วันอังคาร, มีนาคม 10, 2558

เอาแล้ว! โพลรับฟังความเห็นปชช. หนุนนายกฯมาจากส.ส. ฉีกหน้ากมธ.ยกร่างฯ


ที่มา มติชนออนไลน์

เมื่อเวลา 15.45 น. วันที่ 9 มีนาคม ที่รัฐสภา น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนางถวิลวดี บุรีกุล คณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2558 โดยนางถวิลวดี กล่าวว่า

คณะกรมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อนุกมธ.การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ร่วมกันจัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2558(ครั้งที่1) โดยคำถามเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงที่ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อนำข้อมูลเบื้องต้นไปใช้ประกอบเป็นแนวทางดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

โดยได้สำรวจประชาชนทั้งสิ้น5,800ราย ทั่วประเทศ ซึ่งรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5-11 มกราคมที่ผ่านมา สรุปได้ ดังนี้ ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด คือ ตั้งแต่ ร้อยละ 90 ขึ้นไปประกอบด้วยประเด็นดังนี้

1)ควรมีกฏหมายเกี่ยวกับกองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 97.1

2)ควรให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าชื่อเสนอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นได้คิดเป็นร้อยละ96.0

3)กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับชุมชนในการจัดสรรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นธรรมคิดเป็นร้อยละ95.6

4)การกำหนดนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมากต้องระบุที่มาของเงินว่ามาจากแหล่งใด คิดเป็นร้อยละ 95.5

5)ประชาชนควรมีสิทธิออกเสียงประชามติในเรื่องที่จะมีผลกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติและประชาชนคิดเป็นร้อยละ95.2

6)กรรมการองค์กรอิสระต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 94.3

7)ข้าราชการ/พนักงานของรัฐระดับสูง (ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไปหรือเทียบเท่า)ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะทั้งก่อนและหลังเข้ารับตำแหน่งคิดเป็นร้อยละ94.0

8)การสรรหากรรมการขององค์กรอิสระ ควรมีผู้แทนที่มาจากองค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาการ เอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชนร่วมด้วย คิดเป็นร้อยละ 93.9

9)ควรมีการกำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ คิดเป็นร้อยละ 93.2

10)ควรมีคณะกรรมการในการพิจารณาคัดเลือก แต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 92.6 11)ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอให้ออกจัดการออกเสียงประชามติได้ คิดเป็นร้อยละ 92.1

12)การสร้างหนี้ของประเทศต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา คิดเป็นร้อยละ 90.6

13)ควรทำการแยกแยะกำหนดโทษผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้อภัยแก่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและมิได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง เช่นทำร้ายร่างกายผู้อื่น ทำลายทรัพย์สิน คิดเป็นร้อยละ 90.5 14)ควรมีกลไกคุ้มครองสิทธิของข้าราชการประจำ คิดเป็นร้อยละ 90.1

นางถวิลวดี กล่าวต่อว่า ประชาชนเห็นด้วยปานกลาง คือ ตั้งแต่ร้อยละ 50-59 ประกอบด้วยประเด็นดังนี้
1)นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ด้วย คิดเป็นร้อยละ 58.9

2)นายกรัฐมนตรีควรมาจากความเห็นชอบของ ส.ส. คิดเป็นร้อยละ 58.6

3)การเลือกตั้ง ส.ส. เขตเห็นด้วยควรเป็นเขตเล็ก คือ1 เขต มี ส.ส. ได้ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 58.0

4)ควรกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ในการยื่นแบบการแสดงรายการภาษีเงินรายได้ต่อรัฐ คิดเป็นร้อยละ 56.4

5)จำนวนประชากรที่เหมาะสมในการมีสิทธิเข้าชื่อเข้าร้องขอให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง20,000 (เท่าเดิมเหมือนเดิม)คิดเป็นร้อยละ 56.4

6)ควรมีการกำหนดสัดส่วนของผู้แทนสภาท้องถิ่นที่เป็นผู้หญิงเพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้แทนสภาท้องถิ่นที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นควรกำหนดสัดส่วน คิดเป็นร้อยละ55.7

7)จำนวนประชากรที่เหมาะสมในการมีสิทธิเข้าชื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50,000 (เท่าเดิมเหมือนเดิม) คิดเป็นร้อยละ 55.6

8)จำนวนประชากรที่เหมาะสมในการมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 (เท่าเดิมเหมือนเดิม) คิดเป็นร้อยละ 55.2

9)การกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ ส.ว. ในแต่ละวาระไว้ที่ 6 ปี ไม่เหมาะสม คิดเป็นร้อยละ 55.0

10) ควรมีศาลเพื่อตั้งวินิจฉัยชี้ขาดการเลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 54.9

11)ควรจำกัดให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน กี่วาระ ควรจำกัดให้ดำรงคำแหน่งได้สองสมัย (แบบเดิม คือ 2 วาระหรือไม่เกิน 8 ปี )คิดเป็นร้อยละ 54.6

12)ประชาชนที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้นที่มีอำนาจ เช้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของตนเองได้ คิดเป็นร้อยละ 54.1

ส่วนที่ประชาชนเห็นด้วยน้อยที่สุด คือ ต่ำกว่า ร้อยละ 50 ประกอบด้วยประเด็นดังนี้

1)ฝ่ายการเมืองสามารถเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในระดับหัวหน้ากระทรวงได้ คิดเป็นร้อยละ 43.4 2)ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี คิดเป็นร้อยละ 43.3

3)ควรมีการกำหนดจำนวนครั้งของการดำรงตำแหน่งของส.ส. เพื่อไม่ให้อยู่ในการเมืองนานเกินไปไม่ควรจำกัดจำนวนครั้ง (เหมือนเดิม) คิดเป็นร้อยละ 37.8

4)ควรให้บุคคลทุกสัญชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับสิทธิทุกประการเหมือนกับคนไทย คิดเป็นร้อยละ 20.3

5)หากจะยกเลิกการลงโทษด้วยการประหารชีวิต คิดเป็นร้อยละ 18.0

เมื่อถามว่า ผลการสำรวจนี้จะส่งผลให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นผลการสำรวจที่เพิ่งได้รับมา ส่วนร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ร่างเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับร่างตัวนี้เมื่อเข้าสู่สปช.ก็จะได้มีการอภิปรายกันไป ซึ่งทางสมาชิกสปช. 1 คน สามารถมีสิทธิยื่นคำขอที่จะแก้ร่างรัฐธรรมนูญได้ 1 คำขอ โดย 1 คำขออาจจะมีหลายมาตร หรือทุกมาตราก็ได้ และเมื่ออภิปรายไปแล้วมีความเห็นของสนช. สปช. ครม. คสช. รวมถึงประชาชนเข้ามา ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนี้ก็จะเป็นข้อมูลหนึ่งที่จะนำมาพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในช่วงหลังจากที่รับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆไปแล้ว

เมื่อถามว่าร่างนี้ยังไม่ตายตัวและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ใช่หรือไม่น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ใช่ สามารถเปลี่ยนแปลงได้จนกว่าจะถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม

เมื่อถามต่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ทางกมธ.รับได้แค่ไหน เช่น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงว่าให้นายกรัฐมนตรีมาจากส.ส. กมธ.ยกร่างฯ จะรับได้หรือไม่ น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ก็กำลังฟังว่าแต่ละคนเห็นอย่างไร ที่ผ่านมากมธนายก. ก็พยายามบอกว่า รางหลักต้องมาจากส.ส. จากการเลือกตั้ง แต่ว่าการเขียนรางรอง หรือที่เราเรียกว่าทางหนีไฟในกรณ๊ที่มีเหตุจำเป็น นั่นก็ต้องเป็นมติของส.ส.ที่จะเอานายกฯคนนอกเข้ามา แต่ถ้าหลายส่วนมองว่าเรื่องนี้น่าจะต้องแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ก็นำมาสู่การพิจารณาอีกครั้งได้

เมื่อถามว่า จะมีการทำการสำรวจอีกครั้งหรือไม่ ในเมื่อร่างเสร็จแล้ว นางถวิลวดี กล่าวว่า มีค่ะ ตอนที่เราสำรวจนี้เป็นความเห็นพื้นฐานทั่วไป ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีคำถามว่าในสภาวะที่บ้านเมืองวิกฤติเราสามารถให้ผู้อื่นมาเป็นนายกฯโดยไม่ต้องเป็นส.ส.หรือไม่เราไม่ถามซึ่งคราวหน้าเราจะเอาประเด็นที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญไปถาม ตอนนี้ทีมนักวิชาการกำลังเตรียมคำถาม และคิดว่าจะทำการสำรวจกันในช่วงต้นเดือนเมษายน ส่วนประเด็นคำถามที่จะสอบถามประชาชนนั้นก็ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสิทธิ การเมือง ที่มาของนายกฯ ส.ว. ฯลฯ รวมไปถึงเรื่องการตรวจสอบของภาคประชาชน

เมื่อถามอีกว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนเท่าทัน และเข้าใจรัฐธรรมนูญ ไม่ตกเป็นเครื่องมือ น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ทางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่รัฐธรรมนูญร่างแรกหลังจากที่เราทำออกมาก อันดับแรก เราจะมีเวทีรับฟังความเห็นเพิ่มเติม หลังจากร่างแรกเสร็จแล้ว โดยจะไปจัดตามภาค จำนวน 4 ครั้งด้วยกัน เริ่มที่ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 3-4 เมษายนี้ ตามด้วยเวทีภาคอีสานที่ขอนแก่น ภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช และกทม. และจะมีการผลิตสื่อวีดีทัศน์ความยาวประมาณ 15 นาที เพื่อเผยแพร่ว่าสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้มีอะไรบ้าง

เมื่อถามว่า เรื่องสัดส่วนของผู้หญิงจะคุยกันได้ข้อยุติเมื่อใด เพราะไหนบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ก็คงต้องก่อนนำเข้าที่ประชุมสปช. คือ ก่อนวันที่ 17 เมษายน ขณะนี้กำลังทวนทีละมาตรา อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้า ช่วงวันที่ 16-20 มีนาคม ประธานกมธ. เลขาฯ และโฆษกกมธ. จะต้องเดินทางไปดูงานเรื่องการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมัน ตามคำเชิญของสถานฑูตก็อาจจะต้องพักการประชุม

เมื่อถามว่า ลองประเมินหน่อยว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ตรงใจประชาชนสักกี่เปอร์เซ็น นางถวิลวดี กล่าวว่า 60% อาจจะถึง 70% ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบาย เรื่องของสิทธิ และเรื่องของการตรวจสอบ เพราะเราถามไปประชาชนเห็นด้วยทั้งหมด

เมื่อถามว่า ตอนนี้พอจะได้ข้อสรุปหรือยังว่าทางกมธ.ยกร่างจะเสนอให้มีการทำประชามติ น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ความจริงแล้วทางกมธ.ยกร่างฯเราแสดงเจตนารมย์เรื่องนี้มาตลอด แต่คนตัดสินใจคิดว่าคงต้อวเป็นทางคสช. แต่เราก็ยืนยันเรื่องนี้มาตลอดว่าน่าจะต้องมีการทำประชามติ ทั้งนี้ ในการประชุุมแม่น้ำ 5 สาย เราก็ได้มีการพูดเรื่องนี้ตลอด

เมื่อถามต่อว่า หมายถึงเสนอต่อทางนายกฯแล้วใช่หรือไม่ น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า ใช่ค่ะ ซึ่งท่านบอกว่า อาจจะต้องขอดูอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ประเด็นนี้อาจจะอยู่ในแบบสำรวจครั้งต่อไป