วันศุกร์, มกราคม 16, 2558

กู้ศรัทธา ที่เริ่มถดถอย - แป๊ะชักหงุดหงิด

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
กู้ศรัทธา ที่เริ่มถดถอย

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
นสพ. โลกวันนี้
Credit Thai Liberation

หลังปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปเรื่อยๆเอื่อยๆมาพักใหญ่ จนคะแนนนิยมเริ่มถดถอย ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องกระชับอำนาจด้วยการกลับไปออกคำสั่งในฐานะหัวหน้า คสช. อีกครั้ง

เป็นการใช้อำนาจหัวหน้า คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อเร่งรัดส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ผลิตผลงานตามยุทธศาสตร์ 9 ข้อของ คสช. ที่ประกาศเอาไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557

บัดนี้เวลาผ่านมาเกือบครึ่งปี แต่ผลงานตามยุทธศาสตร์ 9 ข้อ ยังไม่ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม หากขืนปล่อยให้หน่วยงานราชการทำงานเช้าชามเย็นชามกันต่อไปจะบั่นทอนความศรัทธาที่มีต่อ คสช. และรัฐบาล ซึ่งจะมีผลลุกลามไปถึงเรื่องความมั่นคง

พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องกลับไปใช้อำนาจและคนใน คสช. มาไขลานให้การทำงานกระฉับกระเฉงมากขึ้น

คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้า คสช. เป็นประธาน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.วรพงษ์ สว่างเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์, นายอำพน กิตติอำพล, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ และผู้ทรงคุณวุฒิที่หัวหน้า คสช. จะแต่งตั้งขึ้นมาอีกไม่เกิน 3 คน

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้คือ

1.ติดตามและประเมินผลการดำเนินการของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ คสช.

2.รายงานผลดำเนินการตามข้อ 1 รวมทั้งความเห็นหรือข้อเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขต่อหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

3.กำหนดแนวทางและมาตรการ หรือกลไกในการประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ คสช. เกิดผลเป็นรูปธรรม

4.ในกรณีที่เห็นสมควรอาจแจ้งต่อหัวหน้า คสช. เพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของ คสช. และคณะรัฐมนตรีเพื่อปรึกษาหารือ หรือพิจารณาแนวทางดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ คสช. มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อพิจารณา หรือช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามความจำเป็น

6.เชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ หรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงให้ข้อเท็จจริงความเห็น หรือข้อเสนอแนะ หรือเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น

7.ดำเนินการอื่นใดตามที่หัวหน้า คสช. มอบหมาย

สำหรับยุทธศาสตร์ 9 ข้อ ที่ประกาศไว้เกือบครึ่งปี แต่ไม่มีความคืบหน้าจนต้องตั้งทีมมาไขลานหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย

1.การสร้างความเป็นธรรมในสังคม
2.การพัฒนาคนสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
3.การสร้างความเข้มแข็งทางการเกษตร ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร
4.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตและมีคุณภาพยั่งยืน
5.การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
6.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
7.การปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
8.การปรับปรุงโทรคมนาคม เทคโนโลยีของชาติ ให้เกิดความมั่นคงอย่างทัดเทียมในอาเซียนและประชาคมโลก และ
9.การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการทุจริตอย่างยั่งยืน

เกือบครึ่งปีปล่อยให้หน่วยงานราชการไม่ทำอะไรให้เห็นเป็นประจักษ์ จนเริ่มกระทบต่อเสียงเชียร์ คะแนนนิยม

แม้จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล นั่งสั่งงานในคณะรัฐมนตรี สั่งทุกหน่วยงานราชการได้ แต่อำนาจในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารก็ไม่กระชับเต็มมือเหมือนอำนาจหัวหน้า คสช.

ต้องรอดูว่าคณะกรรมการชุดนี้จะไล่บี้หน่วยงานต่างๆให้รีดผลงานออกมาได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับเวลานั่งอยู่ในอำนาจที่ลดน้อยลงทุกที
ooo

"ประวิตร" พร้อมเร่งขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์ คสช.มั่นใจไม่ขัดแย้งรัฐบาล https://www.youtube.com/watch?v=UsBwG0SxcsU#t=12

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
ooo

แป๊ะชักหงุดหงิด ขู่โละสนช.-สปช.เริ่มต้นใหม่

January 15, 2015
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
ที่มา โลกวันนี้

“ไม่มีใครทำได้ ผมคิดหรือสั่งให้ตาย ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ไม่ให้ความร่วมมือกับผมสักเรื่อง มีแต่คำถามเลือกตั้ง แล้วผมจะทำได้อย่างไร ประชาธิปไตย เลือกตั้ง เลือกตั้ง จะทำได้ไหม พวกมาพูดอย่างนี้ๆ แล้วตอนมึงอยู่ มึงไม่ทำล่ะ”

แม้เคยรับปากว่าจะพยายามควบคุมอารมณ์ให้ดีขึ้น แต่การให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังหลุดปากออกมาก่อนคิดได้แล้วแก้ว่า

“ผมไม่ได้พูดไม่สุภาพนะ สื่ออย่าเอาไปเขียน ส่วนเป็นใครไม่รู้ แต่คนไม่ดีผมไม่เคารพอยู่แล้ว คนดีมีอีกเยอะแยะ แต่คนไม่ดีก็มีอยู่ ถ้าก่อนหน้านี้เขาไม่ทำ พอผมเข้ามาแล้วมาทำ แต่กลับถูกโจมตีว่าทำทำไม อย่างนั้นผมไม่ทำไม่ดีกว่าหรือ นั่งเสวยสุขไปเรื่อยๆ มีการเลือกตั้งผมก็กลับไปนอนสบายที่บ้าน ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องโดนด่าด้วย วันนี้จะผิดหรือถูกผมไม่รู้ แต่ประเด็นคือ อะไรคือตัวปัญหา หรือก่อให้เกิดปัญหา สิ่งนั้นต้องสอบสวน รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลเฉพาะกาล เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และสานต่องานเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลต่อไป ซึ่งยังมีเรื่องอีกมาก”

ดูจากอากัปกิริยาแล้วบ่งชี้ว่า “แป๊ะ” เริ่มหงุดหงิด ไม่ค่อยพอใจการทำงานขอพวกที่ถูกเชิญขึ้นเรือในหลายเรื่อง เลยพาลไปถึงคนที่คอยแสดงความเห็น คอยวิจารณ์ว่า “…พวกมาพูดอย่างนี้ๆ แล้วตอนมึงอยู่ มึงไม่ทำล่ะ…”

หน่วยงานรัฐก็ทำงานช้าไม่ทันใจ ทำให้ผลงานไม่ออกมาเท่าที่ควรจนคะแนนนิยมเริ่มตกต่ำ ต้องตั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ของน้องๆบูรพาพยัคฆ์ กับทีมงานทหารมาไขลาน ไล่บี้ ไล่จี้ ให้ทำงาน เลิกเกียร์ว่าง โดยจะไปไล่ดูตั้งแต่ระดับล่างมาจนถึงข้างบน

หันไปดูผู้โดยสารในเรือแป๊ะ อย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็ทำท่าว่าจะคุมไม่อยู่ ต้องส่งตัวแทนไปประสานพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจถึงทิศทางที่รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการอีกครั้งในวันนี้ (15 ม.ค.)

“…เป็นการพูดคุยเพื่อรับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานของ สนช. และ สปช. และบางอย่างอาจต้องสอบถามเหตุผลในการดำเนินการว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่ทั้งหมดต้องรอผลสรุป ข้อยุติทั้งหมดในช่วงปลายปี และพิจารณาว่าจะดำเนินการเช่นนั้นหรือไม่ หากมีการทะเลาะเบาะแว้งก็อาจตั้งใหม่…”

พล.อ.ประยุทธ์ขู่โละทิ้ง ไล่ลงจากเรือแป๊ะ หาผู้โดยสารชุดใหม่ หากขืนยังออกนอกลู่นอกทาง

หากตั้งใหม่ก็หมายความว่ากระบวนการปฏิรูปประเทศ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องถอยหลังไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ การคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งก็ต้องทอดยาวออกไปอีก

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดคือ ประกาศผลช่วงปลายปี หมายความว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกยกร่างขึ้นมาจนเสร็จแล้ว หากเป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งก็จะโละทิ้งแล้วเริ่มต้นใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะได้นั่งอยู่ในอำนาจต่อไป โดยไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกยกร่างขึ้นมาใหม่อีกครั้งจะเป็นที่พอใจหรือไม่ หรือต้องโละทิ้งเขียนใหม่ โละทิ้งเขียนใหม่ ไปเรื่อยๆ