วันอาทิตย์, มีนาคม 15, 2558

ปชช.โผล่ถือป้ายต้านรบ. หน้าที่พัก"บิ๊กตู่"ขณะหารือทวิภาคีเลขาฯยูเอ็นที่ญี่ปุ่น + ฮิวแมนไรท์สวอทช์ จี้"ญี่ปุ่น-ยูเอ็น"กดดันไทยยุติระบอบทหาร ระหว่างกำหนดการเยือนญี่ปุ่น




ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

เมื่อวันที่ 14 มี.ค. เพจเฟซบุ๊ก "เสรีไทย ปราบกบฎ 2014" ได้เผยแพร่ภาพ พร้อมข้อความที่อ้างว่าเป็นบรรยากาศหน้าโรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พักอยู่ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่า ด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 มี.ค. ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น

อนึ่ง คณะเดินทางครั้งนี้ มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย น.พ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมเดินทาง เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ ของการประชุมด้วย

โดย ในเวลา 12.00 น. วันที่ 13 มี.ค. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) โดยเครื่องบินพิเศษของกองทัพอากาศ ไปยังท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเดินทางถึงท่าอากาศยานฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง เดินทางไปยังโรงแรมอิมพีเรียล ซึ่งเป็นโรงแรมที่พัก 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ส่วนในวันที่ 14 มี.ค. ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางออกจากกรุงโตเกียวไปยังเมืองเซนได โดยรถไฟความเร็วสูง (ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 31 นาที) เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ณ Sendai International Center หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะหารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ห้อง Conference 4 อาคาร Sendai International Center  ก่อนที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันผู้นำ 

ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมการประชุม ณ Sendai International Center ส่วนช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะได้กล่าวถ้อยแถลง ณ ห้อง Exhibition Hall 2 อาคาร Sendai International Center  และร่วมหารือทวิภาคีกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางกลับประเทศไทย โดยเครื่องบินพิเศษของกองทัพอากาศ และเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ในเวลา 23.50 น. ในวันเดียวกันนี้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การชูป้ายในลักษณะข้างต้นนั้น เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ เดินทางเพื่อเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการตามคำเชิญนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. ที่ผ่านมา

พล.ต.สรรเสริญ 
แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่จะมีใครออกมาต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ การต่อต้านหรือไม่ต่อต้านนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้อยู่แล้ว แต่สาระสำคัญอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อทำงานของชาติ ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นในหลายๆ ประการ


ooo

ภาพเพิ่มเติมจาก Internet for Freedom ต้อนรับนายก



 ooo

ฮิวแมนไรท์สวอทช์ จี้"ญี่ปุ่น-ยูเอ็น"กดดันไทยยุติระบอบทหาร ระหว่างกำหนดการเยือนญี่ปุ่น



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

จากเว็บไซต์ฮิวแมนไรท์สวอทช์ องค์กรเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซะ อาเบะ และนายบัน คี-มุน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ กดดันให้ผู้นำทหารของไทยยุติการจับกุมด้วยเหตุผลทางการเมือง และยุติการปิดกั้นการแสดงออก รวมทั้งให้ยืนยันว่าจะถ่ายโอนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด ในระหว่างการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 13-14 มีนาคมนี้ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งผู้นำรัฐบาลทหารของไทยมีกำหนดการณ์ในการเจรจาแบบทวิภาคีกับทั้งนายอาเบะ และนายบันด้วย

ฮิวแมนไรท์สวอทช์ กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 10 เดือน นับแต่การยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2014 คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ยังคงละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ยังมิได้มีผลงานให้เห็นเป็นรูปธรรมในการฟื้นฟูระบบการปกครองภายใต้อำนาจของประชาชน

ในการประชุมกับพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอาเบะกล่าวว่า "ญี่ปุ่นคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะเดินหน้าในการสร้างความปรองดองและคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด"ในครั้งนั้นพล.อ.ประยุทธ์ได้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี2015หรือต้นปี2016และจะเร่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์สวอทช์กล่าวว่า "นายกรัฐมนตรีอาเบะ และเลขาธิการฯบัน จะต้องกดดันให้พล.อ.ประยุทธ์รักษาสัญญาที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและต้องเรียกร้องให้มีการกำหนดระยะเวลาของการสิ้นสุดการปกครองด้วยระบอบทหารในประเทศไทย"

ในการเจรจากับพล.อ.ประยุทธ์นายอาเบะควรนำวิสัยทัศน์ที่เคยประกาศในปี2013เรื่องการทูตบนค่านิยมพื้นฐานแห่งเสรีภาพ,ประชาธิปไตย,สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและหลักนิติรัฐมาปรับใช้ให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติกับประเทศไทย นายอาเบะควรเปลี่ยนจารีตทางการทูตที่นิ่งเฉยของรัฐบาลญี่ปุ่นมาเป็นการทูตที่มีนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในการมีส่วนร่วมและการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อสร้างความแน่ใจว่าสัญญาที่ผู้นำไทยได้ให้ไว้ได้รับ

การปฏิบัติตามอย่างจริงจังด้วยสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทั้งด้านการทูต,การเมือง,เศรษฐกิจและความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมทำให้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลอย่างสูงที่จะสามารถยกปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเจรจากับประเทศไทยณ ที่ประชุมคณะกรรมสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ได้ประกาศว่ารัฐบาลไทยถือการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ และประเทศไทยกำลังรณรงค์เพื่อหาเสียงสนับสนุนในการเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งจะมีการลงคะแนนในเดือนตุลาคมปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ไทยสัญญาว่าให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในด้านสิทธิมนุษยชน พล.อ.ธนะศักดิ์ กลับอ้าง "ความเฉพาะตัว" ของแต่ละประเทศ และชี้ว่าไทยไม่อาจใช้มาตรฐานแบบนานาชาติได้

นับแต่การยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว คสช.ไม่ได้สร้างความคืบหน้าในการคืนประชาธิปไตยในกับประชาชน ทั้งผู้นำคสช.และนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ ถืออำนาจเบ็ดเสร็จ โดยปราศจากการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการ หรือองค์กรตรวจสอบอื่นใด ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และอำนาจเผด็จการจากกฎอัยการศึกอายุนับร้อยปีได้ให้ความคุ้มครองแก่รัฐบาลทหารในการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดยคสช. ทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, สภาปฏิรูปแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่างมาจากคนของกองทัพ และผู้ภักดีต่อกองทัพทั้งสิ้น

คสช.ได้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันเป็นหัวใจสำคัญของการคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างรุนแรง และยังบังคับปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารของสื่อในการวิจารณ์กองทัพ กว่า 200 เว็บไซต์ รวมทั้งเว็บไซต์ของฮิวแมนไรท์สวอทช์ของไทยก็ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาลทหารด้วยข้ออ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

คสช.ได้ห้ามการรวมกลุ่มเกินกว่า5คนและห้ามการทำกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารมีประชาชนอย่างน้อย690คน ถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติโดยกองทัพ และถูกบังคับไม่ให้แสดงความเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะการแสดงความเห็นโต้แย้งคสช. ผู้ประท้วงที่ต่อต้านกองทัพต่างถูกจับกุมและถูกจับส่งขึ้นศาลทหารซึ่งทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับการต้องโทษจำคุกโดยไม่มีสิทธิอุทธรณ์เช่นเมื่อวันที่14กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้จับกุมกลุ่มนักกิจกรรมที่จัดกิจกรรมล้อการเลือกตั้งพวกเขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎอัยการศึกและต่อต้านอำนาจคสช.และถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร

การมองว่าการเสวนาทางการเมือง และความแตกต่างทางอุดมการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของชาติ คสช. ได้ใช้อำนาจล่วงล้ำไปสู่เขตแดนทางวิชาการ และห้ามการสัมมนาในประเด็นสิทธิมนุษยชน, ประชาธิปไตย และผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

"ไม่ว่าจะเคยสัญญาอะไรไว้บ้าง แต่สิ่งที่กองทัพกำลังทำในขณะนี้ คือการรวบอำนาจให้กับตนเองมากยิ่งขึ้น" นายอดัมส์กล่าว "แรงกดดันจากญี่ปุ่นและยูเอ็นเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก, ยุติการเซ็นเซอร์ และอนุญาตให้มีการวิจารณ์ทางการเมือง ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญสู่การคืนอำนาจประชาชนสู่ระบอบประชาธิปไตยของไทย"