วันศุกร์, มกราคม 09, 2558

คำแถลง ‘ยิ่งลักษณ์’ โต้แย้งถอดถอนปมจำนำข้าว




โดย Clip Thai
https://www.youtube.com/watch?v=KMiuzkctrqY

Published on Jan 9, 2015
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงโต้แย้ง กรณีถอดถอนปมจำนำข้าว วันที่ 9 มกราคม 2558
ooo

คำแถลงของ ‘ยิ่งลักษณ์’ โต้แย้งถอดถอนปมจำนำข้าว


ที่มา MThai News

หมายเหตุ : เอกสารคำแถลงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ความหนา 139 หน้า โต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนของคณะกรรมการป.ป.ช. ที่เสนอถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยกล่าวหาปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายจากโครงการ รับจำนำข้าว มีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้

1.ความเป็นมาของนโยบาย

โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่มีการดำเนินการในหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524 เรื่อยมา ว่างเว้นก็แต่ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ช่วงปี 2552 ถึงต้นปี 2554 ที่ใช้แนวทางการประกันรายได้เกษตรกร

โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการช่วยเหลือชาวนา ถือว่าเป็นการลงทุนของประเทศชาติ จึงไม่ควรจะคิดกำไร-ขาดทุนจากโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นกระดูกสันหลังของชาติ

2.ไขข้อข้องใจต่อโครงการรับจำนำข้าว

2.1 ทำไมกำหนดราคารับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท และรับจำนำทุกเม็ด

กำหนดราคาจำนำข้าวเปลือกตันละ 15,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาและข้อบกพร่องโครงการรับจำนำข้าวในอดีตที่ต่ำกว่าตลาด และแค่ร้อยละ 10 ของการผลิตข้าวในประเทศ เพื่อให้มีแรงผลักดันให้ข้าวเปลือกราคาสูง ทำให้ชาวนามีรายได้ที่เหมาะสม คุ้มค่าต่อการลงทุน

โดยวางระดับรายได้ชาวนาใกล้เคียงกับรายได้ของผู้ใช้แรงงาน คือมีรายได้ประมาณ 240 บาทต่อคนต่อวัน ใกล้เคียงกับแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน

การรับจำนำข้าวทุกเม็ดเมื่อรวมกับการกำหนดราคาที่ตันละ 15,000 บาท จะทำให้ราคาข้าวเปลือกอยู่ในระดับที่สูงตามไปด้วย ชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็จะได้รับผลประโยชน์เช่นกัน

แม้รับจำนำทุกเม็ดแต่ข้าวทั้งปีการผลิต 38 ล้านตัน ฤดูกาลผลิต 2555/56 มีข้าวที่เข้าร่วมโครงการเพียง 22 ล้านตัน หรือ 58% คงเหลือข้าวอยู่นอกโครงการ 16 ล้านตัน





2.2 จริงหรือที่โครงการรับจำนำข้าวบิดเบือนกลไกตลาด?

โครงการรับจำนำข้าวไม่ได้บิดเบือนกลไกตลาด แต่ช่วยให้การกำหนดราคาข้าวเหมาะสมขึ้น ประโยชน์ตกอยู่กับชาวนา โดยรัฐบาลรับเอาความเสี่ยงจากชาวนามาบริหาร ทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรองมากขึ้น และทำให้ตลาดการค้าข้าว “เสรี” และ “เป็นธรรม”

รัฐเองไม่ได้ซื้อข้าวแต่ผู้เดียวตามที่มีการกล่าวหา เพราะพ่อค้าข้าวยังสามารถซื้อข้าวเปลือกได้มากถึงร้อยละ 40-50 ของผลผลิต

และแม้ช่วงแรกจะประกาศจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ด แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วจากผลผลิตข้าว 38 ล้านตัน มีข้าวเปลือกมาจำนำ 22 ล้านตัน หรือร้อยละ 58 จึงยังคงมีข้าวในตลาดที่พ่อค้าสามารถซื้อขายได้อย่างเสรีอีกร้อยละ 42

ช่วงต่อมา ปริมาณข้าวที่จะจำนำลดลง เพราะรัฐบาลจำกัด ให้แต่ละรายไม่เกินมูลค่า 500,000 บาท และ 350,000 บาทต่อราย ในที่สุด

ปี 2556/2557 รับจำนำข้าวเพียง 16.5 ล้านตัน จากผลผลิต 38 ล้านตัน หรือเพียงร้อยละ 44 ทำให้มีข้าวเปลือกที่อยู่วงจรการค้าข้าวของพ่อค้าข้าวถึงร้อยละ 56

การระบายข้าว กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการขายข้าวตามกรอบยุทธศาสตร์ 5 วิธี เหมือนการขายข้าวในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา จนถึงรัฐบาลปัจจุบันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

2.3 ปล่อยให้มีการทุจริตและการระบายข้าวของรัฐบาล

โครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวดำเนินการมาก่อนหน้ารัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วไม่ต่ำกว่า 32 ปี กระบวนการและขั้นตอนรวมถึงองค์ประกอบของคณะทำงานคล้ายคลึงกัน หลายขั้นตอนถูกนำไปใช้ในโครงการประกันรายได้ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นกัน

รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สร้างมาตรการเพิ่มเติมเพื่อป้องกัน ปราบปราม ตรวจสอบ ลดความเสี่ยงและดำเนินการในเรื่องต่างๆ ในกำกับ ควบคุม ดูแล โดยไม่เพิกเฉยหรือละเลยเพื่อป้องกันความเสียหาย

นำปัญหาในอดีตมาปรับปรุงเพื่ออุดช่องว่าง ขั้นตอนการปฏิบัติได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา โดยนำข้อเสนอจากผู้บริหารโครงการ ผู้ปฏิบัติ โรงสี ชาวนา พ่อค้าข้าว ฯลฯ

รวมถึงข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภายนอกอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินด้วย (สตง.)

เป็นรัฐบาลแรกที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำเรื่องปิดบัญชีข้าวโดยเฉพาะ ทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต

เพื่อป้องกันการทุจริต การประชุมคณะรัฐมนตรี 19 มิ.ย. 2555 มีมติมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ จับกุมผู้กระทำความผิดและสั่งให้ดำเนินคดีจำนวน 276 คดี

กรณีมีข้อกล่าวหาเรื่องระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดพาณิชย์เป็นประธาน สรุปผลว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง

กรณีการกล่าวหาทุจริตโครงการข้าวถุง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มี นายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานช่วงดำเนินโครงการมีโรงสีทุจริต จึงมีการตัดสิทธิโรงสีและไม่อนุญาตให้เข้าร่วมโครงการ 12 ราย ในพื้นที่ 9 จังหวัด



2.4 ข้อกล่าวหาข้าวคุณภาพต่ำและรับจำนำข้ามเขต

มีประกาศห้ามรับจำนำข้าวคุณภาพต่ำ 18 สายพันธุ์ เช่น พวงทอง พวงเงิน พวงแก้ว โพธิ์ทองของคลองหลวง และสามพราน 1 และห้ามรับจำนำข้าวอายุสั้นกว่า 110 วัน

กำหนดราคารับจำนำข้าวสูงต่ำตามคุณภาพข้าว ราคาตันละ 15,000 บาท เฉพาะข้าวเปลือกเจ้า 100%

ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการสวมสิทธิ์ข้าวหรือลักลอบนำข้าวข้ามเขตนั้น มีอนุกรรมการรับจำนำข้าวระดับจังหวัดและคณะทำงานจังหวัดมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ตรวจข้าวที่เข้าโครงการ ป้องกันการสวมสิทธิ์และปลอมปนข้าว

2.5 กรณีข้าวหาย ข้าวเน่าและข้าวเสื่อมคุณภาพ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ

ประเทศชาติจะไม่ได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าวเลย เพราะมีผู้รับผิดชอบแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน มีผู้รับผิดตามสัญญาแต่ละกรณี เช่น อคส. อ.ต.ก. เจ้าของโกดัง เซอร์เวย์เยอร์ ประกันภัย ฯลฯ



2.6 การระบายข้าวแบบจีทูจี นายกฯ รับรู้และดำเนินการอย่างไร

กรณี ป.ป.ช.เห็นว่าคำจำกัดความของ “รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อ” หากเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องถือหุ้น 100% โดยรัฐบาลกลางเท่านั้น ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ถือปฏิบัติตามทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยอมให้รัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้น 100% โดยรัฐบาลมณฑล หรือรัฐบาลท้องถิ่น ทำสัญญารัฐต่อรัฐได้

แต่นายกฯ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาสัญญาที่จะมีการลงนาม หรือลงนามแล้วแต่ยังไม่มีการส่งมอบ ให้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ก่อน

เป็นผลให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกสัญญาซื้อข้าวแบบรัฐต่อรัฐของรัฐวิสาหกิจของมณฑล เฮยหลงเจียง ประเทศจีน จำนวน 1.2 ล้านตัน มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท

และในหลักการบริหาร หากมีการกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบในระดับปฏิบัติแล้ว จะให้นายกฯ ร่วมรับผิดชอบการประพฤติทุจริตของฝ่ายปฏิบัติการนั้นๆ ย่อมไม่ใช่วิสัย




2.7 โครงการรับจำนำข้าวไม่ขาดทุน และไม่ทำให้ประเทศชาติ เสียหาย

รายงานการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ทำมา พิจารณาเฉพาะผลโดยตรง และมีข้อโต้แย้งทั้งการไม่บันทึกบัญชีข้าวบางส่วน การคำนวณมูลค่าสต๊อกคงเหลือ การเสื่อมราคาข้าว ไม่ได้บันทึกบัญชีข้าวสารครบถ้วน

ดังนั้น เงินที่ใช้ในโครงการที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ เรียกว่า “ขาดทุน” สำหรับการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 พ.ค. 2556 ควรจะเป็นประมาณ 219,432 ล้านบาท ไม่ใช่ 332,372 ล้านบาท

2.8 โครงการรับจำนำข้าวไม่ทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง ไม่สร้างปัญหาหนี้สาธารณะ

การจัดสรรวงเงิน ครม.มีมติให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้กู้เงิน กระทรวงการคลังค้ำประกัน วงเงินที่ใช้แต่ละปีเป็นตามกรอบกฎหมายการกู้เงิน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังค้ำประกันได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบฯ รายจ่ายประจำปีและงบฯ เพิ่มเติม

ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีมีสถานะ ณ สิ้นปี 2556 หลังยุบสภาอยู่ที่เพียง 5.449 ล้านล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 45.71 ของจีดีพี มีการยืนยันจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า สถานะการเงินของประเทศมีเงินคงคลังอยู่ถึง 3 แสนกว่าล้านบาท ยังมั่นคงอยู่มาก

2.9 ปัญหาการจ่ายเงินชาวนาในปี 2556/57 ไม่ได้เกิดจากนโยบายการรับจำนำข้าว

การดำเนินงานโครงการตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ไม่เคยมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวแก่ชาวนา ปัญหาเกิดขึ้นในฤดูกาลผลิตนาปี 2556/2557 ตั้งแต่ ต.ค. 2556 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลใช้ชาวนาเป็นเครื่องมือ ขัดขวาง ทำให้ธนาคารรัฐและรัฐบาลไม่สามารถกู้เงินได้




2.10 ข้อกล่าวหาที่ว่าชาวนายากจนได้ประโยชน์จากโครงการน้อยกว่าชาวนาที่มีฐานะปานกลางและฐานะดี

ข้อมูลของ ธ.ก.ส. มูลค่าการจำนำข้าวเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มโครงการปลายปี 2554 จนถึงฤดูกาลนาปี 2556/2557 ชาวนามากกว่าครึ่ง คือร้อยละ 54 ได้รับเงินจากการจำนำข้าว ไม่เกินรายละ 150,000 บาท (เป็นชาวนารายเล็กที่มีที่ดินไม่เกิน 12 ไร่)

และประมาณร้อยละ 64 ได้รับเงินจำนำข้าวไม่เกิน 200,000 บาท (เป็นชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 25 ไร่)

และในฤดูกาลผลิตนาปี 2556/2557 มีการจำกัดให้ชาวนาจำนำได้รายละไม่เกิน 350,000 บาท มีชาวนาถึงร้อยละ 79 ที่ได้รับเงินจำนำไม่เกินรายละ 200,000 บาท

2.11 ข้อกล่าวหาเรื่องโครงการข้าวถุงราคาถูก

หลังมีข่าวคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวมีมติให้ระงับโครงการข้าวถุงฯไว้ก่อน ต่อมานายกฯ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการข้าวถุง มี นาย สมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน

2.12 ข้อกล่าวหาที่ว่าการรับจำนำข้าวไม่ได้ช่วยในเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพสูงและผลผลิตสูง จริงหรือไม่

การไม่รับจำนำข้าวที่มีคุณภาพต่ำ 18 สายพันธุ์ และข้าวพันธุ์ที่มีอายุต่ำกว่า 110 วัน จะทำให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพมาปลูก

การจัดโครงการพัฒนาดินและการทำเขตเฉพาะการเกษตร (เกษตรโซนนิ่ง) จะช่วยทำให้การผลิตข้าวมีผลผลิตสูงและต้นทุนต่ำ

2.13 ข้าวไทยเสียแชมป์ จริงหรือ

ช่วงก่อนปี 2554/55 ไทยเป็นแชมป์การส่งออก เพราะอินเดียมี นโยบายการเก็บสำรองข้าวไว้บริโภคในประเทศ ส่งออกเพียง 3-4 ล้านตันต่อปี เวียดนามก็มีข้าวส่งออกเพียงปีละ 7 ล้านตัน

หลังปี 2554/55 อินเดียเปลี่ยนนโยบายส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 10 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 300%-400% และยังมีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงนำโดยอินเดียและเวียดนาม ไทยจึงไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกเช่นเดิม แต่สถานการณ์การขายข้าวไทยก็ดีขึ้นเป็นลำดับ

3.ข้อกล่าวหามีวาระซ่อนเร้น เพื่อวัตถุประสงค์ทาง การเมือง





3.1 ข้อกล่าวหา”ทุจริตเชิงนโยบาย”

โครงการรับจำนำข้าวมีการดำเนินการผ่านมาหลายรัฐบาลนับแต่ปี 2524 แม้แต่ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ดำเนินโครงการนี้ในปี 2552 ก่อนเปลี่ยนเป็นโครงการประกันราคาข้าว

เมื่อเป็นสัญญาประชาคม เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เรื่องทั้งหมดจึงถือเป็นการจัดทำ “นโยบายสาธารณะ” เป็นการกระทำทางการบริหารรัฐ (Act of Government) อันเป็นหลักปฏิบัติของรัฐบาลที่ดี

3.2 ข้อกล่าวหาถึงการที่ยังดำเนินโครงการทั้งๆ ที่รู้ว่า “ยิ่งดำเนินการต่อ รัฐยิ่งเสียหาย”

การยุติหรือยกเลิกโครงการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ และประธาน กบข. โดยลำพังสามารถยกเลิกโครงการได้หรือไม่ เพราะตลอดมาการดำเนินโครงการมิได้ดำเนินการโดยลำพังแต่เป็นรูป คณะบุคคล

แม้กระทั่งตามหนังสือของ ป.ป.ช. ฉบับวันที่ 30 เม.ย. 2555 ยังยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสำคัญและเป็นนโยบายหลักที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ที่อัยการสูงสุดชี้ข้อไม่สมบูรณ์ 3 ประเด็นในสำนวน ป.ป.ช. เมื่อข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ ยังไม่เสร็จสิ้นกระแสความก็ด่วนกล่าวหา แล้วจะถือว่าข้อกล่าวหาถูกต้องได้อย่างไร

คดีนี้มีการชี้มูลความผิดหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 7 พ.ค. 2557 เพียงวันเดียว รุ่งขึ้นวันที่ 8 พ.ค. 2557 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทันที ตรงสุภาษิตทางกฎหมายที่ว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

หากดำเนินคดีเอากับคณะรัฐมนตรีและ กบข.ทั้งคณะ ดังเช่นคดีหวยบนดิน อาจใช้เวลา ที่ผู้กล่าวหาไม่อาจตอบสนองต่อวาระทางการเมืองที่จะทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งได้

4.กระบวนการไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม

การรวมคดีถอดถอนเข้ากับคดีอาญาโดยไม่ถูกต้อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่ใช่ผู้ที่ “เป็นกลาง” ในการชี้มูลความผิดคดีถอดถอน

เพราะหากไม่รวมคดีพรรคประชาธิปัตย์ต้องหาหลักฐานมาเสนอให้ ป.ป.ช. แต่เมื่อรวมคดี ป.ป.ช.กลายเป็นผู้หาหลักฐานให้กับพรรคประชาธิปัตย์ผู้ร้องคดีถอดถอน

โดยนำพยานหลักฐานในคดีอาญามารวมให้กับคดีถอดถอนในลักษณะเติมพยานให้กับคดีถอดถอน และเร่งชี้มูลความผิดในคราวเดียวกัน และยังมีกระบวนการไต่สวนที่เร่งรีบ รวบรัด เป็นกรณีพิเศษ

การเลือกพิจารณารับฟัง พยาน หลักฐาน ที่เป็นอคติ และเป็นผลร้าย อาทิ รายงานวิจัยซึ่งเป็นพยานเอกสารและนายนิพนธ์ พัวพงศกร จาก TDRI และรับฟังพยานบุคคลรายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวรงค์ เดชกิจวิกรม พร้อมพยานเอกสารจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส่วนใหญ่





5.บทสรุปโครงการรับจำนำข้าว

จากการปฏิบัติหน้าที่ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กล่าวข้างต้นไม่ใช่การทำหน้าที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และมาตรา 178 หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 11 (1)

กรณีถอดถอนมีข้อเท็จจริงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และรมว.กลาโหม ไปตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2557 แล้ว แต่ ป.ป.ช. กลับชี้มูลความผิดในวันที่ 8 พ.ค. 2557

การดำเนินการตามสำนวนในเรื่องนี้จึงไม่สมเหตุสมผล นอกจากเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์อื่นใดหรือไม่

ข้อมูลจาก ข่าวสดออนไลน์