วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 02, 2558

ทีมการเมืองไทยรัฐ : ทางบังคับ “ต้องเดิน”ไปสู่สถานการณ์แตกหัก : เอาไม่อยู่ ไทยพัง!


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

ระอุ อย่างที่คาดการณ์ไว้

ตามปรากฏการณ์ที่ทหารได้เชิญตัวนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าพบ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย

จากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ “ยุติธรรม 2 มาตรฐาน”

เช่นเดียวกับรายของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ที่เคลื่อนไหวในเชิงต่อต้าน ก็โดนทหารบุกเชิญตัวคาร้านอาหาร

และยังรวมไปถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.พาณิชย์ แกนนำคนสำคัญของกลุ่มเสื้อแดง นปช.ก็โดนทหารเรียกตัวเข้าทำการปรับทัศนคติ

ซึ่งก่อนหน้านั้น คนที่โดนคิวแรกเลยก็คือนายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. หนึ่งในทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ที่ถูกเรียกเข้าค่ายทหาร

ฐานเปิดโพยเบื้องหลัง ออกมาระบุเลยว่า คสช.ได้ขอความร่วมมือไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค

คนของพรรคเพื่อไทยโดนข้อหา “ลองของ” ไปตามๆกัน

แต่ที่ระทึกกว่านั้น ก็คือคิวของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีกระแสข่าวว่า โดนทหารบุกถึงบ้าน

เพื่อขอความร่วมมือแกมบังคับให้หยุดปลุกระดมผ่านโซเชียลมีเดีย

รุกเข้าใกล้ “กล่องดวงใจ” ของ “นายใหญ่” เข้าไปทุกที

ทหารลุยบล็อกเครือข่าย “ทักษิณ” แบบถึงลูกถึงคน

ตามสัญญาณที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ออกมาพูดชัด จะยกระดับความเข้มข้นจากเบาไปหาหนัก

สถานการณ์มาถึงจุดหักดิบกันแล้ว

โดยปรากฏการณ์อันมีผลสะท้อนมาจากกรณีที่สภานิติ-บัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จากปมปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมรุนแรง ไม่ใช่แค่สถานการณ์ ปั่นป่วนภายในประเทศจากฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เท่านั้น มันยังก่อแรงเสียดทานจากภายนอกประเทศพุ่งเข้าใส่รัฐบาลทหาร

กระตุกฉาก “โลกล้อมประเทศไทย”

ตามจังหวะที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางเยือนประเทศไทย

เจาะจงเลือกช่วงเกิดเหตุถอดถอนพอดิบพอดี

และก็ชัดเจนเข้าไปใหญ่ เมื่อมีการส่งเทียบเชิญให้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เข้าพบ ณ สถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย เพื่อขอทราบเหตุผลชัดเจนในกระบวนการถอดถอน

ก่อนที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯจะป่าวประกาศให้ได้ยินไปทั่วโลก

เชื่อว่าการถอดถอนอดีตนายกฯหญิงของไทยมีการแทรกแซงทางการเมือง และน่าเป็นห่วงว่าจะกระทบกระบวน การปรองดอง

อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลทหาร คสช.ยกเลิกกฎอัยการศึกอีกต่างหาก

ในขณะที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ได้ทีซัดลูกตามน้ำ ด้วยการโพสต์แถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวทำนองว่า ประชาธิปไตยของประเทศไทยตายแล้ว

แนวโน้มพี่เบิ้มสหรัฐฯโดดถือหางฝ่ายอดีตนายกฯหญิงของไทย

เพิ่มน้ำหนักกดดันรัฐบาลทหารในเวทีโลก

ในอารมณ์ซีเรียสๆที่เห็นได้จากอาการของพลเอก ประยุทธ์ เล่าให้ที่ประชุม ครม.ฟังเกี่ยวกับข้อมูลบางส่วนที่เสนอต่อสังคมทำให้เข้าใจผิดว่าสหรัฐฯกดดันไทย

ก่อนออกมาแถลงข่าวตอบโต้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ยืนยันประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยกว่าปกติด้วยซ้ำ และไม่มีวันตาย

แถมยังขู่ออกอากาศกันซึ่งๆหน้า

“อดีตนายกฯจะเดินทางไปต่างประเทศ ถ้าศาลไม่ให้ไป หรือห้ามออกนอกประเทศ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าใครหนีกฎหมายออกไป ก็คงกลับมาอีกไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง”

ต่อเนื่องด้วยการเทกแอ็กชั่นแรงๆทางการทูต

รัฐบาล คสช.ได้มีการสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศเรียกนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้ามาชี้แจง และแสดงความไม่พอใจที่ถูกแทรกแซงกิจการภายใน

ตอกกลับแบบไม่กลัวพญาอินทรี ไม่สนพี่เบิ้มจะเป็นมหาอำนาจโลก

ซึ่งนั่นก็มีสัญญาณข้ามโลกมาทันที ตามบทที่นางเจน ซากี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงถึงการซ้อมรบคอบบร้าโกลด์ระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐฯ ปีนี้ก็จะมีขึ้นเหมือนที่ผ่านมา

แต่ว่าระดับความร่วมมือได้ลดลง โดยเหลือเพียงภารกิจด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัยเป็นหลักเท่านั้น

ปล่อยมาตรการแบนกันทันควันในเบื้องต้น

โดยแรงตกกระทบจากกรณีการถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์กระตุกแรงกระเพื่อมภายในประเทศ และยังลามไปถึงปมการเมืองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

แววมีมาตลอด ถ้าเปิดเกมหักดิบกันเมื่อไหร่ ฝ่ายที่เสียไม่มีทางยอมแต่โดยดีแน่

แต่ทั้งหมดทั้งปวง ด้วย “เส้นทางบังคับต้องเดิน” ประเมินตามปรากฏการณ์เสียงถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่พุ่งทะลุเพดานขึ้นไปถึง 190 เสียง

ตัวเลขออกมาเหนือการคาดหมาย

บ่งบอก “ธง” สัญญาณไปในทิศทางเดียวกัน

มันก็ชัดเจนว่า คสช.ตัดสินใจตามเส้นทางที่ไหลไปเข้าทางฝ่ายต้านระบอบ “ทักษิณ”

เพราะไม่เช่นนั้นก็จะทำให้สูญเสียแนวร่วมฝ่ายเดียวกัน ทั้งเครือข่ายม็อบ กปปส. แนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ และทีมงานพรรคประชาธิปัตย์

ไม่กลัวขัดใจพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมเสื้อแดง นปช.ที่ยังไงก็ไม่เป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว

แน่นอนเมื่อ คสช.ตัดสินใจอย่างนี้ ตามจังหวะก็ต้องเปิดไฟเขียวหมด

ด้วยยุทธการเคลียร์กันด้วยกระบวนการทางกฎหมายจะใส่เกียร์ห้า เหยียบคันเร่งเดินหน้าเต็มตัว

คดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์และเครือข่ายพรรคเพื่อไทยที่จ่ออยู่ในขั้นตอนของ สนช.รวมไปถึงองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกเกือบสิบคดี

จะพาเหรดเดินหน้าเข้าสู่จุดหักดิบ

ซึ่งนั่นก็แทบจะแหงหวยล่วงหน้าได้ สำหรับฝ่ายที่ตกเป็น “จำเลย” มีแต่เจ๊งกับเจ๊า

ชะตากรรมสุดท้ายไม่เหนือการคาดเดา

และตามฟอร์มเลย ฝ่าย “ทักษิณ” ที่ยืนกรานเชื่อมั่นในกฎหมาย แต่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการตัดสิน

ยังไงก็ไม่ยอมรับยุติธรรมสองมาตรฐาน

โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์อำนาจพิเศษ ก็ยิ่งมีเหตุให้ฝ่ายที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับฝ่ายถืออำนาจ แสดงอาการหวาดระแวงฝ่ายจ้องขุดรากถอนโคน

ซึ่งมันก็จะลามเป็นหัวเชื้อ จุดชนวนความรุนแรง

โดยเงื่อนไขมันก็หนีไม่พ้นวนย้อนกลับไปหนังม้วนเก่า ในฉากเผาบ้านเผาเมืองเมื่อปี 2553

ตามท้องเรื่องที่ฝ่ายพ่ายแพ้ไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลที่มีท็อปบูตคุมเกมอำนาจอยู่เบื้องหลัง ตั้งแง่ปฏิเสธกระบวนการใช้องค์กรอิสระจัดการทางกฎหมายกับฝ่ายทักษิณ

ผลก็คือบ้านเมืองพังหมดทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ประเทศเกือบล่มจม ฟุบยาวมาจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ดี แม้ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนเกมถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะทำให้ฉากหนังวนย้อนกลับไปฉายหนังม้วนเก่า

แต่มันก็มีจุดที่ต่างกันออกไป ตรงที่ยุคนั้นเป็นรัฐบาลพลเรือนนอมินีที่ใช้อำนาจแบบครึ่งๆกลางๆ

แต่รอบนี้ทหารออกหน้าเล่นเองเต็มตัวในสถานะของรัฐบาล คสช.

และตามปรากฏการณ์ก็สะท้อนให้เห็นว่า มีการเตรียมการมาอย่างดี โดยเฉพาะมีการใช้หนังตัวอย่างความปั่นป่วนวุ่นวายเมื่อปี 2553 เป็นโมเดลตัวตั้ง

แล้วเดินยุทธศาสตร์ปิดช่องโหว่ ไม่ให้ซ้ำรอย

ที่เห็นความแตกต่างชัดๆ ก็คือเมื่อปี 2553 เหตุเกิดแล้ว รัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของกองทัพค่อยประกาศกฎ อัยการศึกเข้าควบคุมสถานการณ์

ซึ่งไม่ทันกาล ความสูญเสียเกิดขึ้นไปแล้ว

แต่แนวโน้มรอบนี้ ก็อย่างที่เห็นตั้งแต่วันล็อกห้อง

ล็อกหัวโจกคู่ขัดแย้ง ประกาศยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี 2557

รัฐบาล คสช.ยังคงลากยาวการประกาศกฎอัยการศึก

ยึดเป็น “กระบองยักษ์” ในการกำราบพวกป่วน

และก็อย่างที่เห็นกับการเรียกพวกมีพฤติกรรมท้าทายเข้าค่ายปรับทัศนคติทันทีที่มีรายการท้าทาย อำนาจท็อปบูตในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ตัดตอนก่อนขยายผลบานปลาย

แต่แน่นอน ถ้าแนวรบสุดท้ายคือกองทัพโดดมาคุมเกมกันเข้มแบบนี้แล้ว ยังเอาไม่อยู่

เกิดปรากฏการณ์ลุกฮืออีกเมื่อไหร่

เมื่อนั้นจะเกิดความรุนแรงแบบที่ประเมินไม่ได้

เสี่ยงประเทศไทยพัง.

“ทีมการเมือง”