วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 03, 2558

112 the series : "ธเนศ": เสียงกระซิบที่ข้างหู


ที่มา ILaw

คดีมาตรา 112 ของ "ธเนศ" (นามสมมติ) ไม่ใช่คดีการเมืองใหญ่โตและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก "ธเนศ" เป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ทางสังคม หรือมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์นัก

"ธเนศ" ถูกทหารและตำรวจบุกไปจับที่บ้านในเวลาเช้ามืด ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 เขาถูกกล่าวหาว่า เขาเป็นคนส่งอีเมลไปยังผู้รับ 1 คนในปี 2553 อีเมลนั้นมีลิงก์ไปยัง sanamluang.blogspot ซึ่งมีข้อความผิดมาตรา 112 (คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) อยู่ในลิงก์

"ธเนศ" ถูกจับอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครรู้จัก ครอบครัวทราบว่าเขาถูกจับ แต่ไม่มีความรู้ทางกฎหมายและคดีความ จึงไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร เมื่อ "ธเนศ" ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ นักโทษคดีมาตรา 112 ที่อยู่ในนั้นก่อนแล้วพบกับเขา และบอกเล่าเรื่องราวของเขาออกมาข้างนอกเพื่อให้มีคนเข้าไปช่วยเหลือ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่งทนายความเข้าไปเยี่ยม "ธเนศ" ในเรือนจำ และได้ฟังเรื่องราวจากปากของเจ้าตัว เขารับสารภาพว่าเป็นคนส่งอีเมลจริง แต่ที่ทำไปเพราะได้ยินเสียงแว่วอยู่ในหูตลอดว่าให้ส่งอีเมลเพื่อช่วยคนเสื้อแดง จนปัจจุบันนี้เสียงแว่วก็ยังคงดังอยู่ และ เขายังบอกกับทุกคนที่เขาคุยด้วยว่า ตลอดช่วงเวลา 20-30 ปีในชีวิตของเขา เขาถูกกลั่นแกล้งโดยข้าราชบริพารของราชสำนักมาโดยตลอด เช่น เมื่อขี่จักรยานไปที่ไหนก็จะมีคนเอาก้อนหินมาวางขวางทาง หรือเมื่อย้ายที่พักข้างห้องก็จะเคาะฝาห้องเสียงดัง หรือเมื่อย้ายที่ทำงานก็จะถูกยุแหย่ให้คนที่ทำงานไม่ชอบหน้า หรือเคยถูกคนขโมยของ และรู้สึกเหมือนถูกจับจ้องมอง ถูกคิดร้ายอยู่ตลอดเวลา

"ธเนศ" ไม่เคยเข้ารับการตรวจอาการทางจิต ไม่เคยยอมไปหาหมอ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ ทนายความและครอบครัวใช้เวลาเกลี้ยกล่อมอยู่นานกว่า "ธเนศ" จะยอมไปพบพยาบาลที่ห้องพยาบาลในเรือนจำ แต่ก็ตรวจไม่พบอาการ ทนายความจึงทำหนังสือขอให้เรือนจำส่งตัว "ธเนศ" ไปตรวจเป็นกรณีพิเศษ

เป็นเวลากว่า 4 เดือนที่ "ธเนศ" ถูกคุมขังระหว่างเฝ้ารอแพทย์ที่จะมายืนยันว่าเขาป่วย และเฝ้ารอการประกันตัว เขาถูกส่งไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์หลายครั้ง แต่แพทย์ก็ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมาร่วมกันวินิจฉัย กว่าจะสรุปผมออกมาได้ จนกระทั่งวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 รายงานสรุปผลจึงออกมาว่า "ป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง (F20.0 Paranoid Schizophrenia) และมีอารมณ์เศร้าร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถต่อสู้คดีได้"

วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ศาลนัดพร้อมคดีนี้ พ่อ แม่ และพี่สาว "ธเนศ" เดินทางมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อมาให้กำลังใจ แต่ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับทำให้ทุกคนได้แต่นั่งรออยู่หน้าห้อง ทนายความยื่นผลการตรวจรักษาต่อศาล และแถลงขอให้ศาลยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยมีอาการป่วย กระทำการไปโดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ศาลทราบผลการตรวจแล้วแต่โจทก์คัดค้าน จึงต้องมีการนัดไต่สวนแพทย์ผู้ตรวจรักษา และพนักงานสอบสวนประกอบด้วย

ดูรายละเอียดคดีของ ธเนศ ได้ที่ > http://freedom.ilaw.or.th/case/614#detail

ก่อนถูกจับ "ธเนศ" เปิดเว็บไซต์ขายของทางอินเทอร์เน็ต อยู่กับพี่สาวที่บ้านในจังหวัดเพชรบูรณ์ วันที่ถูกจับถูกเจ้าหน้าที่ยึดสมุดบัญชีธนาคารซึ่งมีเงินอยู่ 80,000 บาทไปด้วย หลังถูกจับกุมตัว ตั้งข้อกล่าวหา ก็ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตลอด จนกระทั่งวันที่ไปขึ้นศาลแม้จะมีใบรับรองแพทย์ยืนยันอาการป่วยแล้ว แต่ "ธเนศ" ก็ยังไม่มีเงินพอสำหรับการยื่นประกันตัว ในวันนั้นครอบครัวมีเงินติดตัวรวมกันได้ 10,000 บาท "ธเนศ" ขอร้องให้พี่สาวใช้เงิน 10,000 บาทซื้อหลักทรัพย์สำหรับการยื่นประกันตัว แต่บริษัทประกันบอกว่าเงิน 10,000 บาทนั้นไม่พอ หากยื่นไปก็เสียเวลาเปล่าๆ จึงไม่ยอมรับดำเนินการให้

8 ธันวาคม 2557 พี่สาวของ "ธเนศ" ติดต่อขอสมุดบัญชีที่ถูกยึดไปคืนจากตำรวจเพื่อเบิกเงิน 80,000 บาทออกมา และทำสัญญายืมเงินจากผู้ใจบุญและต้องการช่วยเหลืออีก 120,000 บาท รวมได้ 200,000 บาท เพื่อยื่นประกันตัวต่อศาลอาญาพร้อมใบรับรองแพทย์

ในวันเดียวกันศาลอาญามีคำสั่ง ไม่ให้ประกันตัวด้วยเหตุผลว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพ รายงานผลการตรวจรักษา พบว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตหวาดระแวง แต่สามารถต่อสู้คดีได้ หากการเจ็บป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงถึงขั้นที่สถานคุมขังจะดูแลความปลอดภัยแก่ชีวิตของจำเลยได้แล้ว ย่อมต้องดำเนินการส่งตัวจำเลยให้แพทย์ทำการรักษาในขั้นตอนตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ต่อไป

ทั้งที่ก่อนหน้านี้คดีมาตรา 112 ที่จำเลยกระทำความผิดไปเพราะมีอาการทางจิต อย่างน้อยสองคดี

คือ

คดีของบัณฑิต >> http://freedom.ilaw.or.th/th/case/69#detail

และฐิตินันท์ >> http://freedom.ilaw.or.th/th/case/430#detail

ศาลก็อนุญาตให้จำเลยได้ประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิต ก็พิพากษาให้ส่งตัวไปรักษา และรอการลงโทษจำคุกไว้

หลายวันต่อมาทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวต่อศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืน ไม่ให้ประกันตัว

"ธเนศ" ทราบข่าวผลคำสั่งเป็นคนสุดท้าย ความหวังว่าจะได้มีอิสรภาพตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมาสูญสลายไปโดยที่เขาไม่เข้าใจ เพื่อนนักโทษเล่าว่าหลังจากนั้น "ธเนศ" เลิกทานยารักษาอาการที่ได้รับจากสถาบันกัลยาณ์ฯ เพราะฤทธิ์ยาทำให้ง่วงซึมและทานอาหารไม่ได้ เขาเลือกที่จะทนฟังเสียงในหูที่คอยมาบอกให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเวลาได้ยินเสียงในหู "ธเนศ" มักจะใช้วิธีบ่นพึมพำเหมือนสวดมนต์กับพระเจ้าของเขาอยู่อย่างลำพัง

พี่สาวของ "ธเนศ" กล่าวกับทนายความว่า ที่ผ่านมาได้พยายามกันเต็มที่แล้ว เมื่อไม่ได้ประกันตัวก็เข้าใจว่าคงจะทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว ต้องรอวันพิจารณาคดีที่จะถึงอย่างเดียว

ปัจจุบัน "ธเนศ" ยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ศาลนัดพร้อมวันที่ 23 มีนาคม 2558 และนัดสืบพยาน คือ ผู้กล่าวหา พนักงานสอบสวน และแพทย์ผู้ตรวจรักษา วันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีโดยลับ ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าฟังไม่ได้