วันศุกร์, มีนาคม 27, 2558

ย้อนความ 'ลีกวนยู' พูดถึง 'ทักษิณ' และประเทศไทยในหนังสือของตัวเอง



ที่มา ประชาไท
Wed, 2015-03-25

ถอดความอย่างละเอียดจากข้อความในหนังสือ "One Man's View of the World" ที่ ลี กวนยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ผู้ล่วงลับ แสดงทัศนะต่อ 'ทักษิณ ชินวัตร' และชี้ว่าการเมืองไทยไม่มีทางกลับไปเป็นแบบเก่าอีกต่อไปหลังยุคทักษิณ

24 มี.ค. 2558 ในหนังสือ "มุมมองต่อโลกของคนๆ หนึ่ง" (One Man's View of the World) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นบทความและบทสัมภาษณ์ ลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญของสิงคโปร์ที่เสียชีวิตไปเมื่อไม่นานนี้ มีส่วนหนึ่งที่ลีกวนยูได้พูดถึงประเทศไทย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเหตุการเสียชีวิตของลีกวนยูจึงมีการนำเรื่องนี้กลับมาพูดถึงอีกครั้ง โดยส่วนที่พูดถึงประเทศไทยในหนังสือเล่มดังกล่าวมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

000

ประเทศไทย : การกระตุ้นกลุ่มชนชั้นล่าง

การเข้าสู่อำนาจของทักษิณ ชินวัตร เปลี่ยนการเมืองไทยไปตลอดกาล ก่อนที่เขาจะขึ้นสู่อำนาจนั้น กลุ่มสถาปนาในกรุงเทพฯ ยึดกุมอำนาจทุกฝ่ายในการแข่งขันทางการเมืองและปกครองโดยเน้นให้ผลประโยชน์ต่อเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากก่อนหน้านี้จะมีการไม่ลงรอยกันในหมู่ชนชั้นนำกรุงเทพฯ ก็จะไม่ใช่ความขัดแย้งในระดับรุนแรงหรือมีการทะเลาะกันหนักมากเท่ากับช่วงหลังจากทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ สิ่งที่ทักษิณทำเป็นการก่อความยุ่งยากให้กับแผนการคงไว้ซึ่งสถานะทางอำนาจแบบเดิมโดยการนำทรัพยากรไปให้กับภาคส่วนที่ยากจนของประเทศที่ก่อนหน้านี้เคยถูกกีดกันมาก่อนโดยชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ ทักษิณเป็นเครื่องหมายของการเมืองแบบมีส่วนร่วมมากขึ้นที่ทำให้ชาวนาในภาคเหนือและภาคอิสานได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย มีช่องว่างเกิดขึ้นอยู่ก่อนหน้าที่ทักษิณจะเข้ามาแล้ว เป็นช่องว่างซึ่งสร้างขึ้นโดยนโยบายแบบเน้นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางจากผู้นำทางการเมืองก่อนหน้านี้ สิ่งที่ทักษิณทำเป็นแค่การปลุกประชาชนให้ตื่นรู้ว่ามีช่องว่างนี้อยู่ ให้เห็นว่ามีความไม่เป็นธรรมจากช่องว่างนี้ และใช้นโยบายเพื่อแก้ไขถมช่องว่างดังกล่าว ต่อให้ทักษิณไม่ทำ ผมก็เชื่อว่าใครสักคนก็จะคิดได้แล้วทำแบบเดียวกัน

เมื่อตอนที่ทักษิณขึ้นเป็นนายกฯ ในปี 2544 ตัวเขาก็เป็นนักธุรกิจและเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่ชาวไทยผู้ร่ำรวยคนใดที่หวังว่าเขาจะแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชนชั้นคนรวยด้วยกันพวกเขาก็จะผิดหวังในอีกไม่นานหลังจากนั้น ทักษิณใช้นโยบายเอาใจคนยากจนในชนบทในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เขาขยายแหล่งเงินกู้ให้ชาวนา ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่มาจากครอบครัวชนบท และรัฐบาลให้การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยแก่คนยากจนในเมืองซึ่งส่วนมากย้ายถิ่นเข้าไปในเมืองเพื่อไปหางานทำและมีรายได้มากพอแค่อยู่ในสลัม ระบบประกันสุขภาพของเขามุ่งเป้าช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถจ่ายเงินประกันการรักษาพยาบาลของตัวเองได้ จึงให้มีการจ่ายเงินเพียง 30 บาท ต่อการเข้าโรงพยาบาลในแต่ละครั้ง

สำหรับศัตรูของทักษิณแล้วนี่ถือเป็นการพลิกโฉมประเทศแบบหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาไม่ยอมปล่อยให้ทักษิณรอดไปได้ พวกเขาเรียกทักษิณว่าเป็นพวกประชานิยมและอ้างว่านโยบายของเขาจะทำให้รัฐล้มละลาย (แต่ก็น่าแปลกที่พอพวกเขายึกอำนาจในช่วงเดือน ธ.ค. 2551 ถึง ส.ค. 2554 พวกเขาก็ยังดำเนินนโยบายเหล่านี้ต่อหลายนโยบาย อีกทั้งยังคิดนโยบายอื่นออกมาคล้ายกันด้วย) พวกเขากล่าวหาว่าทักษิณทุจริตคอร์รัปชั่นและเอื้อผลประโยชน์ต่อครอบครัวของพวกเขาเอง ซึ่งเป้นข้อกล่าวหาที่เขาปฏิเสธ นอกจากนี้พวกเขายังไม่พอใจวิธีการที่เขาเข้มงวดกับสื่อซึ่งในบางคนบอกว่าเป็นเผด็จการต่อสื่อรวมถึงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับสงครามยาเสพติตในทางตอนใต้ของประเทศโดยในช่วงเวลานั้นไม่มีกระบวนการทางกฎหมายและบางครั้งก็ไม่สนใจต่อสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวนาที่มีอยู่จำนวนมากก็ไม่สนใจคำวิจารณ์เหล่านี้และยังคงเลือกเขากลับมาอีกในปี 2548 กลุ่มชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เริ่มทนไม่ไหว ทำให้เขาถูกรัฐประหารโดยกองทัพในปี 2549 ในที่สุด

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองหลวงของไทยก็ประสบแต่ความวุ่นวาย มีฉากความโกลาหลเกิดขึ้นซ้ำๆ บนท้องถนนของกรุงเทพฯ นับตั้งแต่ปี 2551 มีทั้งการชุมนุมใหญ่ของเสื้อเหลืองผู้ที่ต่อต้านทักษิณโดยอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ หรือการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงที่มาจากผู้สนับสนุนทักษิณอย่างหนักแน่น แต่ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดในปี 2554 ซึ่งทำให้น้องสาวของทักษิณ คือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นการพิสูจน์ให้เห็นโดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในไทยว่าทักษิณได้เปิดทางใหม่ให้กับประเทศไทย ชาวนาทางภาคเหนือและภาคอิสานของประเทศเข้าใจความรู้สึกของการเข้าถึงทุนได้ และพวกเขาก็จะไม่ยอมให้ใครมาแย่งไป ทักษิณและพวกของเขาเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไปติดกันทั้งในปี 2544, 2548, 2549, 2550 และ 2554 สำหรับศัตรูของทักษิณแล้ว การพยายามห้ามกระแสเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ถึงจะมีความปั่นป่วนในสังคมไทยในช่วงไม่นานมานี้ แต่ก็มีสิ่งที่ชวนให้มองโลกในแง่ดีได้ในระยะยาว ยังไงเสื้อแดงก็จะมีคนจำนวนมากกว่ากลุ่มเสื้อเหลืองเป็นเวลาอีกนาน เพราะกลุ่มเสื้อเหลืองมาจากกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยลง กลุ่มคนรุ่นเด็กกว่าก็ไม่ค่อยมองราชวงศ์อย่างเคารพนับถือมากเท่าเดิมแล้ว

กองทัพมักจะมีบทบาทหลักในการเมืองไทยเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เป็นการต่อต้านระบอบกษัตริย์ ซึ่งกองทัพใช้ทำให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้นได้ ตัวกองทัพเองก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยอมรับและปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่สามารถต้านทานเจตจำนงค์ของกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้ไปอีกนาน และเมื่อเวลาผ่านไปตำแหน่งของเหล่าทหารจะถูกแทนที่ด้วยทหารในรุ่นที่เด็กกว่าซึ่งมีความซาบซึ้งในระบอบกษัตริย์น้อยกว่า ผู้นำทหารจะยังคงพยายามรักษาสิทธิพิเศษของตัวเองต่อไปและไม่ยอมให้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกองทัพธรรมดา แต่พวกเขาก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับรัฐบาลที่มาจากพรรคพวกของทักษิณ มันถึงขั้นเป็นไปได้ว่ากองทัพจะยอมรับให้ทักษิณกลับเข้าประเทศไทยในที่สุดถ้าหากทักษิณสัญญาว่าจะเป็นพวกเดียวกับพวกเขาและไม่ตามล้างแค้น

ไม่มีทางอีกแล้วที่ประเทศไทยจะกลับไปสู่การเมืองแบบเก่าในยุคก่อนทักษิณที่ชนชั้นนำในกรุงเทพผูกขาดอำนาจไว้กับตนเอง ประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปตามทางที่ทักษิณเคยนำทางมาก่อนหน้านี้ ช่องว่างคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วประเทศจะลดลง ชาวนาจำนวนมากจะเปลี่ยนตัวเองเป็นชนชั้นกลางได้และจะช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยจะเป็นไปด้วยดี

000

คำถาม : มีนักวิเคราะห์ชาวไทยที่ไม่ได้มองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย
นับตั้งแต่การเข้ามาของทักษิณ พวกเขามักจะพูดว่าในช่วงยุค 2533-2542 มีนายกรัฐมนตรีที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายในระยะยาว แต่เมื่อทักษิณเข้าสู่อำนาจในปี 2544 รัฐบาลก็ใช้วิธีที่ให้ผลในระยะสั้นอย่างนโยบายประชานิยมโดยการแจกจ่ายให้คนจน

คำตอบ : ไม่จริง นั่นเป็นมุมมองแบบด้านเดียวมากๆ ทักษิณมีไหวพริบและความฉลาดมากกว่าคนที่วิจารณ์เขา เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงเอาใจชาวตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อแก้ปัญหาการต่อต้านจากพวกเขา

คำถาม : แต่ผมคิดว่ามันมีเรื่องความกังวลว่าจะเป็นการแข่งกันลงเหวในการพยายามชนะคะแนนเสียงชาวชนบทมากที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือเปล่า

คำตอบ : หมายถึงว่าเงินที่แจกได้รับมาจากไหนใช่ไหม

คำถาม : นั่นเป็นปัญหา

คำตอบ : ไม่เลย ก่อนที่คุณจะให้เงินแจก คุณจะต้องมีทรัพยากรก่อน ซึ่งมันจะมาจากรายได้และถ้าหากคุณต้องการให้มากกว่าเดิม และรายได้ถึงระดับสมดุลแล้ว คุณก็ต้องเก็บภาษีเพิ่ม

คำถาม : หรือมันอาจจะมาจากการกู้ยืมก็ได้

คำตอบ : ใครจะให้ยืมล่ะ แล้วใช้สินทรัพย์อะไรค้ำประกัน

คำถาม : ท่าทางคุณคิดว่าประเทศไทยจะไม่อยู่ในภาวะชะงักงันยาวนานจากการลงไปสู่นโยบายแบบประชานิยมเช่นนั้นหรือ

คำตอบ : คงไม่หรอก ทำไมพวกเขาถึงต้องพยายามตามใจเหล่าคนยากไร้มากเกินความจำเป็นด้วย

คำถาม : คุณประทับใจอะไรในตัวทักษิณ

คำตอบ : เขาเป็นผู้นำที่ลงมือทำ เป้นผู้ที่ทำงานหนักเพื่อจะให้เห็นผลได้เร็ว เขาเชื่อมั่นใจประสบการณ์จากธุรกิจของตนเองและเชื่อในสัญชาติญาณมากกว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เขาเคยบอกผมว่าเขาเคยนั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ แล้วเขาก็ตัดสินใจว่าเขารู้แล้วว่าอะไรที่ทำให้เมืองสิงคโปร์ไปได้ดี ดังนั้นเขาถึงคิดจะทำแบบเดียวกัน ผมไม่รู้ว่าแค่การเดินทางครั้งเดียวจะทำให้เขาเข้าใจเคล็ดลับของพวกเราหรือเปล่า เคล็ดลับที่ว่าคือเรื่องการศึกษา ทักษะ การฝึกอบรม และสังคมที่เชื่อมโยงถึงกันโดยให้โอกาสเท่ากันแก่ทุกคน คุณต้องไม่ลืมว่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคนเชื้อสายลาวอยู่มากกว่าชาวไทย

คำถาม : มีช่วงเวลาอย่างน้อยก็สักทศวรรษที่แล้วเมื่อผู้นำสิงคโปร์กำลังหารือกันว่าไทยเป็นคู่แข่งรายสำคัญของสิงคโปร์ ในฐานะการขนส่งลำเลียง การผลิต และแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการรักษาทางการเแพทย์ ในตอนนี้ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ไหม

คำตอบ : ดูจากภูมิศาสตร์แล้ว การขนส่งทางเรือคุณเลี่ยงกรุงเทพฯ ได้ แต่คุณเลี่ยงสิงคโปร์ไม่ได้

คำถาม : แล้วทางอากาศล่ะ

คำตอบ : พวกเขามีทักษะและการศึกษาสูงขนาดไหน พวกเขาต้องมีมากกว่าเราให้ได้

คำถาม : แล้วพวกเขามีศักยภาพที่จะดีกว่าพวกเราไหม

คำตอบ : อย่างแรก พวกเรามีข้อได้เปรียบจากภาษาอังกฤษ อย่างที่สอง พวกเรามีโครงสร้างการศึกษาที่สร้างคนที่จบมาให้มีคุณภาพสูง คนที่จบจากโปลิเทคนิคหรือสถาบันการศึกษาด้านการช่าง ไม่มีใครเลยที่จบออกมาโดยไม่มีทักษะติดตัว พวกเขาจะสามารถพัฒนาประชาชน 60 ล้านคนที่กระจายอยู่ทั่วชนบทได้หรือไม่

คำถาม : เราขอถามเรื่องภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคนี้ได้หรือไม่ ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ เคยถูกใช้เป็นฐานทัพโดยสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนาม พวกเขาจะยังคงเป็นพันธมิตรกันต่อไปไหม

คำตอบ : มันไม่ต่างกันเลย คำถามจริงๆ คือ พวกเขามีผลประโยชน์ไปในทางเดียวกันหรือไม่ คุณอาจจะมีพันธมิตรแต่มันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อพวกคุณมีผลประโยชน์ไปในทางเดียวกัน เหมือนกับองค์กรนาโต้ พวกเขารวมตัวกันตอนที่มีสหภาพโซเวียต เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย นาโต้ก็ไร้ประโยชน์

คำถาม : มีมุมมองหนึ่งระบุว่าจุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อประเทศไทยเผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2540 และประชาชนก็เล็งเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มาช่วยเหลือพวกเขา แล้วหลังจากนั้นพวกเขาอาจจะตัดสินใจตั้งแต่ตอนนั้นว่าจีนอาจจะเป็นเพื่อนที่พึ่งพาได้มากกว่า

คำตอบ : เพราะผลประโยชน์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ลดลงตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนาม

คำถาม : คุณมองไทยโต้ตอบกับการเติบโตขึ้นของอิทธิพลและการแผ่ขยายอำนาจของจีนในภูมิภาคนี้

คำตอบ : คุณก็รู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทย ตอนที่ญี่ปุ่นเข้มแข็งและกำลังจะบุกโจมตีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พวกเขาอนุญาตให้กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย ทำให้พวกเขาเคลื่อนพลไปมาเลเซียและสิงคโปร์ง่ายขึ้น และไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ ใครก็ตามที่เป็นฝ่ายมีอำนาจมากกว่า ไทยก็จะไปเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายนั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
The Soft Truth of Lee Kuan Yew - A Tribute to a Great Man with BIG Heart
https://www.youtube.com/watch?v=ZGKQQuwVsfU