วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 09, 2558

ภาษีมรดก ท่าทางคงเพี้ยนไปใหญ่




วังสวนผักกาด
มีข่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาแก้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกใหม่ โดยเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีจาก 50 เป็น  80 ล้านบาท และปรับลดอัตราจัดเก็บจาก 10% เหลือ 8%" (http://www.matichon.co.th/เคาะภาษีมรดกสูตรใหม่) 
นี่แสดงว่าระบบภาษีมรดกกำลังจะผิดเพี้ยนไป กลายเป็นปาหี่และไฟไหม้ฟางไปในที่สุด

         ทั้งนี้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะมีการนัดพิจารณาวาระที่ 2 ให้เสร็จเรียบร้อย ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้  ส่วนกฎหมายการรับให้ในกรณีที่ผู้ให้ยังมีชีวิต ก็ได้มีการผ่อนผันมากกว่า โดยถือว่าพ่อ-แม่ให้ทรัพย์สินลูกปีละไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ส่วนที่เกินก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 5%  แต่ทาง สนช. ก็จะพิจารณาว่ากฎหมายการรับให้ต้องทำคู่กันไปกับร่างกฎหมายภาษีมรดก เพราะถ้าไม่ทำ คนก็จะเลี่ยงไปยกให้กันหมดตั้งแต่ยังไม่เสียชีวิต  ซึ่งก็จะไม่เป็นมรดก จึงต้องออกมาคู่เพื่อป้องกันช่องโหว่ตรงจุดนี้

         ระบบภาษีมรดกที่กำลังพิจารณาอยู่นี้ไม่เหมาะสมอย่างไร ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ข้อคิดว่า 

การกำหนดให้เก็บ ณ ราคา 80 ล้านบาทนั้น เป็นราคาประเมินทางราชการ ซึ่งอาจต่ำกว่าราคาตลาด เพียงแต่ไม่มีมาตรวัดแน่ชัดว่าต่ำกว่ากันเท่าไหร่ เช่น หากสมมติว่าราคาประเมินทางราชการเป็นเพียง 60% ของราคาตลาด ก็เท่ากับว่าคนที่จะเสียภาษีต้องมีมรดกสูงถึง 133 ล้าน ซึ่งแทบไม่มีใครในประเทศไทยต้องเสียภาษีมรดกกันเลย

         ในสหรัฐอเมริกา ราคาขั้นต่ำของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีมรดกเป็นเงิน 5.34 ล้านดอลลาร์ หรือ 172.319 ล้านบาทในปี 2557 ส่วนในระดับมลรัฐ ภาษีมรดกเก็บกับทรัพย์สินที่มีค่าตั้งแต่ 2 ล้านดอลลาร์ (64.5 ล้านบาท) ขึ้นไปโดยเก็บในอัตราสูงสุด 20%  ในประเทศไทยของเรากำหนดให้เสียภาษีมรดกตั้งแต่ 80 ล้านบาทขึ้นไป

         กรณีนี้ถือว่าเป็นขีดคั่นที่สูงเกินไป สหรัฐอเมริกามีอัตราค่าครองชีพสูงกว่าไทยประมาณ 5 เท่า ถ้าเราเอา 5 หารด้วย 64.5 ล้านบาทซึ่งเป็นขีดคั่นในระดับมลรัฐ ก็จะเป็นเงินไทยประมาณ 13 ล้านบาทก็ต้องเสียภาษีมรดกกันแล้ว

ส่วนในกรณีอังกฤษ จะเสียภาษีมรดกก็ต่อเมื่อมรดกนั้นมีราคาเกินกว่า 325,000 ปอนด์หรือ 17 ล้านบาท แต่รายได้ประชาชาติต่อหัวของอังกฤษสูงกว่าไทยประมาณ 3.767 เท่า ดังนั้นถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็เป็นเงินราว 4.521 ล้านบาทขึ้นไป การกำหนดขีดคั่นของมูลค่าทรัพย์สินไว้สูงจนเกินไป ก็จะทำให้มีผู้ต้องเสียภาษีน้อยลงไปเป็นอย่างมาก

วังวรดิส
         อีกประการหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คืออัตราภาษีของไทยเราจะคิดเพียง 8% เพียงอัตราเดียว แต่ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กลับกำหนดในอัตราก้าวหน้า ใครมีปราสาทหรือวังเก่า ก็หนาวไปเลย ดังนั้น เราจึงมักจะเห็นการขายปราสาทหรือวังเก่าเพื่อนำเงินมาเสียภาษี นี่ถ้ามีการเสียภาษีมรดกกันจริงจังเช่นในประเทศตะวันตก บรรดาวังเก่า เช่น วังสวนผักกาด ตำหนักปลายเนิน (วังคลองเตย) หรือวังวรดิศ ก็คงต้องเสียภาษีมรดกมหาศาล

         ภาษีที่คู่มากับภาษีมรดกอีกอันหนึ่งก็คือภาษีจากการให้ (ไม่ใช่มรดกที่เกิดขึ้นหลังผู้ให้เสียชีวิต) โดยจะให้มีการเรียกเก็บภาษีการให้มรดกสำหรับทายาทชั้นที่ 1 ในอัตรา 5% สำหรับทรัพย์สินที่มีการโอนตั้งแต่ 11 ล้านบาทขึ้นไป กรณีนี้ก็เช่นกัน อัตราค่อนข้างต่ำ เพราะการให้ทั่วไป เช่น กรณีชิงรางวัล ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่สูง อีกประการหนึ่งขีดคั่นที่เกิน 10 ล้านบาทนี้ เป็นไปตามราคาประเมินทางราชการ ซึ่งอาจต่ำกว่าราคาตลาดมาก 

ผมเชื่อว่าในท้ายที่สุด กฎหมายภาษีการให้ก่อนเสียชีวิตอาจไม่ได้แก้ เพื่อให้คนรวยได้เลี่ยงภาษีกัน  เข้าทำนองภาษิตกฎหมายที่ว่า "ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น"

         ในทุกวันนี้ ดูเหมือนผู้มีอำนาจในประเทศไทย ซึ่งคงไม่ใช่นักการเมืองเสียแล้ว แต่เป็นข้าราชการประจำใหญ่ๆ ที่ต่างก็มีทรัพย์สมบัติมากมาย เกลียดและกลัวการเสียภาษีเหลือเกิน แต่คนรวยพึงเข้าใจว่า สังคมที่คนรวยๆ จะอยู่ได้อย่างเป็นสุขนั้น คนรวยๆ ก็ต้องเสียภาษีมรดก หรือทุกคนต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทุกวันนี้ใครมีจักรยานยนต์ยังต้องเสียภาษีล้อเลื่อน ดังนั้นเราจึงไม่ควรเลี่ยงภาษี

ถ้าประเทศมีความเหลื่อมล้ำมากเกินไป คนที่จะอยู่ยาก อยู่ไม่เป็นสุขก็คือพวกรวยๆ ล้นฟ้านี่แหละ ดังนั้นจึงต้องช่วยกันเสียภาษี

         แนวคิดการเสียภาษีมรดกมาจากการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมกัน อภิมหาเศรษฐีฝรั่งที่มีค่านิยมในการบริจาคเงินมหาศาลเพื่อสังคม เพราะเชื่อตามนายแอนดรูว์ คาร์เนกี อภิมหาเศรษฐีอเมริกันที่กล่าวว่า "คนที่ตายอย่างร่ำรวย ตายอย่างน่าอับอาย" (the man who dies thus rich dies disgraced) เขาบริจาคทรัพย์เกือบทั้งหมดให้การกุศลก่อนตาย เหลือไว้ให้ทายาทบางส่วน
ตำหนักปลายเนิน

         คนไทยเราก็ควรได้คิดเหมือนกันว่า ถ้าเราจะให้ลูกหลาน สิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะสามารถให้ลูกได้ก็คือการศึกษา การทำให้ลูกสามารถได้รับการศึกษาให้ได้ดีที่สุดและสูงที่สุด เป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดเพื่อลูกของเรา เพื่อเขาจะมีฐานะมั่นคง มีสติปัญญาและความสามารถในการพึ่งตนเองได้ และร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่รอแต่มรดกจากบุพการี

         ผมเคยประกาศไว้ว่า ถ้า คสช. สามารถผลักดันภาษีมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ที่ไม่ใช่แบบเล่นปาหี่) ได้สำเร็จเช่นอารยะประเทศ ผมพร้อมจะกราบงาม ๆ แทบเท้าเลยครับ

ดร.โสภณ พรโชคชัย         

ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส http://www.area.co.th/thai/index.php