วันพุธ, มกราคม 07, 2558

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ปีใหม่กับการเปลี่ยนผ่าน สู่ประชาธิปไตย


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2558

ในขณะที่เราเสพข่าวหรือเฝ้ามองปรากฏการณ์ทางการเมืองในวันนี้ที่ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการเขียนรัฐธรรมนูญ นักรัฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งจะมองเรื่องนี้ผ่านมิติเรื่องของการเมืองเปรียบเทียบ โดยเฉพาะประเด็นที่เรียกว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (transition to democracy)

เอ‚หรือว่าผมอาจจะคิดอะไรเกินเลยไปจากความเป็นจริง เพราะว่าเราอาจจะคิดอะไรเลยเถิดไปกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะว่าเราสวมแว่นและมีอคติว่าสังคมมันจะเดินหน้าไปสู่เรื่องของประชาธิปไตยอย่างแน่นอนจริงหรือเปล่า?

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราใช้กรอบการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบที่เน้นศึกษาเรื่องประชาธิปไตย เราก็อาจจะคิดเลยเถิดไปว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเรามันก็คือการกลับเข้าสู่ หรือเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เพราะเราเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นหมุดหมายทางอารยธรรมโลกที่ใครๆ ก็จะต้องไปให้ถึงในท้ายที่สุด

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่จะต้องเผื่อใจไว้บ้าง (ดังที่ได้เคยกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง) ที่จะมองว่าการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ด้วยว่าในการเมืองเปรียบเทียบนั้น ก็ยังมีการศึกษาเรื่องของการดำรงอยู่และการสืบสานอำนาจของระบอบเผด็จการอยู่เช่นกัน ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการฝืนกระแสไปสู่ประชาธิปไตยอะไรเลย เพราะประชาธิปไตยอาจไม่ใช่หมุดหมายของอารยธรรมหรือกงล้อทางประวัติศาสตร์ที่จะต้องเดินไปอย่างหยุดยั้งไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจเรื่องของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้นก็ยังถือว่าได้รับความนิยมและศึกษากันอย่างกว้างขวางอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องของการเปิดระบอบเผด็จการอำนาจนิยมให้กว้างขึ้น (liberalization of authoritarian regimes) โดยพยายามแทนที่สถาบันทางการเมืองต่างๆ ด้วยรูปแบบสถาบันที่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย อาทิ การมีระบบตัวแทนจากการเลือกตั้งในระดับต่างๆ


ในการศึกษาการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (ไม่ว่าจะอยากเปลี่ยนจริงๆ หรือเป็นเพียงยุทธวิธี หรือยุทธศาสตร์ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง) นักวิชาการหรือประชาชนจำนวนหนึ่งอาจจะสนใจแต่เรื่องของเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ละพื้นที่ แต่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะสนใจเรื่องของวิธีของการศึกษา (methodology) ของความเป็นไปได้ในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

กล่าวโดยภาพรวมแล้ว เราอาจจะพิจารณาได้ว่า การศึกษาการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้นมักจะมีอยู่ในสองรูปแบบ หนึ่งคือการศึกษาใน ระดับมหภาค คือสนใจว่ามีเงื่อนไขอะไรที่อยู่นอกตัวเราที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง (objective conditions) หรือบางทีพูดง่ายๆ ว่า เราเชื่อในมุมมองที่ว่าอะไรกำหนดอะไร (determination) เช่น การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การตั้งคำถามที่ว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นผลจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางชนชั้น หรือการเพิ่มขึ้นของระดับการศึกษา

ในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ การศึกษาใน ระดับจุลภาค คือสนใจตัวคน/กลุ่มคนที่มีบทบาททางการเมือง และยุทธศาสตร์ของกลุ่มเหล่านั้น โดยพิจารณาว่าแต่ละคนแต่ละกลุ่มนั้นมีผลประโยชน์อะไร มีความมุ่งหวังและการรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร และมองความสัมพันธ์ทางการเมืองของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายว่ามีความเป็นไปได้ในการเคลื่อนไหวอะไรบ้าง และมีการตัดสินใจเลือกในการเคลื่อนไหวแบบไหนได้บ้าง ซึ่งการศึกษาแนวนี้จะเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายในความเข้าใจถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ มุมมองที่เรามีต่อเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงมหภาค นั่นก็คือ เมื่อเรามองอะไรเป็นก้อนๆ ว่ามันมีการเปลี่ยนผ่านสังคม อาทิ ชนชั้นเปลี่ยนไปแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจเปลี่ยนไปแล้ว บ้านเมืองไม่เหมือนเดิมแล้ว เราก็อาจจะเชื่อว่า ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก เราทำหน้าที่แค่ "รอ" เท่านั้นเอง เพื่อให้สถานการณ์นั้น "สุกงอม" หรือเราก็จะตอบทุกคำถามง่ายๆ ว่า สิ่งที่มันเกิด หรือไม่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะ สถานการณ์มัน "สุกงอม" หรือ "ยังไม่สุกงอม" เท่านั้นเอง

พูดแบบขำๆ ก็คือ ถ้าวิเคราะห์สำเร็จก็บอกว่ามันสุกงอม ถ้าวิเคราะห์ไม่สำเร็จก็อธิบายว่าเพราะสถานการณ์ยังไม่สุกงอม (แต่ในการวิเคราะห์มักจะมีท่าทีขึงขังว่า ยังไงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออย่างไรมันก็ต้องเกิด) อะไรประมาณนั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็พูดได้ยากว่าเงื่อนไขในระดับมหภาคเช่นนี้ (อาทิ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ) นั้นจะเป็นตัวกำหนดตรงหรือตัวชี้ขาดสถานการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะข้อจำกัดที่สำคัญทางการวิเคราะห์แบบสังคมศาสตร์ก็คือ เราไม่สามารถจะฟันธงลงไปได้ว่า ถ้าเหตุการณ์ไม่เกิดเช่นนั้น มันจะเกิดเหตุการณ์แบบตรงข้ามกับเหตุการณ์นั้นได้จริงๆ หรือไม่ ซึ่งเรามักจะทำได้แค่ในระดับของความเป็นไปได้ หรือความถี่เท่านั้น

แต่จะฟันธงว่าเหตุการณ์บางอย่างจะเกิดขึ้นได้ไหมคงจะยากอยู่ เพราะอาจจะมีหลายเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ตัดสินใจทางการเมืองทั้งหลายนั้นอาจจะพลาดโอกาสที่จะมาถึงก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาในระดับมหภาคนั้น เราอาจจะพิจารณากว้างๆ ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้นอาจจะเกิดขึ้น อย่างน้อยในเงื่อนไขที่ว่าระบอบเผด็จการนั้นจำต้องเปิดกว้างขึ้น อาจจะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขสี่ประการ

1.ระบอบเผด็จการนั้นได้บรรลุวัตถุประสงค์บางประการของมันแล้ว ซึ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ต่อ (เช่น ประชาชนได้รับความสุขแล้ว บ้านเมืองสุขสงบดี ทุกฝ่ายหันมารักใคร่สามัคคีกลมเกลียว ทำดีกันทั่วบ้านทั่วเมือง)

2.ระบอบเผด็จการเริ่มสูญเสียความชอบธรรม ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับของการไม่ได้รับการสนับสนุน ประชาชนเริ่มไม่เงียบ และประชาชนเริ่มไม่ยอมอีกต่อไป ระบอบเผด็จการก็จะเริ่มระส่ำระสาย

3.เกิดความขัดแย้งภายในบรรดาผู้นำระบอบเผด็จการเอง โดยเฉพาะบรรดาผู้นำทหาร หรือการที่ผู้นำเริ่มแสวงหาพันธมิตรนอกกลุ่มของตนเองมากขึ้น

4.แรงกดดันจากต่างประเทศ ที่อาจจะบีบให้ระบอบเผด็จการนั้นเปลี่ยนแปลงจริงๆ หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงแค่ฉากหน้าให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ในสี่เงื่อนไขนี้ เงื่อนไขเรื่องการสูญเสียความชอบธรรม และความขัดแย้งในหมู่ผู้กุมอำนาจนั้นดูจะละเอียดซับซ้อนมากกว่าเรื่องของการที่ระบอบเผด็จการนั้นบรรลุภารกิจ หรือแรงกดดันจากต่างประเทศ

ทีนี้มาดูเรื่องของ ความชอบธรรม ที่เราชอบพูดกันจนราวกับเป็นคำอธิบายหลักไปแล้วว่าการเมืองหรือการปกครองนั้นเป็นเรื่องของความชอบธรรม "เท่านั้น" อาทิ การอธิบายว่า ความชอบธรรมเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้ระบอบเผด็จการนั้นดำรงอยู่ หรืออาจมองในมุมเดิมๆ ก็คือ ระบบการเมืองนั้นต้องการการสนับสนุน (support) หรืออย่างน้อยก็ต้องการให้คนนั้นยินยอมสงบ ไม่ออกมาเคลื่อนไหว (ที่อาจจะเรียกว่านิ่ง ไม่กระเพื่อม)

แต่เรื่องนี้ในวงการรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาการเมืองเองก็มีการถกเถียงกันอยู่มากว่า จริงไหมว่าความชอบธรรมนั้นแปลว่า "เชื่อ" หรือ "ศรัทธา" ในระบอบการเมืองนั้นๆ?

หรือว่าความภักดีต่อระบอบเผด็จการนั้นอาจจะเป็นเรื่องของการฉวยโอกาสทางการเมือง หรือความคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตน หรือแม้กระทั่งการยินยอมอยู่ในระบอบนั้นเพราะว่าขาดแคลนตัวเลือก (ดังนั้น ในบางครั้งเราอาจจะให้ความสนใจแต่กับการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น แต่อาจลืมไปว่าการต่อสู้ในเรื่องความชอบธรรมนั้นเป็นเรื่องของการนำเสนอทางเลือกด้วย)

หรือในอีกด้านหนึ่ง การขาดแคลนหรือสูญเสียความชอบธรรมนั้น อาจจะไม่ได้เป็นเงื่อนไขสุดท้ายที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้ ย้ำอีกทีว่า การสูญเสียความชอบธรรม กับการสูญเสียทางเลือกอาจจะไม่เหมือนกันและไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อาทิ ระบอบนี้อาจจะไม่ได้มีความชอบธรรมอะไรจริงๆ เช่น ประชาชนคลั่งไคล้ศรัทธารักใคร่อะไรขนาดนั้น แต่ทว่าประชาชนอาจจะไม่มีทางเลือกอื่นเสียมากกว่า หรือความชอบธรรมอาจจะวางอยู่บนการนำเสนอว่าทางเลือกอื่นๆ นั้นมันแย่กว่า หรือไม่มีก็อาจเป็นได้ (เราอาจจะลองพิจารณาว่า ในหลายๆ กรณี ฝ่ายต้านประชาธิปไตยอาจจะบอกว่า ประชาธิปไตยจริงๆ แล้วดี แต่ตอนนี้ไม่ดี ไม่เหมาะสม ตอนนี้สถานการณ์เป็นสถานการณ์พิเศษ เรื่องเหล่านี้เป็นการพยายามที่จะบอกว่าไม่มีทางเลือกที่ดีกว่าการยอมอยู่ในระบอบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเช่นนี้ต่อไป)

หรือถ้ามองอีกด้านหนึ่ง เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่า ระบอบเผด็จการนั้นจริงๆ แล้วกลัวการวิพากษ์วิจารณ์ หรือกลัวการนำเสนอข้อเสนอที่แท้จริงที่ทลายกรอบคิดในวันนี้ลงอย่างราบคาบมากกว่ากัน? ดังนั้น การต่อสู้จะเป็นเพียงแค่การวิพากษ์วิจารณ์ หรือด่าทอไปเรื่อยเจื้อย สนุกสนานกับความหยาบคาย เสียดสี หรือข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือกลัวกับการนำเสนอทางเลือกอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการล่มสลายของระบอบไปอย่างต่อหน้าต่อตา

สรุปอีกครั้งก็คือว่า ความชอบธรรมนั้นมันทำหน้าที่ก่อร่างสร้างและจัดระบบการยินยอมอยู่ในระบบ แต่การยินยอมอยู่ในระบบนั้นอาจไม่ได้หมายถึงการเคารพศรัทธาและปกป้องระบบอย่างจริงๆ จังๆ ก็ได้ หรือบางทีระบอบนั้นอาจจะเสียความชอบธรรมไปแล้ว แต่มีกระบอกปืนจ่อหัวผู้คนอยู่ ก็อาจจะยังอยู่ได้ ตราบใดที่ทางเลือกต่อระบอบนั้นยังไม่ชัดเจน

อีกวิธีในการค้นหาเรื่องการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยก็คือ การค้นหาว่าผู้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่าน (รวมทั้งไม่อยากให้เปลี่ยนผ่านนั้นเขามีผลประโยชน์และความมุ่งหวังอะไร และเขาแสดงออกในเชิงท่าทีอย่างไร (เช่นแสดงตรงๆ หรือมุ่งหวังไปเพื่อทางใดทางหนึ่ง) ซึ่งอาจจะพูดได้ยากว่าในสังคมไทย ผลประโยชน์ที่เราหมายถึงนั้นเป็นผลประโยชน์ในแบบที่จับต้องได้ หรือเป็นผลประโยชน์ในระดับการยึดครอง/ยึดกุมความหมายบางประการเอาไว้ด้วย ไม่ว่าจะหมายถึงทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจ หรือบรรดาคนดี ที่มองว่าการทำลายล้างประชาธิปไตยคือการตอบแทนคุณแผ่นดิน

บางทีเราก็อาจจะต้องถามคำถามที่ฝรั่งเองก็ตอบไม่ได้ เช่น ฝรั่งคิดง่ายๆ ว่าทหารในประเทศโลกที่สามนั้นมีผลประโยชน์ทางการเมือง คือเรื่องของทหารต้องการความเป็นมืออาชีพ ไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง ขณะที่เราอาจจะต้องคิดว่า ทหารไทยอาจไม่ได้ตั้งหลักด้วยเรื่องของการรู้สึกว่าถูกคุกคามในแง่ของเอกภาพและอิสระเสมอไป แต่อาจจะต้องเข้ามาแทรกแซงเพราะรู้สึกเป็นหน้าที่

หรือแบบที่ป๋าให้โอวาทล่าสุดว่าต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน หรืออาจจะมองว่าเป็นการแสดงออกซึ่งหน้าที่โดยตรงของทหาร (ดูโอวาทปีใหม่ของป๋าได้ครับ เรียกว่าจัดเต็มกว่าเวอร์ชั่นจ๊อกกี้ขี่ม้าเมื่อหลายปีก่อนอีกหลายเท่าครับ อันนี้ต้องชื่อว่าโอวาทฉบับ "ม้ากระทืบโรง" ครับ)

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องของการคาดคำนวณผลประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งหลายนั้น สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อคิดจากประสบการณ์หลายประเทศก็คือ คำพูดของทหารหาญในหลายๆ ครั้ง ทำให้เราเห็นว่าการทำรัฐประหารนั้นถือเป็นการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง

และในการแบ่งกลุ่มของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้น เราคงต้องแบ่งเป็นพวกสายที่เน้นความเสี่ยง คือสนใจการใช้กำลัง และพวกที่สนใจการเจรจาประนีประนอมที่ไม่ต้องการเสี่ยง ซึ่งขึ้นกับการคาดการณ์สถานการณ์ด้วย

ไม่ใช่แค่เรื่องของผลประโยชน์ที่แต่ละกลุ่มมี แต่มันหมายถึงความคาดหวังที่อาจจะวางอยู่บนการเข้าใจสาเหตุ-ผลลัพธ์จริงๆ หรืออาจจะไม่ได้เห็นหรือเข้าใจสาเหตุ แต่คิดว่ามันเป็นสาเหตุทั้งที่อาจจะเป็นเพียง "สัญญาณ" หรือ "การตีความ คาดเดา" เอาเองก็ได้ (ในแง่นี้อาจเป็นไปได้ว่า ที่อ้างว่าเราจะต้องมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพราะมีเหตุ มันอาจจะไม่ใช่เหตุ แต่ไปสับสนว่าเป็นเหตุ ทั้งที่มันคือการคาดเดาสัญญาณบางประการไปเองอีกต่างหาก)

ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าสัญญาณบางประการนั้นอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (หรืออาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านออกจากประชาธิปไตยได้เช่นกัน) เพราะมันอาจจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ว่าเราเชื่อว่าสถานการณ์ในระดับโครงสร้างมันเปลี่ยน หรือต้องรอให้มันเปลี่ยน แต่มันเป็นเรื่องที่ผู้ที่มีบทบาทแต่ละกลุ่มคาดหวังและอ่านสัญญาณกันไปเองด้วยส่วนหนึ่ง

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ที่น่าจะพูดถึงในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย (และเปลี่ยนออกจากประชาธิปไตย) ยังคงมีอีกหลายเรื่องครับ เดี๋ยวไว้ค่อยว่ากันต่อในวันหลังดีกว่าครับ

(ที่มา:มติชนรายวัน 6 มกราคม 2558)