วันอังคาร, มีนาคม 03, 2558

เลือก-ลากตั้ง : บทนำมติชน

ภาพจากคมชัดลึก

วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2558
บทนำมติชน

เมื่อปี 2556 ครั้งที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ ส.ว.มาจากเลือกตั้ง และไม่ห้ามญาติพี่น้องของ ส.ส.ลงสมัคร ได้เกิดปฏิกิริยาร้อนแรงจากบางกลุ่ม โดยใช้คำว่า "ชำเรารัฐธรรมนูญ" และวิจารณ์ว่าจะนำไปสู่ "สภาผัวเมีย" ที่ถือเป็นความอัปยศชั่วร้ายของนักเลือกตั้งที่ฉวยโอกาสใช้ประชาธิปไตยหาประโยชน์เพื่อญาติพี่น้องและหมู่คณะ

ในระยะนั้นมีงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่า การเมืองไทยอยู่ภายใต้ระบบตระกูล โดยพบว่าตระกูลการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุดคือ เพื่อไทย 19 ตระกูล ประชาธิปัตย์ 17 ตระกูล ภูมิใจไทย 4 ตระกูล ชาติไทยพัฒนา 3 ตระกูล พลังชล 1 ตระกูล รักประเทศไทย 1 ตระกูล ฯลฯ สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยุติไป เพราะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ

รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 นำการเมืองไทยเข้าสู่ยุคปฏิรูป มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มาทำหน้าที่รัฐสภา สมาชิก 220 คนมาจากสรรหา ด้วยความเชื่อว่าเป็นวิธีดีที่สุดในการนำ "คนดี" มาบรรจุสู่กลไกทางการเมือง แต่ล่าสุดเพิ่งมีข่าวตีแผ่ว่า มี สนช.ถึง 50 คน รวมถึงกลุ่ม 40 ส.ว. ได้นำเอาภรรยา สามี ลูก ญาติ มารับตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ช่วยดำเนินงาน กินเงินเดือน 15,000-24,000 บาท

เท่ากับว่า สนช.ได้กลายเป็น "สภาผัวเมีย" ไปแล้ว ซ้ำรอยสภาเลือกตั้งในอดีต แต่ ไม่มีวี่แววเลยว่าสมาชิก สนช.จะเห็นว่าผิดปกติ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ชี้แจงว่าระเบียบข้อบังคับของสภาไม่ได้ห้าม สนช.ตั้งลูกเมียและเครือญาติ คำชี้แจงแบบนี้ชวนให้คิดว่า หากเกิดขึ้นในยุคสภาเลือกตั้ง คงจะนำไปสู่วิวาทะที่ดุเดือดระหว่างฝ่ายที่ยึดข้อกฎหมายกับฝ่ายที่ยึดหลักจริยธรรม คุณธรรม และความเหมาะสมอย่างแน่นอน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน สนช.จึงขัดกับมาตรฐานที่หลายคนใน สนช.เคยยกขึ้นเรียกร้องจากสภาเลือกตั้งอย่างเข้มงวด เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติ 2 มาตรฐาน คือกล่าวหาผู้อื่นแต่ยกเว้นให้ตัวเอง หาก สนช.ยืนยันไม่ยอมรับมาตรฐานสภาผัวเมีย ก็ควรให้บรรดาเครือญาติพ้นจากหน้าที่ คืนผลประโยชน์ต่างๆ ให้กับแผ่นดิน เว้นแต่ สนช.จะเห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องจำเป็น หากเป็นเช่นนั้น ในอนาคตไม่ควรไปเรียกร้องจากบุคคลอื่นในลักษณะนี้อีก