วันศุกร์, เมษายน 17, 2558

"ไทยเที่ยวไทย" 8 แสน ล.นิ่งสนิท คนไทยกระเป๋าแฟบ-มาตรการรัฐปลุกไม่ขึ้น



ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
updated: 16 เม.ย 2558

จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศในประเทศไทย ไตรมาส 1 ปี 2558 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ทำการสำรวจจากนักท่องเที่ยวไทยจำนวน 350 รายทั่วประเทศพบว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่วางแผนเดินทางในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปี 2557

โดยส่วนใหญ่ยังบอกว่า "ราคาน้ำมัน" ที่ปรับตัวลดลง ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวในประเทศ

ตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม2557โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย

ตลาด 8 แสนล้านไม่ขยับ

"ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช" นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในมุมของผู้ประกอบการเชื่อว่าตัวเลขการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ภาครัฐและเอกชนหารือร่วมกัน คือประมาณ 140-150 ล้านคนครั้ง เนื่องจากมีหลายมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้เชิงบังคับ

อาทิ ประกาศคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ที่มีมติให้ทุกส่วนราชการงดเว้นการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศในช่วงปีงบประมาณ 2558 และให้พิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษาดูงานภายในประเทศแทน ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ที่อยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว

 

ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในประเทศที่วางเป้าหมายไว้ที่ 8 แสนล้านบาท นั้นคงไปไม่ถึงฝัน อย่างดีก็แค่ใกล้เคียง เพราะคนไทยประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งเรื่องกินและซื้อสินค้า และเลือกจะเที่ยวระยะสั้นมากขึ้น

"ยุทธชัย" ย้ำว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศโดยตรง คือ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะเดินทางท่องเที่ยวเป็นปกติอยู่แล้ว หากบรรยากาศทางเศรษฐกิจคึกคัก คนก็มีกำลังใจและกล้าจับจ่าย

"ตอนนี้ภาพรวมของคนไทยยังเที่ยวอยู่ ไม่ได้หยุดเที่ยว เพียงแต่มีความละเอียดในเรื่องการใช้จ่ายเงิน การเลือกซื้อสิ่งของที่จะมาอำนวยความสะดวก และเลือกที่ที่จะเที่ยวมากขึ้น ยกตัวอย่าง การซื้อตั๋วเครื่องบิน ก็จะมองหาโปรโมชั่นมากขึ้น"

ทัวร์ต่างประเทศแย่งตลาด "เที่ยวไทย"

ต่อคำถามว่า สทน.มีแผนจะกระตุ้นให้คนไทยใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างไร "ยุทธชัย" บอกว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว และเหนื่อยกันสุด ๆ บริษัททัวร์ในประเทศก็มีคู่แข่งรายล้อมไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) ที่จัดแคมเปญขายตั๋วโดยสารพร้อมที่พัก และรถรับ-ส่งถึงสนามบิน ราคาถูก

ที่สำคัญ ตอนนี้ภาคของท่องเที่ยวต่างประเทศก็แย่งตลาดไปเป็นจำนวนมาก โดยจะเห็นว่าขณะนี้ แพ็กเกจทัวร์ต่างประเทศราคาต่ำมาก เพราะยังมีเรื่องของทัวร์ศูนย์เหรียญแฝงอยู่ เช่น เที่ยวเกาหลีราคาเพียง 14,000-17,000 บาท ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ทำให้คนไทยตัดสินใจไปเที่ยวต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

"ยุทธชัย" ยังมองด้วยว่า มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการประกาศวันหยุดยาว รวมถึงการนำรายจ่ายด้านท่องเที่ยวไปลดหย่อนภาษีก็ยังไม่สัมฤทธิผลมากนัก เพราะรัฐบาลประกาศวันหยุดยาวล่วงหน้านานเกินไป คนไทยบางส่วนจึงวางแผนไปเที่ยวต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะจำนวนวันหยุดยาว ๆ จะเอื้อกับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ

พร้อมบอกว่า ในปีก่อน ๆ ช่วงที่มีวันหยุด 3 วันติดต่อกัน ตัวเลขด้านการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศดีมาก โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5-15% อยู่ที่จังหวะของวันหยุดนั้น ๆ เช่น วันหยุดที่อยู่ในฤดูฝน การเดินทางท่องเที่ยวอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นวันหยุดที่เป็นเทศกาลงานบุญก็จะเกิดการเดินทางท่องเที่ยวในอัตราที่สูง

สำหรับปีนี้ที่มีวันหยุดยาว 4-5 วันติดกัน การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศกลับปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่การเดินทางต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก

วอนรัฐอย่าปล่อย "เอกชน" สู้ตามยถากรรม

ประเด็นนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะถ้าภาคท่องเที่ยวในประเทศยังทำการตลาดเหมือนกับที่เป็นอยู่ คือปล่อยให้ภาคเอกชนทำกันเอง สถานการณ์อาจจะแย่ลง จากสภาพตลาดที่เป็นอยู่ขณะนี้ ส่วนตัวมองว่าด้วยกำลังของภาคเอกชนไม่สามารถรับมือไหวแล้ว ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ อยากเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้มูลค่าตลาดของการท่องเที่ยวในประเทศสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องทุกปี

ที่สำคัญ ภาครัฐต้องมีกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนไทยพร้อมที่จะใช้จ่ายเงินด้านการท่องเที่ยว

"จริง ๆ แล้วสินค้าด้านการท่องเที่ยวก็สามารถทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและมีแคมเปญต่าง ๆ ออกมาดึงดูดให้คนซื้อสินค้าท่องเที่ยวได้เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป ที่มีกลยุทธ์ลด แลก แจก แถม โฆษณา รวมถึงชิงโชคต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้มีความคึกคัก"

พร้อมกันนี้ "ยุทธชัย" ยังย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สินค้าด้านการท่องเที่ยวจะมีแคมเปญแปลก ๆ ใหม่ ๆ ออกมา โดยเฉพาะรูปแบบการลุ้นโชค ซึ่งอาจจะจับสลากจากตั๋วเครื่องบิน หรือใบเสร็จจากการซื้อแพ็กเกจทัวร์ เป็นต้น

พร้อมเสนอให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนวิธีคิดกลยุทธ์การตลาดใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปลดล็อกเรื่องการนำรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวไปลดหย่อนภาษีนั้น อย่างต่ำน่าจะอยู่ที่ราว 30,000 บาท จากปัจจุบันที่มีเพดานอยู่ที่ 15,000 บาทหรือการจัดระเบียบการท่องเที่ยวในประเทศใหม่ เช่น การลงรากลึกไปในกิจกรรมทัศนศึกษาของเด็กในระดับประถม มัธยมใหม่ด้วยการเชิญชวนให้ผู้ปกครองไปท่องเที่ยวกับลูกหลาน เพื่อเสริมบรรยากาศให้คึกคักขึ้น อีกทั้งยังทำให้ผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงเรียนด้วย ซึ่งตรงนี้อาจต้องทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

"ที่ผ่านมา 15,000 บาทอาจไม่ได้ผล ดังนั้นต้องทำให้จูงใจกว่านี้ เพราะรัฐไม่ได้เสียอะไรเลย เรื่องแบบนี้รัฐบาลเองก็ต้องกล้าคิด พอให้เขาน้อย เขาก็ใช้จ่ายน้อย ถ้ารัฐให้มากก็น่าจะใช้มากและอาจจะเพิ่มความถี่ในการท่องเที่ยวได้บ่อยขึ้นด้วย"

นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศบอกอีกว่า ความหวังของตลาดท่องเที่ยวในประเทศปีนี้อยู่ที่ 2 ประเด็นหลัก คือ 1.รอดูว่าแคมเปญเที่ยววันธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคมนี้จะบรรลุเป้าหมายแค่ไหน

และ 2.รอดูว่าเศรษฐกิจภาพรวมในครึ่งปีหลังจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นหรือไม่

แต่สุดท้ายแล้ว "ยุทธชัย" ฟันธงว่า ปีนี้ "ธุรกิจท่องเที่ยว" จะยังคงเป็นพระเอกในแง่การสร้างรายได้เข้าประเทศได้อยู่เช่นเดิม !