วันศุกร์, มกราคม 09, 2558

2 จุดที่น่าสังเกตุมาก ๆ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์




(PORAMATE MINSIRI)
ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจมากๆ 2 จุดนี้ครับ

1. คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ กปช. มีนายกเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่งได้แก่ มีอำนาจสูงมาก จนถึงขั้นสั่งการหน่วยงานภาคเอกชน "สั่งให้ทำหรือห้ามทำอะไรก็ได้" ส่วนภาครัฐนั้นนายกฯสั่งได้อยู่แล้ว

เท่ากับว่ากฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งองค์กรเอกชนทั่วราชอาณาจักร

** ขอดอกจันไว้ว่า ท่านนายกประยุทธ์ยืนยันว่าจะอยู่ในตำแหน่งเพียงปีเดียวนะครับ หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน อำนาจล้นฟ้าขนาดนี้อาจตกไปอยู่ในมือใครก็ได้

2. พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถดักฟังเจาะล้วงข้อมูลได้ทั้งประเทศโดยไม่ต้องขอหมายศาล

ย้ำนะครับว่าพนักงานก็สามารถทำได้ ซึ่งในความเป็นจริงข้าราชการก็ไม่ได้เป็นคนดูข้อมูลตรงนี้เท่าไหร่ เพราะเขาก็จะจ้างเอกชนมาทำระบบแบบ Turn-Key คนที่มาอ่าน LINE อ่านเมล์ของคุณก็อาจจะเป็นพนักงานบริษัทที่มารับจ้างดูแลระบบ แค่จดหมายฉบับเดียวจากรัฐมนตรีเขาก็จะดักเจาะข้อมูลได้ทั่วประเทศ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับมาตรการความมั่นคงระดับนี้คือ บริษัทต่างชาติที่สนใจมาตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคแถบนี้ จะไม่เลือกมาตั้งที่ประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะเขาจะลงทุนไปทำไมในเมื่อความลับทางการค้าทั้งหมดสามารถถูกเจาะเข้าไปดูได้ทั้งหมดอย่างถูกกฎหมาย ในทางกลับกันบริษัทต่างๆจะพากันไปตั้งสำนักงานพร้อมเซริฟเวอร์ในต่างประเทศกันอย่างมากเพื่อที่จะไม่ถูกดักล้วงข้อมูลความลับทางการค้าจากรัฐบาลไทย

ทำแบบนี้จะเป็นการส่งเสริม Digital Economy ได้อย่างไร?

ข้อเสนอ : ห้ามให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดักฟังดักรับข้อมูลอย่างเด็ดขาด การกระทำเช่นนี้สามารถทำได้เป็นกรณีๆไปภายใต้คำสั่งศาล ต้องขอหมายศาลก่อน หากให้อำนาจกับพนักงานไปจะเป็นการขัดต่อหลักสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่จะมีสิทธิในข้อมูลและการสื่อสารอย่างเป็นส่วนตัวตามปกติ

Sa-nguan Khumrungroj
....