วันอังคาร, มีนาคม 10, 2558

บอร์ดประกันสังคม 'ห้าวจัด' ซื้อหุ้นบางจาก 14%




ตามดูมติบอร์ดประกันสังคม ซื้อหุ้นบางจากวงเงิน 4-6 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวพิเศษ TCIJ 05 มีนาคม 2558

บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบการลงทุนใน รูปแบบ Strategic Investment โดยการเข้าซื้อหุ้นบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) วงเงินลงทุน 4,000 – 6,000 ล้านบาท ตามคำเชิญชวนของ ปตท.

 แหล่งข่าวเปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษาเมื่อวันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ในวาระเรื่อง การลงทุนในรูปแบบ Strategic Investment นั้น การประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร การลงทุน กองทุนประกันสังคม ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมได้พิจารณากรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เชิญชวนซื้อหุ้นบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่ประกาศขายร้อยละ 11.97 ของจำนวนหุ้น ที่ชำระแล้วทั้งหมดของบางจาก ก่อนนำเสนอคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาลงทุนในรูปแบบ Strategic Investment ในบางจาก


ความเป็นมาของการประกาศขายหุ้น
  • ปตท. ประกาศนโยบายขายหุ้นที่ถือในบางจาก เพื่อลดการผูกขาดในธุรกิจโรงกลั่นภายในประเทศ (ประเทศไทยมีโรงกลั่น 6 โรง และปตท. ถือโรงกลั่น 5 โรง : ข้อมูล 25 ก.ค. 2557)
  • ปตท. ถือหุ้นบางจาก ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุด วันที่ 9 กันยายน 2557 เท่ากับ 374,748,571 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.22 ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของบางจาก
  • ปตท. มีหนังสือลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งให้ทราบว่า คณะกรรมการบริษัท ปตท. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีมติอนุมัติในหลักการรับข้อเสนอจากกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง ที่เสนอขอซื้อหุ้นในบางจาก จำนวน 210,000,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 15.25 ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของบางจาก โดยมอบหมายให้ฝ่ายจัดการดำเนินการในรายละเอียดและขั้นตอนต่อไปซึ่งรวมถึงการดำเนินการขายหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในบางจาก
  • ปตท. ได้ประสานสำนักงานประกันสังคมเป็นการภายในเพื่อเชิญชวน สำนักงานฯ ให้ลงทุนในหุ้นบางจาก ในส่วนที่เหลือจำนวน 164,748,571 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.97 ของจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของบางจาก
  • ปตท. มีหนังสือที่ 80000001/181 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่อง การจำหน่ายหุ้นบริษัทบางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เสนอให้สำนักงานประกันสังคมผ่านกองทุนประกันสังคมเข้าซื้อหุ้นในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 164,748,571 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.96 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบางจากในราคาหุ้นละ 36 บาท โดยขอให้สำนักงานประกันสังคมแจ้งความประสงค์กลับมายัง ปตท. ภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558

ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนในบางจาก ณ วันที่ 31 มกราคม 2558 ดังนี้


เนื่องจากการลงทุนในหุ้นบางจากร้อยละ 11.97 ตามคำเชิญชวนของ ปตท. นั้น เป็นการลงทุนในจำนวนเงินและสัดส่วนสูง อยู่ในรูปแบบ Strategic Investment สำนักบริหารการลงทุนจึงได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน กองทุนประกันสังคมพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 2/2558 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 โดยคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนพิจารณาแล้ว มีมติให้เสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม สรุปได้ดังนี้

ความน่าสนใจลงทุน หากคณะกรรมการประกันสังคมเห็นว่ากองทุนประกันสังคมควรมีการลงทุนแบบ Strategic Investment สามารถพิจารณาหุ้นของ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) ที่ ปตท.ประกาศขายแก่ผู้สนใจ จำนวนร้อยละ 11.97 เป็นหนึ่งในทางเลือก เพราะเป็นโอกาสที่ดีในการถือหุ้นในรูปแบบผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทขนาดใหญ่ โดยควรมีเงื่อนไขให้สำนักงานประกันสังคมในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ มีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบายบางส่วนผ่านการส่งผู้แทนของสำนักงานประกันสังคมร่วมเป็นกรรมการบริษัท และเป็นการสนับสนุนนโยบายสาธารณะในเรื่องราคาพลังงานที่มีผลต่อการลงทุนและการจ้างงานของประเทศ แต่ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ให้ข้อสังเกตว่า การลงทุนในรูปแบบ Strategic Investment ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงที่มูลค่าเงินลงทุนจะติดลบ อันเกิดจากความผันผวนของราคาหุ้น ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงที่เงินลงทุนจะกระจุกตัวในการลงทุนหุ้นตัวหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งมากเกินไป รวมทั้งให้คำนึงถึงกลยุทธ์ในการขาย (Exit Strategy) ด้วย

ระดับราคาที่เหมาะสม – ในประเด็นนี้ อนุกรรมการมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า สาหรับการลงทุนแบบ Strategic Investment สำนักงานประกันสังคมไม่ได้มีนโยบายทาการลงทุนเพื่อต้องการควบคุมกิจการ นอกจากนี้หากเป็นกรณีที่บริษัทเป็นผู้เสนอขายหุ้น โดยมากจะเป็นการเสนอขาย ในราคา Discount หรือไม่เกินราคาตลาด และไม่เกินมูลค่ายุติธรรม อีกฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่าหากสำนักงานประกันสังคมรอทำการลงทุนราคาตลาดหรือต่ำกว่า อาจทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนได้

วงเงินและสัดส่วนการลงทุน – เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนใน BCP อยู่แล้วจำนวนมาก ในเบื้องต้นหากพิจารณาความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวของการลงทุน (Concentration Risk) เห็นควรว่าสามารถลงทุนด้วยวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินภายใต้หลักเกณฑ์ลงทุนปกติ ของกลุ่มงานกากับและควบคุมความเสี่ยง สำนักบริหารการลงทุน

การลงทุนแบบ Strategic Investment

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการประกันสังคมมีความเห็นว่า กองทุนประกันสังคม ควรเริ่มทำการลงทุนแบบ Strategic Investment และ BCP มีความน่าสนใจลงทุน อีกทั้งกองทุนประกันสังคมสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ก็อาจพิจารณาทำการลงทุนใน BCP ด้วยราคาที่เหมาะสมและอาจพิจารณาวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นได้ 

สรุปข้อมูลและความเห็นของคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน กองทุนประกันสังคม ดังนี้


1) กองทุนประกันสังคมเริ่มลงทุนในหุ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 แม้หุ้นจะจัดเป็นสินทรัพย์เสี่ยง แต่การลงทุนระยะยาว เน้นเฉพาะหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และรักษาวินัยการลงทุนอย่างเคร่งครัด ทำให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยปีละ 15% โดยได้รับกำไรจากการขายและเงินปันผลสะสมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมเน้นลงทุนในแบบ Passive โดยมักจะมีสัดส่วนการถือหุ้นในแต่ละบริษัทไม่เกิน 3-4% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน ทั้งนี้ เมื่อกองทุนมีขนาดใหญ่และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีเงินลงทุนมากกว่า 1.25 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน หากเห็นว่าสำนักงานประกันสังคมมีโอกาสที่ดีที่จะได้ลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี สามารถพิจารณาลงทุนในสัดส่วนที่มาก (5-10% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน) ได้ โดยให้นับเป็น Strategic Investment พร้อมทั้งพิจารณาส่งผู้แทนร่วมเป็นกรรมการบริษัท ซึ่งการลงทุนแบบ Strategic Investment นี้เป็นแบบแผนปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของกองทุนชั้นนำทั่วไป อาทิ GIC และ Temasek ของสิงคโปร์, EPF ของมาเลเซีย และ CPPIB ของแคนาดา

2) สำนักงานประกันสังคมได้รับการ ประสานจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่าต้องการขายหุ้นของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ ปตท. ถือไว้ในสัดส่วน 27.22% โดยได้แบ่ง การขายหุ้น เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ขายให้กับกองทุนวายุภักษ์ กระทรวงการคลัง 15.25% ส่วนที่เหลืออีก 11.97% จะขายให้กับผู้ที่สนใจที่ยื่นข้อเสนอราคาที่ดีที่สุดให้กับ ปตท. และจะเปิดกว้างให้กับทุกคน
  
3) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (BCP) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2527 ปัจจุบันมีรายได้มาจาก 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงกลั่น ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และธุรกิจผลิตไฟฟ้า กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทจำนวน 297 ล้านบาท และลงทุนในหุ้นสามัญประมาณ 1,125 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.39% ของจำนวนหุ้นจดทะเบียน เมื่อพิจารณาจากกรอบความเสี่ยง กองทุนประกันสังคมสามารถลงทุนในตราสารหนี้หรือตราสารทุนของ BCP เพิ่มได้อีกไม่เกิน 4,055 ล้านบาท (ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างพิจารณาลงทุนในหุ้นกู้ BCP วงเงินประมาณ 500-600 ล้านบาท ซึ่งหากได้ลงทุนตามแผน จะเหลือวงเงินประมาณ 3,500 ล้านบาท)

4) เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน BCP จัดเป็นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี โดยมี 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) ธุรกิจการกลั่นน้ำมัน มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบจำนวน 120,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 11 ของกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งหมดในประเทศ (2) ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน มีจำนวน 1,069 แห่ง และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของไทย (3) ธุรกิจผลิตไฟฟ้า มีสัญญาขายไฟฟ้ารวม 118 เมกะวัตต์ ให้แก่ กฟภ. และ กฟผ.  

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ทำประมาณการณ์กรณีฐานของบริษัทใน ช่วงปี พ.ศ. 2558-2563 คาดว่า BCP จะมี EBITDA ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้นประมาณ 3.5 บาท ด้วยราคาตลาด 33 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E Ratio ประมาณ 8.3 เท่า และ Dividend Yield ประมาณ 3% 

5) คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า BCP มีความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการลดลงของอุปสงค์หรือความต้องการใช้น้ำมัน และมีความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายใน อาทิ ความเสี่ยงที่การลงทุนในธุรกิจใหม่จะไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ การลงทุนในหุ้น BCP มีความเสี่ยงสำคัญอีก 3 ประการ ได้แก่ (1) ความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้น โดยในช่วงปี 2557 ราคาหุ้นลงไปต่ำสุดที่ 28.25 บาท และขึ้นไปสูงสุดที่ 37.50 บาท (2) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ทำให้การขายหุ้นในตลาดรองอาจจะทาได้ยาก และ (3) ความเสี่ยงการกระจุกตัว (Concentration Risk) ทำให้กองทุนประกันสังคมมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น BCP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.95 ของเงินลงทุนในหุ้นเป็นร้อยละ 5.28 ในขณะที่สัดส่วนของหุ้น BCP ในดัชนี SET100 อยู่ที่ร้อยละ 0.41 และมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.90 ของเงินลงทุนในหุ้น เป็นร้อยละ 17.69 ในขณะที่สัดส่วนของหุ้นกลุ่มพลังงานในดัชนี SET100 อยู่ที่ร้อยละ 15.55 

6) ผู้แทนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์ ได้ให้ข้อมูลว่าคณะกรรมการลงทุนของกองทุนฯ ได้มีมติให้ลงทุนใน BCP ในสัดส่วนประมาณ 15% ด้วยเหตุผลว่า BCP มีธุรกิจกระจายในหลายกลุ่มได้แก่ โรงกลั่น ปั๊มน้ำมันและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีความมั่นคงและเติบโตได้ในอนาคต กองทุนวายุภักษ์จะลงทุนใน BCP ระยะยาวในลักษณะ Strategic Investment เพื่อเป็นการกระจายการลงทุน เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ มีการลงทุนกระจุกตัวในบางบริษัทอยู่ และในการลงทุนครั้งนี้ได้มีการคำนวณราคาเป้าหมายกรณีปกติ (Target price) ไว้ที่ 40.95 บาท และกำหนดอัตราปันผลคาดหวังไว้ที่สมควรจะได้รับจากการลงทุนใน BCP ไว้ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะได้ประมาณ 4%  

ทั้งนี้ อนุกรรมการหลายท่านมีความเห็นว่า ราคาเป้าหมายที่คาดการณ์โดยกองทุนวายุภักษ์อยู่ในระดับสูง หากได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และการเพิ่มเม็ดเงินลงทุน (Capex) ราคาเป้าหมายน่าจะต่ำกว่านี้ 

7) สำนักงานประกันสังคมได้ประมาณการณ์โดยวิธีต่างๆ ซึ่งได้มูลค่ายุติธรรมในปัจจุบันกรณีฐานของหุ้น BCP อยู่ระหว่าง 27.54-33.09 บาทต่อหุ้น โดยประมาณการณ์มูลค่ายุติธรรมในปัจจุบันของหุ้น BCP ด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสดอิสระ (DCF) เท่ากับ 33.09 บาทต่อหุ้นในกรณีฐานใกล้เคียงกับผลสำรวจ Bloomberg Consensus และใกล้เคียงกับราคาตลาด (ราคาปิด ณ วันที่ 13 ก.พ. 2558 คือ 32.50 บาท)



โดยท้ายสุด มติที่ประชุมเห็นชอบการลงทุนในรูปแบบ Strategic Investment โดยการเข้าซื้อหุ้นบริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยวงเงินลงทุนในบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) 4,000 – 6,000 ล้านบาท และราคาที่จะเข้าซื้อต้องไม่เกินราคา 36 บาทต่อหุ้น ที่กองทุนวายุภักษ์ได้ซื้อเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558  โดยให้คำนึงถึงระดับราคาตลาดในวันที่กองทุนวายุภักษ์ซื้อ เปรียบเทียบกับวันที่สำนักงานประกันสังคมเข้าซื้อ หากราคาตลาดในวันที่สำนักงานประกันสังคมซื้อต่ำกว่า ให้มีการเจรจาเพื่อให้ปรับลดราคาตามสัดส่วนเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสำนักงานประกันสังคมและให้คำนึงถึงประเด็นการเพิ่มทุนด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า กองทุนประกันสังคมที่ผ่านมา มีการลงทุนในตลาดทุนน้อยมากจนเป็นที่กังขาว่าไม่สามารถบริหารกองทุนให้เติบโต แต่การลงทุนในหุ้นบางจากครั้งนี้ นับเป็นการลงทุนที่ aggressive และถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างมากคือ 14 % ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญ ที่ผู้ประกันตนควรจะได้รับรู้ข้อมูลและติดตามว่า การลงทุนครั้งนี้จะมีนัยยะสำคัญอะไรและเป็นประโยชน์แท้จริงแก่กองทุนหรือไม่ ?





หมายเหตุไทยอีนิวส์ :บทความนี้เป็นรายงานสืบสวนของ ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ที่นำเสนอเพื่อการตรวจสอบและถกเถียงทางสาธารณะ ตามสิทธิอันสื่อมวลชนและพลเมืองของประเทศพึงมีในวิถีการปกครองอย่างอารยะ ซึ่งเคารพต่อความเป็นบุคคลของประชาชนเหนือ 'ความจำเป็นอื่นใด ในเมื่อการลงทุนครั้งนี้มีลักษณะ 'ห้าวจัด' (Aggressive) ผิดแผกไปจากแบบแผนปกติอย่างสิ้นเชิง อันอาจส่งผลกระทบรุนแรงโดยตรงต่อประชาชนทุกคนในสังคมที่สำนักงานนี้มีวัตถุประสงค์ 'ประกันอันรวมถึงสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้น มิควรที่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะดำเนินการ จัดการ และ/หรือปรับเปลี่ยนใดๆ โดยที่ผู้ได้รับผลกระทบมิอาจรับแจ้ง รับทราบ และไม่สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วยอุปสรรคอันมิควร