่มพลเมืองโต้กลับจะฟ้องประยุทธ์และพวกฐานกบฏ 113
"มิตรสหายนักฎหมายท่านหนึ่ง"
,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

กรณีที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับจะฟ้องประยุทธ์และพวกฐานกบฏ 113.... ประเด็นน่าจะมีดังนี้

1) เรื่อง "อำนาจฟ้อง" นั้น ปัจจุบันมันจะมีหลักการฟ้องคดีอาญาอยู่ 2 หลัก คือหลักการดำเนินคดีอาญาโดยประชาชน คือ ประชาชนทุกคนมีสิทธิฟ้องคดีได้ไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ ประเทศที่ใช้ก็เช่นอังกฤษ กับหลักการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ ที่ถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหายในการกระทำความผิดทุกคดีโดยให้พนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดี ประเทศที่ใช้ก็เช่นเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองหลักนี้ คือหลักแรก เจ้าหน้าที่รัฐก็ฟ้องคดีได้แต่ในฐานะเป็นผู้ "ฟ้องแทนประชาชน" ในขณะที่ หลักที่สองประชาชนก็ฟ้องได้ แต่ได้เฉพาะความผิดบางฐานตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ของไทยเรามี ป.วิอาญามาตรา 28 บอกว่า ให้อำนาจ อัยการ และผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีอาญา แสดงว่ากฎหมายไทยให้โอกาสประชาชนฟ้องคดีอาญาได้โดยไม่จำกัดความผิด แต่มีเงื่อนไขว่า "ต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดนั้น" (เขาเรียกว่าผู้เสียหายที่แท้จริง) ในขณะที่รัฐเองก็จะไปดำเนินคดีอาญาที่เป็น "ความผิดต่อส่วนตัว" ไม่ได้หากผู้เสียหายเขาไม่มาร้องทุกข์... เท่ากับเราใช้ระบบผสม

2) ปัญหาที่ยุ่งยาก ก็คือ แล้ว"ความเสียหายจากการกระทำผิดนั้น" มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือดูจากอะไร ? ซึ่งคำอธิบายทั่วไปแบบง่ายๆ เบื้องต้นเลย ก็คือ ดูว่า ความผิดฐานนั้น "ประสงค์จะคุ้มครอง" อะไร เช่น ฐานหมิ่นประมาททำให้เสียชื่อเสียง ก็คุ้มครองคนที่จะเสียชื่อเสียงจากการนั้น คนๆนั้นก็คือผู้เสียหาย ถามว่า รัฐเสียหายด้วยไหมกรณีนี้ ?... คำตอบคือ ไม่ ดังนั้น อัยการก็จะเจ๋อ ไปฟ้องฐานนี้กับเขาด้วยไม่ได้ เว้นแต่เจ้าของชื่อเสียงเขาจะมาร้องขอให้ช่วยฟ้องแทน อันนี้เขาเรียกว่า "อาญาส่วนตัว" นั่นเอง แต่มันจะมีความผิดบางฐานที่ไม่ได้คุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น ฐานฆ่าคนตาย แบบนี้นอกจาก คุ้มครองเจ้าของชีวิตแล้ว เขาคุ้มครองความสงบเรียบร้อยด้วย ดังนั้น เวลามีคนฆ่ากันตาย ทั้งเจ้าของชีวิตและรัฐ จึงต่างก็เป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องได้ทั้งคู่ แบบนี้ไงที่เขารียกว่า "อาญาแผ่นดิน" ...และแน่นอน มันจะมีความผิดบางฐานเช่นกันฮะ ที่กฎหมายไม่ได้ต้องการคุ้มครองปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง แต่คุ้มครองเป็นการส่วนรวม หรือกล่าวอีกอย่างคือ "รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย" เช่น ความผิดตามพรบ. จราจรทางบก ความผิดต่อเจ้าพนักงาน เช่น ให้สินบนเจ้าพนักงาน แจ้งความเท็จ ไรพวกนี้ ซึ่งก็มีการอธิบายกันว่ารวมทั้งความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐด้วย และแน่นอน ฐานกบฏ 113 จึงเท่ากับว่า ประชาชนคนใดคนหนึ่งจะไปฟ้องเองไม่ได้ ต้องให้รัฐฟ้อง ไอ้ความผิดแบบนี้ก็เป็นอาญาแผ่นดินเหมือนกัน แต่คุ้มครองรัฐหรือสังคมโดยรวม เท่านั้น

3) เอาล่ะว่า ทั้งด้วยหลักการดังกล่าวมา ทั้งแนวคำพิพากษาของศาลไทย ก็เคยชี้ว่า 113 นั้นประชาชนฟ้องเองไม่ได้ (จริงๆ ถ้าปล่อยให้ใครฟ้องก็ได้กระบวนการพิจารณาก็น่าจะวุ่นวายและยุ่งยากพอดูทีเดียว)

แต่ๆๆๆ.... ประตูมันยังไม่ได้ปิดตายสำหรับประชาชนเสียทีเดียวนะ...

เพราะลองพิจารณาดูนะว่า สมมติ มีใครสักคนไปแจ้งความเท็จกับตำรวจว่า คุณไปฆ่าคนตายมา... คุณไม่เสียหายหรือ ? คำตอบคือ เสียหาย เพราะอาจโดนตำรวจจับขัง อาจโดนนั่นนู่นนี่ ดังนั้น คุณก็มีอำนาจฟ้องศาลฐานแจ้งความเท็จได้ (ไม่ใช่แค่ฐานหมิ่นประมาทนะ อันนั้นได้อยู่แล้ว) เรื่องนี้ ศาลรับฟ้องนะฮะ เคยมีคำพิพากษายืนยันแล้วเช่นกัน .... กรณีแบบนี้ทางตำราเขาอธิบายว่า แม้ความผิดนั้นจะคุ้มครองรัฐเท่านั้น แต่ถ้า ประชาชนคนใด "ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ" จากการกระทำผิดฐานนั้นย่อมมีอำนาจฟ้องด้วย !!

เห็นช่องนะ...ดังนั้น ถ้าพิสูจน์หรือแสดงให้ได้ว่า เราได้รับความเสียหายอะไรเป็นพิเศษจากการกระทำของประยุทธ์ และพวกได้ (ไม่ใช่แค่บอกว่า สูญเสียระบอบประชาธิปไตย สังคมวุ่นวาย หรือเศรษฐกิจเสียหาย ซึ่งแบบนี้มันเป็นภาพรวมๆ ของทั้งประเทศ ศาลไม่รับฟ้องหรอก) เช่น ถูกจับและควบคุมตัวโดยไม่มีความผิด ถูกยกเลิกพาสปอร์ต ฯลฯ หาคนกลุ่มนี้มาเป็นโจทก์ฟ้อง...แบบนี้จะน่าสนใจว่าศาลจะว่ายังไง (จริงๆก็คิดว่าทนายความสิทธิ์เขาก็น่าจะเตรียมไว้แล้ว)

จริงๆจะฟ้องสู้เชิงสัญลักษณ์ เชิงการเมืองอย่างเดียวก็ได้ โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่เสียเปล่าหรอก...แต่ถ้าได้เชิงเทคนิคกฎหมายด้วย ก็น่าจะสนุกขึ้นอีกเยอะเชียว

,,,

ความเห็นของ Auer-angul Santirongyuth

ท่าทางเพจนี้จะเอาจริงนะครับ มุ่งหมายจะเปลี่ยนแนวบรรทัดฐานที่ศาลวางมานาน ก็เอาใจช่วยนะฮะ แต่ถ้าคิดตามตรรกะที่เพจนี้เคยบอกว่า “เหมือนกับความผิดฐานฆ่าคนตาย ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ แต่ถ้าคนที่ถูกฆ่าเป็นพ่อแม่คุณ คุณก็เป็นผู้เสียหายและฟ้องต่อศาลโดยตรงได้” ถ้าเอาตามนี้จริง และซีเรียสจริงๆว่าจะฟ้องให้ได้ ไม่ใช่แค่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ก็ควรไปเอาคนที่ “เสียหายโดยตรง/พิเศษจากการรัฐประหาร หรือการกระทำอื่นๆที่ตามมาจากการรัฐประหาร” เช่น คนที่เคยถูกคสช.เรียกให้ไปรายงานตัว ให้ไปเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงในวันที่ 22 นี้เลย อันนี้อาจเพิ่มน้ำหนักได้ให้ศาล (ถ้าศาลกล้า) พอที่จะมีฐานทางกฎหมายที่มีเหตุผลเพียงพอในการเปลี่ยนแนวบรรทัดฐานได้ โดยศาลอาจจะ classify ว่าคดีเป็นความผิดอาญาแผ่นดินประเภทมีเอกชนเป็นผู้เสียหายโดยตรง/พิเศษ เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายที่ทั้งรัฐและเอกชน (ทายาทและผู้เกี่ยวข้อง) เป็นผู้เสียหาย หากโจทก์ที่เป็นเอกชนสามารถพิสูจน์ความเสียหายที่ตนได้รับมาโดยตรง/พิเศษได้จากการกระทำของคณะรัฐประหาร จึงมีอำนาจฟ้อง ทำให้ศาลรับฟ้องของโจทก์ใด้ ถ้าศาลสั่งแบบนี้ จะเป็นการพลิกแนวครั้งใหญ่ในวงการนิติศาสตร์แน่นอน (แต่ดูทรงแล้ว คงเป็นไปได้ยาก)

ปล. เห็นด้วยกับมิตรสหายท่านนี้ครับ ความผิดอาญาแบ่งเป็นสามประเภทหลัก คือ

1. ความผิดอาญาต่อส่วนตัว (ยอมความได้ คำตามป.อาญา) อันนี้เอกชนผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ก่อนเท่านั้น ตำรวจจึงจะดำเนินการได้ หรือสามารถไปฟ้องคดีต่อศาลโดยตรงในฐานะราษฎรเป็นโจทก์ ตราบใดที่ไม่มีการริเริ่มจากผู้เสียหาย รัฐจะเข้ามายุ่งไม่ได้เลย เช่น ความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางวัน ทำให้เสียทรัพย์ หมิ่นประมาท ฉ้อโกง ฯลฯ 

2. ความผิดอาญาแผ่นดินประเภทไม่เคร่งครัด อันนี้ทั้งรัฐ (ผ่านพนักงานอัยการ) และผู้เสียหายเอกชนฟ้องคดีได้ (ส่วนใครจะเป็นโจทก์ หรือโจทก์ร่วม ก็แล้วแต่ว่าใครฟ้องก่อน ใครถอนฟ้อง ฯลฯ) ความผิดประเภทนี้หากผู้เสียหายพิสูจน์ได้ว่า ตนเสียหายจากการกระทำความผิดอาญานั้นโดยตรง/พิเศษ ก็มีอำนาจฟ้องต่อศาลโดยตรงในฐานะราษฎรเป็นโจทก์ โดยความเสียหายนี้ต้องเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมด้วย ไม่ใช่ล่องลอยๆอารมณ์แบบทำลายประชาธิปไตย แบบนี้ไม่เข้าเกณฑ์ ตัวอย่างความผิดอาญาประเภทนี้ก็เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตาย ชิงทรัพย์ ฯลฯ อันนี้คือกฎหมายคุ้มครองทั้งสิทธิของเอกชนและความสงบฯของสังคมโดยรวม

3. ความผิดอาญาแผ่นดินประเภทเคร่งครัด (หรือที่เรียกๆกันว่า “รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย”) อันนี้เฉพาะผู้ที่กฎหมายให้อำนาจเท่านั้นจึงจะมีอำนาจฟ้องได้ เพราะการพิสูจน์ความเสียหายอย่างแท้จริงจากเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมไม่อาจทำได้ เช่น ความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองตามกฎหมายปปช. แบบนี้เฉพาะกรรมการปปช./อัยการ แล้วแต่กรณี จึงจะมีอำนาจฟ้อง ดังนั้น เอกชนจะไปบอกว่า มันโกงๆ เอาภาษีที่เราจ่ายไปใช้ในทางที่มิชอบไม่ได้ เพราะมันมหภาคเกินไป ไม่เห็นเป็นรูปธรรม เว้นแต่จะบอกว่านายกอบต.คนนี้เอาภาษีท้องถิ่นไปสร้างถนนไม่มีคุณภาพ ถนนทรุดแล้วเราใช้ถนนสายนี้ทุกวัน อาจเกิดอุบัติเหตุ อันนี้อาจจะพิสูจน์ได้ว่ามีความเสียหายโดยตรง/พิเศษ จึงมีอำนาจฟ้องได้ -> กลายเป็นความผิดอาญาแบบสองไป



https://www.youtube.com/watch?v=A6QwVOxm4iI&feature=youtu.be