วันอาทิตย์, มีนาคม 01, 2558

มาเต็ม! "จาตุรนต์" ซัด รธน.ปชต.ครึ่งใบ ส.ว.ลากตั้งอำนาจล้นฟ้า วางนายกฯคนนอก วิกฤต!



ที่มา มติชนออนไลน์

“จาตุรนต์” ซัดร่างรธน.ประชาธิปไตยครึ่งใบ ให้อำนาจส.ว.ลากตั้งล้นฟ้า จำกัดอำนาจประชาชน วางนายกฯคนนอก กุมอำนาจเบ็ดเสร็จบริหารประเทศ สืบทอดผู้มีอำนาจ ชี้หลังเลือกตั้งวิกฤตขัดแย้งหนัก ทำชาติเสียหายอีกหลายปี


เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 200 คน มาจากกการสรรหา ขณะที่นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ไม่จะเป็นต้องเป็นส.ส.ว่า ร่างรัฐธรรมนูญตามที่ยกร่างมาถึงวันนี้ จะเป็นการสร้างวิกฤติทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม การเลือกตั้งมีก็จะเหมือนไม่มี คือไม่มีความหมาย ประชาชนได้ไปเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถเลือกผู้บริหารประเทศได้ ในที่สุดจะได้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้จากความต้องการประชาชน และประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ การที่เขียนด้วยคนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่ เผื่อไว้วิกฤต แต่เขียนไว้แบบนี้เท่ากับบอกว่าคนนอกเท่านั้นที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะถ้าผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าตั้งรัฐบาลได้ในช่วงแรกก็จะถูกถอดถอนโดยส.ว.ลากตั้ง ซึ่งรวมเสียงฝ่ายค้านอีกไม่เท่าไร สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นผู้ที่กำหนดความเป็นมาเป็นไปของรัฐบาลก็คือ ส.ว.ลากตั้ง ซึ่งจะมีอำนาจล้นฟ้า เมื่อมีการเลือกตั้งขึ้นมาในที่สุด นักการเมืองจำนวนมากก็จะเรียนรู้ว่า ผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงคือ ส.ว.แล้วก็ต้องดูว่าวุฒิสภาจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี การเมืองก็กลับไปเหมือน 30 ปีก่อน คือเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ว่ายังจะเลวร้ายกว่านั้น ยังมีองค์กรอิสระ สภาคุณธรรม จริยธรรม และกลไกอื่นๆอื่นมากำกับ มาจัดการรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง ก็เท่ากับเป็นการผสมความไม่เป็นประชาธิปไตย ระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2521 กับรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย วางกลไกขั้นตอนต่างๆในการที่จะทำให้ประชาชนไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียงใดๆ

“ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้จะเกิดวิกฤตหลังเลือกตั้งไม่นาน เมื่อประชาชนพบว่าเลือกตั้งไปแล้วไม่มีประโยชน์อะไรเลย วิกฤติของประเทศจะรุนแรงมากย่ิงขึ้น เมื่อสังคมพบว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย และแก้ไขไม่ได้ด้วย เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญนี้เขียนป้องกันไว้ไม่ให้มีการแก้ไข ทั้งโดยการให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน และต้องเป็นประชามติเสียก่อน เป็นการกันไม่ให้ผู้ที่เคยเป็นรัฐบาลกลับมาเป็นรัฐบาล ต่อมาเหมือนมีเจตนาต้องการมากกว่านั้น การจำกัดบทบทผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และต่อมาเกินเลยถึงขั้นที่จำกัดอำนาจของประชาชนทั้งหมด สร้างการปกครองที่ผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรที่ไม่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ จุดประสงค์นี้ต้องการสร้างระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และให้ใช้ไปอีกนาน”นายจาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามว่า วิกฤติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังเลือกตั้ง ที่ว่าคืออะไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ถ้าให้ประเมินตอนนี้ ถ้ารัฐธรรมนูญแบบนี้ออกมาใช้ได้ ความขัดแย้ง และความไม่พอใจอาจจะไม่รุนแรงในทันที ในขั้นต้นจะเกิดความไม่พอใจในระดับหนึ่งก่อน ประชาชนพบว่าการเลือกตั้งไม่มีความหมาย ประชาชนไม่มีสิทธิเลือกผู้บริหารประเทศได้จริบง ความขัดแย้งมากขึ้นจนมีวิกฤติคือเมื่อบริหารประเทศไทย แล้วมีรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชน และเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกลุ่มบุคคลที่มาจากการลากตั้ง และการบริหารประเทศไม่เป็นประโยชน์ กับประชาชน สร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง ถึงเวลานั้นความขัดแย้ง ความไม่พอใจจะรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้ไปบ้านเมืองไปสู่จุดนั้น หมายความว่าจะต้องผ่านความเสียหายไปอีกหลายปี ก่อนที่จะไปสู่ความเสียหายที่ใหญ่หลวงกว่านั้น

นายจาตุรนต์ กล่าวว่าเขียนรัฐธรรมนูญกันอย่างนี้ ไม่รู้เอาประชาชนไปไว้ที่ไหน การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมาย มีแต่นำสู่จุดที่มีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก โดยเจตนาต้องการให้เกิดรัฐบาลที่วุฒิสภา องค์กรอิสระสามารถกำกับควบคุมได้ แต่เขาไม่ได้เขียนให้เป็นอย่างนั้นในทันที ฝ่ายนักการเมืองก็จะเรียนรู้ว่ารัฐบาลที่ไม่ได้รับการสนับสนุนคำจุนด้วยวุฒิสภาและองค์กรอิสระ รัฐบาลนั้นก็ไม่มีทางดำรงอยู่ได้ ในที่สุดก็เกิดการยินยอมจับมือกัน ระหว่างนักการเมืองกับส.ว.ลากตั้ง เท่ากับเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง สืบทอดจากผู้มีอำนาจในปัจจุบันนั้นเอง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแบบนี้ได้ทำลายการแบ่งแยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไปหมดแล้ว คือองค์กรอิสระไม่รู้อยู่ตรงไหนอำนาจอธิปไตยทั้งสาม ขณะที่ส.ว.มีอำนาจล้นฟ้า ตามปกติถือว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่มาจากการลากตั้งแล้วยังมีอำนาจออกกฎหมายเอง และสามารถให้คุณให้โทษฝ่ายบริหารได้ด้วย เท่ากับเป็นการทำลายการแบ่งแยกอำนาจซึ่งเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย