วันอังคาร, มีนาคม 17, 2558

เครดิต"แม่น้ำ5สาย"วูบ สัญญาณร้าย รบ.บิ๊กตู่ เดินหน้าแต่ถอยหลัง



ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

วิเคราะห์

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวเข้าสู่เดือนมีนาคม ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่มั่นคงเท่าสถานการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2557

เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยแรงเชียร์จากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เป็นแรงเชียร์ต่อเนื่องจากที่เป่านกหวีด เป็นแรงเชียร์ต่อเนื่องมาถึงการยึดอำนาจ

และคาดหวังว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศแล้ว สิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีจะกลับกลายเป็นดี

การเมืองดี เศรษฐกิจดี สังคมดี

หากแต่เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ขับเคลื่อนมาถึงเดือนมีนาคม กลับต้องเผชิญหน้ากับคำถามและแรงต้านมากมิติขึ้น

มิได้เผชิญหน้าแต่แรงต้านจากนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการที่เรียกร้องประชาธิปไตย และเสรีภาพเท่านั้น

มิได้เผชิญหน้าแต่เฉพาะกระแสต่างประเทศที่บอยคอตรัฐซึ่งปกครองโดยการยึดอำนาจ

หากแต่ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มคนที่เคยสนับสนุนรัฐบาลมาก่อน

เผชิญหน้ากันจนรัฐบาลชุดนี้ต้องขยับถอยเป็นระยะๆ

นับตั้งแต่การถอยจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เพราะต้องการให้แบ่งผลประโยชน์ระหว่างทุนต่างชาติกับรัฐไทยกันใหม่

เดิม พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันแข็งขันว่าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 แต่สุดท้ายก็สั่งชะลอออกไป

งานนี้เล่นเอากระทรวงพลังงานเก้อ

ต่อมา กระทรวงการคลัง โดยนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผลักดันร่างกฎหมายเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

แต่เมื่ออัตราภาษีที่เสนอปรากฏเป็นข่าว กระแสต่อต้านก็ทวีความแรงขึ้น

แรงขึ้นถึงขนาดกระทรวงการคลังต้องทบทวนตัวเลข และมีกำหนดการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจสั่งชะลอออกไป ด้วยเหตุผลว่าประชาชนจะเดือดร้อน

หมายความว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ จะไม่มีเรื่องกฎหมายเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้าสู่การพิจารณา

นอกจากนี้ การพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญที่ปรากฏเป็นข่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับหน้าเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส.ก็ได้ วุฒิสภามีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติว่าที่รัฐมนตรี และเข้าไปเกี่ยวข้องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูงได้

รวมไปถึงการ "ต่ออายุ" ให้แม่น้ำ 5 สายอยู่ปฏิบัติภารกิจต่อหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว เช่น คณะกรรมาธิการยกร่างอยู่ต่อเพื่อร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติบางส่วนกลายเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป เป็นต้น

ข้อเสนอดังกล่าวโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

เป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากข้อข้องใจที่ทราบข่าวเรื่อง "สภาลูกเมีย"

สภาลูกเมียที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แต่งตั้งเมีย ลูก และญาติ รับตำแหน่งกินเงินเดือนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยกันพรึบพรับ

และเมื่อ นายศรีสุวรรณ จรรยา สงสัยว่าสภาลูกเมียจะเกิดขึ้นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ด้วย จึงสอบถามไป แต่ข้อมูลกลับถูกปกปิด

นายศรีสุวรรณต้องใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเปิดเผยชื่อ แต่แค่ข่าวแพร่ไปว่า สปช.ปกปิดรายชื่อ ข้อครหาเรื่องโปร่งใสตรวจสอบได้ก็กระหึ่ม

ต่อมา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ

การสำรวจความเห็นประชาชนครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมอบให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการสำรวจ

ผลการสำรวจบางส่วนขัดกับเนื้อหาสำคัญในรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่าง

โดยเฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี และที่มาสมาชิกวุฒิสภา เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้ง

ผลการสำรวจที่ออกมาทำให้น่าจับตามองว่า กรรมาธิการยกร่างฯจะดำเนินการกับผลโพลนี้อย่างไร

แต่ขณะที่ทุกอย่างยังรอคำตอบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาส่งสัญญาณว่า รัฐธรรมนูญยังแก้ไขได้

สถานการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏ สกัดกั้นมิให้รัฐบาลเดินไปข้างหน้าได้แล้ว

หลายเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องสั่งถอย

วันนี้การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่คาดว่าจะดี กลับไม่แจ่มเหมือนคาด

กองเชียร์ที่เคยรวมกันตีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์เริ่มรวน เกิดขัดแย้งทางความคิดกันขึ้น

ขณะที่กาลเวลาขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรักษากำหนดการโรดแมปเอาไว้

ล่าสุดที่ประชุม "แม่น้ำ 5 สาย" ยืนยันว่า หากไม่มีการทำประชามติ รัฐธรรมนูญจะเรียบร้อยในเดือนกันยายน และการเลือกตั้งจะมีในเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ขณะที่กำลังรอเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง ในช่วงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร

ทั้งนี้เพราะ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. กำลังเกษียณอายุราชการ โดยมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์อยากให้ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา หรือ บิ๊กติ๊ก ผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็น ผบ.ทบ. แต่ก็มีเสียงค้าน

แรงคัดค้านนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมีข่าวว่าจะกระทบกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น นับแต่บัดนี้ไปเป็นต้นไป รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพบกับแรงกดดันมากขึ้น

มากขึ้นจนน่าเป็นห่วงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งป้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร?

(ที่มา:มติชนรายวัน 15 มีนาคม 2558)