วันพุธ, มีนาคม 11, 2558

"พ่อไม่ใช่ปูชนียบุคคล! ผมรังเกียจการบูชาพ่อผม" เสียงจากลูก"ป๋วย อึ๊งภากรณ์"



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

คนไทยน่าจะรู้จัก ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เคยเป็นผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย สมาชิกขบวนการเสรีไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2508 และเป็นเจ้าของข้อเขียน "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"

นอกจากนี้ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับประวัติศาสตรการเมืองไทยครั้งสำคัญหลายครั้ง ตั้งแต่การเป็นเสรีไทย การปกครองช่วงเผด็จการทหาร เหตุการณ์ 14 ตุลา และ เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นต้น จนมีอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

และในทุกๆปีก็จะมีการจัดงานรำลึกถึงป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะบุคคลสำคัญทางวิชาการและสังคมของไทย ล่าสุดคือการจัด สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษา คสช. มาร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานรำลึก 100 ปีชาติกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จนถูกคัดค้าน เพราะมองว่าทั้งสองคนไม่เหมาะ เพราะรับใช้รัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ ดร.ป๋วย คัดค้านมาโดยตลอด

ที่ผ่านมามีการตีความ ช่วงชิงความหมายและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์เรื่อยมา ไม่ว่าจะมอง ป๋วย อึ้งภากรณ์ จากมุมไหนก็ตาม แต่เสียงที่สำคัญที่ไม่ควรละเลย คือเสียงของบุตร ป๋วย อึ้งภากรณ์เอง


คนแรกคือจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นเนื่องในโอกาส วันครบรอบ 99 ปี “ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ไว้ว่า ไม่อยากให้สังคมไทยยกย่องพ่อของตน ในฐานะปูชนียบุคคล ที่ต้องสรรเสริญ เพราะอยากให้คุณพ่อเป็นคนธรรมดา ที่สามารถวิพากษ์ วิจารณ์ได้


"ผมไม่อยากให้สังคมไทยเอาพ่อผมไปบูชา ยกย่อง สรรเสริญ เพราะนั่นเป็นการทำลายคุณพ่อ บิดเบือนคุณพ่อ หากินจากชื่อคุณพ่อ ผมอยากให้สังคมเอาคุณพ่อผมมาศึกษา เรียนรู้ วิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง นั่นทำให้คุณพ่อผมยังมีชีวิตอยู่ยั่งยืน เป็นคนในสามมิติ ไม่ใช่สองมิติ"

"คุณพ่อผมไม่ใช่ปูชนียบุคคล แต่เป็นคนธรรมดาที่มีความสามารถ อุดมการณ์ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ความขยันและอดทน และบังเอิญได้รับโอกาสการสนับสนุนจากทั้งรัฐและจากคุณแม่ของผม จึงสามารถสร้างผลงานที่ยั่งยืนและเป็นที่ประจักษ์ จึงเป็นคนที่น่าศึกษาเรียนรู้"

"แต่ขณะเดียวกันคุณพ่อมีจุดอ่อนหลายอย่าง บางครั้งก็ไม่กล้าพอ อุดมการณ์และโลกทัศน์ของคุณพ่อมีวิวัฒนการที่ชัดเจนและน่าจะสุกงอมที่สุด(ในมุมมองของผม)หลังเหตุการณ์หกตุลาในหลายเรื่องคุณพ่อยังมีความคิดอนุรักษ์เสมอ"

"สิ่งที่ผมรังเกียจคือการบูชาคุณพ่อผม การบิดเบือนคุณพ่อผม การหากินจากชื่อของคุณพ่อผมและการเปลืองงบประมาณมาสร้างวัตถุไร้สาระในนามการระลึกถึงคุณพ่อผม"

สิ่งที่ผมสนับสนุนคือการนำผลงานและข้อเขียนของคุณพ่อมาศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง และเผยแพร่ให้สังคมได้เรียนรู้คุณพ่อต่อไป



จอน อึ๊งภากรณ์


ขณะที่ใจ อึ๊งภากรณ์ นักเคลื่อนไหวทางวิชาการและการเมือง อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร เพราะเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของไทย แสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊กส่วนตัวสอดคล้องกันว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นคนธรรมดา และไม่ใช่นักปลุกระดมประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยโดยปัจเจก ไม่เคยรับตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลใดๆและไม่เห็นด้วยกับการแสดงความเคารพป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในลักษณะรูปเคารพ และที่สำคัญคือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์มีอุดมการณ์ที่ต่อต้านการคอร์รับชั่นของทหารและข้าราชการอื่นๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น เขาไม่เคยรับเงินเดือนจากสองหรือสามตำแหน่งพร้อมกัน

"ผมไม่ค่อยชอบการที่ธรรมศาสตร์สร้างรูปปั้นพ่อผมขึ้นมา ลึกๆ แล้วอยากให้ทุบทิ้ง เพราะในบริบทสังคมไทยมันเป็นการยกระดับพ่อผมเป็นเทวดา มีคนไปจุดธูปไหว้ อาจขอหวย อาจขอคะแนนดีๆ ในวันสอบ แต่พ่อผมไม่เคยเชื่อในเทวดา เมื่อแปดปีก่อน มีเพื่อนผมจากมาเลเซียคนหนึ่งมองขึ้นไปที่รูปปั้นนั้นแล้วพูดหยอกผมว่า “คิดว่าเป็นรูปปั้น เหมา เจ๋อ ตุง” ..."

นอกจากนี้ ใจ ยังไม่เห็นด้วยกับการมองว่า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใจกว้างยอมรับอำนาจที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการพยายามยัดเยียดคำพูดและความคิดใส่คนที่เสียชีวิตไปแล้ว

"การมาคาดเดาว่าถ้า ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังมีชีวิตอยู่ในยุคนี้ เขาจะคิดอย่างไรกับวิกฤตการเมืองไทย เป็นเรื่องไร้สาระ และเป็นการพยายามยัดคำพูดและความคิดใส่คนที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ใครที่จะมาอ้างว่า ป๋วย เห็นด้วย หรือพร้อมจะ “ใจกว้างยอมรับ” กับการก่อรัฐประหาร เผด็จการทหาร หรือการทำลายประชาธิปไตย ก็คงเป็นคนที่โกหกเพื่อแสวงความชอบธรรมให้ตนเอง

ไม่ว่าประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่อง "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" จะถูกมองและตีความไปในแง่มุมใดๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการย้อนกับไปอ่านงานของป๋วย ด้วยตนเอง และมองหาคุณความดีที่คนในอดีตทิ้งไว้ เพื่อนำมาปรับใช้กับปัจจุบัน โดยเฉพาะเเนวคิดสำคัญของป๋วย คือคิดเพื่อผู้อื่นเสมอ แม้ตอนสิ้นชีวิต ดังคำกล่าวสำคัญ จากข้อเขียน "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ที่ว่า

"ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป"


...

เรื่องเกี่ยวเนื่อง...

แถลงข่าว 99 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ ปาฐกถา “เทคโนแครต กับ เศรษฐกิจไทย”

https://www.youtube.com/watch?v=Pm9ePFcq5jA


ปาฐกถา ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 14 "พิศ(ษ)ผู้หญิงในชีวิตของสันติวิธี"
https://www.youtube.com/watch?v=a-CPJRP87sY