วันอาทิตย์, เมษายน 19, 2558

'สมบัติ' ค้านระบบเลือกตั้งผสมของเยอรมัน ชี้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ


ที่มา ประชาไท
Sat, 2015-04-18

"สมบัติ ธำรงธัญวงศ์" ประธาน กมธ.ปฎิรูปการเมือง ค้านระบบเลือกตั้งเยอรมนี ย้ำรัฐบาลผสมทำเกิดปัญหาต่อรองผลประโยชน์ ชี้นายกคนนอกไม่ตรงความต้องการประชาชน

18 เม.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมือง สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย.) จะประชุมคณะกรรมาธิการปฎิรูปการเมือง ที่อาคารรัฐสภา เพื่อเตรียมความพร้อมกำหนดกรอบประเด็นที่จะอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 20-26 เมษายนนี้ เนื่องจากปรับเวลาการอภิปรายให้สั้นลง โดยประธานกรรมาธิการแต่ละคณะคนละ 30 นาที และสมาชิกคนละ 15 นาที ส่วนตนเองจะพูดในภาพรวม และให้สมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ ไม่ต้องยึดกรอบของกรรมาธิการ เพื่อจะได้มีอิสระ จึงต้องวางแนวทางการอภิปรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เพราะเวลาที่ได้รับถือว่าน้อย หากเทียบกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่มีอยู่มากกว่า 100 มาตรา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าบรรยากาศจะไม่ดุเดือดเข้มข้น เพราะเป็นการชี้แจงให้ข้อมูล หักล้างด้วยเหตุและผลมากกว่าใช้อารมณ์เหมือนการอภิปรายของนักการเมืองในอดีต

“การอภิปรายภาพรวมจะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงสร้างและการออกแบบรัฐบาลให้มีความเป็นเอกภาพเข้มแข็ง โดยเฉพาะจากประเทศที่กำลังพัฒนาและขณะนี้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีรัฐบาลที่เข้มแข็งหรือมีรัฐบาลพรรคเดียว แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างเขียนขึ้นกลับมองตรงกันข้าม โดยต้องการให้มีรัฐบาลผสมด้วยการนำการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมของประเทศเยอรมันมาใช้ ซึ่งในความเป็นจริงรัฐบาลผสมจะยิ่งเกิดปัญหา เพราะหากพรรคเสียงข้างมากมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง จึงต้องดึงพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาล จะทำให้เกิดการต่อรองอำนาจภายในพรรคร่วมรัฐบาล เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้รัฐบาลทำงานไม่ราบรื่น เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า การเมืองเพื่อผลประโยชน์ของพรรคร่วม” นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีที่เปิดช่องให้เลือกนายกรัฐมนตรีจากคนนอกได้ ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ยิ่งสร้างปัญหา เพราะจากการลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความเห็นของกมธ.ปฎิรูปการเมืองพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีด้วยตนเองถึงร้อยละ 70 สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนที่ต้องการแสดงออกทางการเมืองในการเลือกผู้ที่จะขึ้นมาบริหารประเทศด้วยตัวเอง ส่วนกลไกการตรวจสอบทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการยื่นถอดถอนก็ไม่มีอะไรใหม่หรือสามารถใช้ได้จริงกับนักการเมืองที่มีเรื่องของพวกพ้องและผลประโยชน์ต่างตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง ตนจึงเสนอให้ใช้เสียงของส.ส. 1 ใน 10 เข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภาตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญไต่สวน หากพบว่ามีความผิดให้ยื่นเรื่องกลับไปยังประธานวุฒิสภา ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปพิจารณาต่อ จะทำให้กลไกการตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายสมบัติ กล่าว