วันพุธ, กุมภาพันธ์ 11, 2558

112 the series จารุวรรณ: 85 วันที่เสียไป


ที่มา ILAW

คดีหมิ่นเบื้องสูงของจารุวรรณกลายเป็นข่าวดังกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากนายทหารพระธรรมนูญเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดี กับ "เฟซบุ๊คหมิ่นฯ" ที่โลกออนไลน์แชร์ต่อกันเกือบหมื่นครั้ง และ 2-3 วันให้หลัง ก็มีข่าวจับกุมเพื่อนชายที่เกี่ยวข้องกับคดีเพิ่มอีก 2 คน

9 กุมภาพันธ์ 2558 อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องจารุวรรณและเพื่อนอีก 2 คน น่ายินดีกับทั้งสามคนที่ไม่ต้องถูกจองจำไร้ซึ่งอิสรภาพอีกต่อไป แต่กว่าจะมาถึงวันที่ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ พวกเขาต้องถูก "ควบคุมตัวระหว่างการสอบสวน" เป็นเวลาถึง 85 วัน โดยที่ทั้งสามคนก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงที่เป็นต้นเหตุให้พวกเขาต้องถูกกักขัง และกลายเป็นที่กังวลใจให้กับครอบครัวของทั้งสาม

ดูรายละเอียดคดีของจารุวรรณได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/641#detail

คดีนี้ดูผิวเผินอาจเป็นคดีโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นเบื้องสูงไม่ต่างจากหลายคดีก่อนหน้านี้ แต่เอาเข้าจริงกลับลากผู้ต้องหามาขังอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 3 คน คือ “จารุวรรณ” สาวผู้มีชื่อนามสกุลเดียวกับเฟซบุ๊กที่มีการโพสข้อความ “บอล” สามีของจารุวรรณ และ “ชาติ” เพื่อนของบอลซึ่งจารุวรรณสงสัยว่าอาจเป็นผู้แฮ็คเฟซบุ๊กของเธอ

จารุวรรณเป็นหญิงสาวอายุ 26 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พ่อมีอาชีพทำไร่ พี่น้องของจารุวรรณต่างก็แยกย้ายกันไปทำงานโรงงานตามต่างจังหวัด ก่อนถูกจับจารุวรรณทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี และอยู่กับสามีที่ชื่อบอล จารุวรรณมีลูกสองคนกับสามีคนแรก โดยลูกทั้งสองได้เรียนหนังสือและอยู่กับพ่อของจารุวรรณที่เพชรบูรณ์

หลังถูกจับกุม ข่าวหลายสำนักรายงานว่าจารุวรรณให้การปฏิเสธ และสงสัยว่า "ชาติ" ซึ่งเป็นเพื่อนของบอล โกรธเธอ ที่เธอกันไม่ให้บอลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จึงกลั้นแกล้งเธอด้วยวิธีการนี้

เช้ามืดของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ทหารและตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวบอลที่บ้านพักในจังหวัดราชบุรี บอล อายุ 22 ปี เป็นสามีของจารุวรรณและเป็นเพื่อนกับชาติ บอลเป็นชาวราชบุรี เรียนจบชั้นป.6 อ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ ในช่วงเย็น ชาติก็ถูกตำรวจและทหารบุกเข้าจับกุมที่บ้านเช่นเดียวกัน ชาติ อายุ 20 ปี เป็นเพื่อนของบอล ชาวราชบุรี สัญชาติไทย-พม่า สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ ปัจจุบันชาติมีลูกและภรรยาแล้ว โดยทำประมงอยู่กับพ่อตาที่ประจวบคีรีขันธ์

จารุวรรณให้การปฏิเสธตั้งแต่ถูกจับกุม ถูกสอบสวน และตั้งใจจะต่อสู้คดีในชั้นศาล บอลและชาติก็เช่นเดียวกัน แต่พวกเขายังไม่มีเงินจ้างทนายความ สำหรับการต่อสู้คดีในศาลทหาร และเป็นคดีต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะเพราะเกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ตัวตนทางเทคนิคคอมพิวเตอร์

จารุวรรณเล่าว่า ก่อนหน้าจะมีการโพสต์หมิ่นเบื้องสูง 2-3 สัปดาห์ เฟซบุ๊กของเธอถูกแฮ็คไปใช้ในทางเสื่อมเสีย และเคยแจ้งความไว้ที่ สภ.ราชบุรีแล้ว ซึ่งนี่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการต่อสู้คดีของเธอ

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 เวลาประมาณบ่ายโมง พนักงานสอบสวนนำตัวจารุวรรณมาขออำนาจศาลทหารฝากขังผลัดแรก จารุวรรณไม่มีญาติมาเยี่ยม ไม่มีเงินสำหรับยื่นขอประกันตัว ไม่มีทนายความและไม่มีความรู้กฎหมาย เธอลุกขึ้นคัดค้านการฝากขัง แต่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นที่รับรู้ทั่วราชอาณาจักร หากปล่อยตัวไป เกรงว่าผู้ต้องหาจะไม่ปลอดภัย

วันต่อมา บอลและชาติ ผู้ต้องหาอีกสองรายในคดีนี้ ถูกนำมาฝากขังที่ศาลทหารเช่นกัน

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 หลังจากถูกขังได้ 12 วัน เจ้าหน้าที่จากราชทัณฑ์นำตัวจารุวรรณ บอล และชาติ มาฝากขังอีกผลัดที่ 2 จารุวรรณเล่าว่าชีวิตในเรือนจำ แม้จะมีทีวีให้ดู มีหนังสืออ่าน และมีเพื่อนคุยด้วย แต่เธอยังคงรู้สึกเหงา เธอคิดถึงพ่อและลูกๆ ของเธอ แต่เมื่อสอบถามว่า อยากให้พ่อและลูกๆ ของเธอมาเยี่ยมหรือไม่ จารุวรรณกลับมีท่าทีลังเล เนื่องจากเธอทราบดีว่า การเดินทางมากรุงเทพเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และอาจต้องพาลูกๆ มาด้วย

ด้านบอลและชาติ ถึงจะพบกับความยากลำบากบ้าง โดยเฉพาะบอลซึ่งยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าข้อกล่าวหาของเขาคืออะไร แม้เขาจะได้สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องมาจากตำรวจด้วยแต่เขาก็อ่านหนังสือไม่ออก ยังดีที่ตอนเข้าไปใหม่ๆ ทั้งสองคนยังได้อยู่แดนเดียวกัน จึงคอยช่วยเหลือกัน และยังได้รับความช่วยเหลือจากนักโทษการเมืองในเรือนจำชายที่อยู่มาก่อนจำนวนมาก

ในวันดังกล่าวพ่อของบอลเป็นญาติคนเดียวที่เดินทางมาเยี่ยมบอลและจารุวรรณที่ศาลทหารกรุงเทพ แต่ก็ไม่ได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสองคน เนื่องจากไม่มีเงินประกันตัว ส่วนชาติ ตั้งแต่ถูกจับยังไม่สามารถติดต่อกับญาติได้ ถึงปัจจุบันผู้ต้องหาทั้งสามคนยังไม่มีวี่แววว่าจะมีหลักทรัพย์สำหรับยื่นเรื่องประกันตัว เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวทั้งสามค่อนข้างยากจน

เดือนมกราคม 2558 พ่อ พี่สาว และลูกชายคนเล็กของจารุวรรณ เดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมาเยี่ยมจารุวรรณและบอลที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยพักค้างคืนอยู่ที่บ้านของพี่สาวจารุวรรณที่คลองเตย

ทนายความเล่าว่า พ่อของเธอต้องทำไร่และขายถั่วเพื่อให้ได้ค่ารถเดินทางมาเยี่ยมลูกสาวที่เรือนจำในกรุงเทพ ขณะที่ทนายความก็ยังไม่สามารถติดต่อญาติของชาติได้

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ครบกำหนดฝากขัง 85 วัน ทางการหมดอำนาจตามกฎหมายที่จะกักขังทั้งสามคนได้อีกต่อไป อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามรายในคดีนี้ จารุวรรณ บอล และชาติได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำที่กรุงเทพ ใบหน้าของทั้งสามยิ้มแย้มต้อนรับอิสรภาพที่ได้คืนมา

พี่สาวของจารุวรรณนั่งรถทัวร์จากเพชรบูรณ์ไปรับเธอที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทั้งสองคนกอดกันเมื่อได้เห็นหน้ากัน พี่สาวบอกกับน้องว่าพ่อดีใจมากเมื่อทราบข่าวว่าลูกจะได้รับการปล่อยตัว และขอให้รีบกลับบ้านที่เพชรบูรณ์ในวันนี้ทันที โดยหลังจากนี้จารุวรรณจะหางานใหม่ เนื่องจากคดีนี้ทำให้เธอต้องออกจากงานที่โรงงานในจังหวัดราชบุรี

ทางด้านบอลก็มีพ่อเดินทางมารับกลับบ้านของเขาที่ราชบุรี ส่วนชาติ แม้จะไม่มีใครเดินทางมารับเขากลับบ้าน แต่เขาก็ได้โทรศัพท์ติดต่อทางบ้านเรียบร้อยแล้ว ทั้งคู่กล่าวว่า หลังจากนี้จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวตามปกติ

คดีของ จารุวรรณ บอล และชาติ เป็นตัวอย่างของผู้ต้องขังตามมาตรา 112 จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นเบื้องสูง เช่น คดีของพงษ์ศักดิ์ http://freedom.ilaw.or.th/case/650#detail คดีของชโย http://freedom.ilaw.or.th/th/case/652#detail

ในประเทศที่มีประชากรจำนวนมากใช้เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็น แต่กลับมีการจองจำผู้คนจากการมีข้อความปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊กของตน การกักขังผู้ต้องสงสัยสามคนในคดีจารุวรรณเป็นเวลาถึง 85 วัน โดยไม่มีหลักฐานการกระทำผิดที่แน่ชัด มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้ใช้เฟซบุ๊กและคนรอบตัวทุกคนในประเทศนี้