วันอังคาร, มกราคม 27, 2558

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ไปให้พ้น"1984" (อย่าปล่อยให้) "พี่เบิ้มจับตาดูคุณ"


ที่มา มติชนออนไลน์
โดย พิมพ์ชนก พุกสุข

"จะผ่านทำไม แล้วจะเป็นทำไมวะนายกฯ จะเป็นทำไม"

น้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้นแสดงความไม่สบอารมณ์ขณะตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผ่าน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

สะท้อนบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับกฎหมายนี้

โดยเฉพาะความกังวลของผู้ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ด้วยข้อสะกิดเตือนที่ชวนให้ฉุกคิดว่า กฎหมายฉบับนี้ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอลอีกชุดหนึ่ง อาจจะให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลประชาชนในทุกรูปแบบ ซึ่งต่อไปจะเรียกดูข้อมูลของใคร จากช่องทางไหนก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ จนสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคลอาจถูกละเมิดได้

ฟังแล้วก็ให้คิดถึงนิยายเรื่องหนึ่งของ จอร์จ ออร์เวลล์

เหมือนว่ากฎหมายนี้จะพาเราเข้าใกล้เมือง "โอชันเนีย" ในนวนิยายเรื่อง 1984 ที่มี "ตำรวจความคิด" และ "กระทรวงความจริง" คอยตรวจตราภายใต้สายตาของ "บิ๊ก บราเทอร์" หรือ "พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณ"

แต่ในซอกมุมเล็กๆ อย่างน้อยก็มีคนออกมาสะท้อนและคัดค้านในเรื่องนี้

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล คือหนึ่งในบุคคลที่กำลังพูดถึง ในฐานะนักวิจัยโครงการวิจัยความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ที่จะพาเราก้าวข้ามให้พ้นแบบที่เป็นในนิยายเรื่องดัง

กฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอลและความมั่นคงไซเบอร์?

รวมๆ แล้วมันมีอยู่ทั้งหมด 13 ฉบับ เรียกเป็น 10+3 คือมี 10 ฉบับที่เสนอมาโดยทางกระทรวงไอซีที คือ 8 ฉบับที่ ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 มกราคม แต่ก่อนหน้านี้มันมีอีก 2 ฉบับที่ ครม.เห็นชอบแล้วเหมือนกันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 เป็นเรื่องของการตั้งกระทรวงดิจิตอลและตั้งคณะกรรมการดิจิตอล รวมเป็น 10 ฉบับ ที่กระทรวงไอซีทีเสนอ

ทีนี้จะมีอีก 3 ฉบับที่จะพูดเรื่องข้อมูลข่าวสารความเป็นส่วนตัวเหมือนกัน คือ พ.ร.บ.สภาไอซีที พ.ร.บ.สภาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร จะเป็นโครงสร้างที่จะไปอยู่ในตัวคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยอันหนึ่ง และอีกอันหนึ่งคือ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เสนอโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พูดถึงเรื่องว่าที่ผ่านมามันมีเนื้อหาที่อาจจะก่อความแตกแยกในสังคมหรือมีเยาวชนเลียนแบบ จำเป็นจะต้องมีพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจค้น ดักข้อมูล ซึ่งมาตรา 16 ใน พ.ร.บ. สิ่งยั่วยุก็พูดถึงการดักฟังไว้เหมือนกัน

อีกอันหนึ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอเข้ามาคือตัวร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตัววิอาญา ซึ่งจะเพิ่มเติมมาตรา 131/2 อันนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดักค้นข้อมูลอะไรต่างๆ

มาตรา 131/2 คล้ายๆ มาตรา 25 ของ พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษที่ดีเอสไอ

ใช้อยู่ คือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดีเอสไปในการดักฟัง เก็บค้นข้อมูลในกรณีที่คดีนั้นถูกเสนอมาเป็นคดีพิเศษ ดังนั้น ถ้ามองภาพรวมจะมี 10 ฉบับที่กระทรวงไอซีทีเสนอมา และมีอีก 3 ฉบับนี้บวกเข้าไปด้วย คือร่าง พ.ร.บ. สภาไอซีที ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันปราบปรามสิ่งยั่วยุ พฤติกรรมอันตราย และร่างแก้ไขตัวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ชุดกฎหมายเหล่านี้จำเป็นไหม?

ตามห้าง ตามร้านทอง เราจะเห็นว่ามี รปภ. มี CCTV ติดตั้ง แต่มีข้อตกลงบางอย่าง เช่น กล้องวงจรปิดส่องได้เฉพาะถนน จะส่องหันหน้าเข้าบ้านเราก็ไม่ยอมนะ หรือมีสายตรวจขี่ไปตามซอยได้ แต่ไม่ต้องเข้ามาตรวจถึงห้องนอนเรานะ

ความปลอดภัย การทำธุรกรรมต่างๆ มันไปอยู่ในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่าอยากได้ความปลอดภัย แต่ถามว่าร่างที่ออกมามันตอบโจทย์นี้ไหม มันพยายามตอบโจทย์ แต่มันอาจจะตอบไม่ตรงนัก รุกล้ำสิทธิเราเกินไป ไม่ปฏิเสธว่าส่วนหนึ่งมันตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจดิจิตอล แต่มันมีเรื่องอื่นพ่วงมาด้วย เช่น ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่หลายๆ คนเห็นกันมานานและมีการระดมความเห็น มันไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ แต่มันดีในระดับหนึ่ง

แต่เกิดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น?

พอเทียบกับร่างที่ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 มกราคม หลักการเปลี่ยนกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าไปดูสัดส่วนคณะร่างกรรมการที่เสนอโดยสำนักนายกฯ มันมีสัดส่วนของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภคอยู่ การันตีอย่างน้อย 3 ตำแหน่ง ทีนี้มาดูสัดส่วนคณะกรรมการที่รัฐมนตรีเห็นชอบในร่างที่เสนอเมื่อวันที่ 6 มกราคม คือ 3 ตำแหน่งนี้ถูกตัดทิ้ง เพิ่ม เลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ คือเดิม การตั้งคณะกรรมการมันเป็นเรื่องการคุ้มครอง มันถูกตัดทิ้งหมด แล้วเอาเรื่องความมั่นคงเข้ามาแทนที่

มาตรการเหล่านี้ไม่ควรมาละเมิดเรา ตำรวจ ทหารไม่ควรมาเดินในบ้านเรา กล้องวงจรปิดไม่ควรหันมาทางบ้านเรา ผมมองว่าที่ทุกคนเป็นห่วงคือ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 35 ของร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ก็มีปัญหา เพราะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดักฟังข้อมูล ไม่มีกลไกมาควบคุมตรวจสอบ ทำไปทำมามันคล้ายๆ กฎอัยการศึก คล้ายๆ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือให้อำนาจตัวสำนักงานนี้ในการจะตัดสินใจทำได้เลยถ้าตัวสำนักงานมองว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง

ใน 10+3 ฉบับ นี้มีอะไรบ้างที่น่าเป็นห่วง?

มาตรา 18 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้อำนาจเจ้าพนักงานเรียกข้อมูลต่างๆ ยังดีที่ต้องขอหมายศาล, มาตรา 35 พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อันนี้ไม่ต้องใช้คำสั่งศาลเลย, มาตรา 131/2 ตาม พ.ร.บ. แก้ไข ป. วิอาญา เขียนได้ชัดเจนกว่าของดีเอสไอเสียอีก พ.ร.บ.ดีเอสไอ บอกว่าถ้าได้หมายศาลมาแล้วสามารถเข้าไปเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ 90 วัน ครบ 90 วันแล้วจะเก็บข้อมูลต่อต้องมาขอศาลอีกรอบ ศาลก็จะพิจารณา ถ้าผ่านก็ต่อ 90 วันไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด ตัวแก้ไข ป.วิอาญานี้ เขียนดีกว่า คือต่อได้ทีละ 15 วัน ทำอะไรเบ็ดเสร็จต้องมารายงานให้ศาลรับทราบ ถ้าอยากจะต่ออีกก็ต่อได้ทีละ 15 วัน ต่อได้ 4 ครั้ง แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ จะให้ศาลพิจารณาต่อก็ยังได้ แต่ไม่เกิน 90 วัน ล็อกไว้เลย

กลับไปดูมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.สิ่งยั่วยุ มาตรา 16 พูดถึงเรื่องดักข้อมูลเหมือนกัน ไม่มีกำหนดเวลา

เท่ากับว่าถ้าผ่านมาทั้งหมดจะมีกฎหมายอย่างน้อย 5 มาตรา จาก 5 ฉบับที่จะมาเกี่ยวข้องกับการดักข้อมูลอะไรต่างๆ ซึ่งเยอะไปหรือเปล่า (วะ) แล้วหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก สุดท้ายการจะทำให้กฎหมายมันปฏิบัติบังคับใช้ได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ที่งอกตามมาคือการอบรม มันเป็นเงินทั้งนั้นไง

การดักข้อมูลจะทำได้จริงไหม?

ผมคิดว่าในขั้นนี้อาจจะยังอยู่ในช่วงเริ่มจัดตั้ง อาจจะยังทำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ว่าไป ต้องจัดซื้ออุปกรณ์ จัดหาเจ้าพนักงานก่อน ต้องเทรน คำถามคือ เงินก็มีจำกัด เวลาที่ใช้ไปในการอบรมหรือตัวเจ้าพนักงานที่อาจจะดึงมาจากหน่วยงานอื่น หรือเอาไปทำภารกิจเรื่องอื่นได้ รวมทั้งหมด มันคุ้มกับสิ่งที่อยากได้หรือเปล่า

คือเงิน ถ้าสุดท้ายแล้วเอามาเทให้ด้านนี้เสียเยอะ มันก็สะท้อนความจริงใจของคนออกแบบนโยบายในตอนนี้ได้เหมือนกันว่า ตกลงคุณใช้ชื่อว่าเศรษฐกิจนโยบายดิจิตอล แต่ว่าทรัพยากรมันเทไปทางไหนกันแน่ คือ ส่วนของ กสทช. ทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นของชาติ แต่ว่าตัวร่างที่ออกมาทั้งหมดมันบอกว่าก่อนให้ กสทช.ไปจัดการก้อนหนึ่ง รัฐขอไปบริหารจัดการก่อน เหตุผลเพื่อความมั่นคงและบริการสาธารณะ แสดงให้เห็นว่าเรื่องของความมั่นคงได้เข้ามาอีกละ หรือคลื่นในส่วนที่เหลือที่ให้ กสทช. เอาไปจัดการก็ยังมีเขียนไว้ใน พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่อยู่ดีว่า ก่อนที่จัดสรรอะไร ต้องมั่นใจว่าจะมีคลื่นเพียงพอไว้ให้ใช้เกี่ยวกับความมั่นคงด้วย

คือทำไปทำมา เวลาจะโปรโมตชุดกฎหมายใช้ชื่อว่า "เศรษฐกิจดิจิตอล" แต่พอเข้าไปดูในรายละเอียดกลับปรากฏคำว่า "ความมั่นคง" เต็มไปหมดเลย

เหมือนค่อนข้างผิดวัตถุประสงค์?

ในระยะนี้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าปัจจุบันกองทุน กสทช. จากเดิมที่มี 5 ภารกิจ หลังจากการรัฐประหารได้มีการเพิ่มข้อ 6 เข้ามาบอกว่า ให้รัฐบาลสามารถนำเงินกองทุนนี้ไปใช้จ่ายได้ตามความเหมาะสม ถ้ารัฐบาลเห็นควร ซึ่งเงินตรงนี้ก็ถูกนำไปใช้ในโครงการที่ คสช.ตั้งขึ้นมา ซึ่งเราไม่รู้รายละเอียดว่านำเงินไปใช้ตรงไหนบ้าง แต่เป็นการดึงเงินไปใช้อย่างผิดจุดประสงค์เดิมของกองทุนที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งชุด พ.ร.บ.ที่กำลังจะออกมาใหม่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ "ถาวร" มากยิ่งขึ้น

ว่าง่ายๆ คือ ชุดกฎหมายดังกล่าว เป็นการพยายามทำให้ภาวะ "ไม่ปกติ" ทำให้ประกาศ คสช.ต่างๆ ที่ได้ประกาศออกมากลายเป็นเรื่อง "ปกติ" ดังนั้น พอ คสช.ลงจากอำนาจไป ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่กลไกต่างๆ ยังคงทำงานอยู่เหมือนเดิมราวกับว่า คสช.ยังอยู่

สิ่งที่เราห่วง ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล แต่ห่วงในเรื่องการแปลงรูป คสช. เข้าไปในโครงสร้าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิตอล มันคือการเอาเชื้อของคณะรัฐประหารใส่เข้าไปในกระทรวงใหม่ และต่อให้เรามีรัฐบาลพลเมือง หน่วยงานความมั่นคงก็จะอยู่เต็มไปหมดด้วยชื่อ "ดิจิตอล"

ผลร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้น?

การปฏิรูปสื่อจะต้องนับหนึ่งใหม่ เพราะการจัดสรรคลื่นต่างๆ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐจัดการทั้งหมด แต่หลังจาก 2540 เรามี กทช. ซึ่งกลายมาเป็น กสทช.ในภายหลัง เป็นองค์กรอิสระที่รัฐแทรกแซงไม่ได้มาจัดการประมูลเพื่อให้ผลประโยชน์สูงสุดตกสู่สาธารณะ และรายได้ที่มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จะนำมาเป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน แต่ชุดกฎหมายฉบับนี้จะ "ทำลาย" ทุกอย่างแบบนั้นไปหมด

รวมถึงแนวคิดเรื่องความมั่นคงกำลังจะกลับมา ไม่ใช่แค่เข้ามา

สอดส่อง กำกับชีวิต การสื่อสารของประชาชนทั่วไปให้เป็นไปตามแบบที่พวกเขาสบายใจ และมั่นคง แต่ยังมีความพยายามในการกำกับการใช้ทรัพยากรด้วย เพื่อให้ผลประโยชน์ของทรัพยากรกลับเข้าไปสู่หน่วยงานต่างๆ แบบเดิม ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าจะกลับไปสู่ยุคช่วงก่อน 2540 อีกครั้ง

สำหรับชีวิตประจำวันเราที่จะส่งผลอย่างร้ายที่สุดคืออะไร?

ทีวีดิจิตอลอาจจะไม่เกิด มันเกิดได้เพราะเรามีคลื่นที่จะมาจัดสรร ถ้าจำนวนคลื่นมีน้อยลง ก็แบ่งคลื่นได้น้อยลง จำนวนสถานีที่จะเกิดใหม่ก็น้อยลง และอุปกรณ์แบบใหม่ๆ ที่จะใช้คลื่นพวกนี้ ความเป็นไปได้ในการทำนวัตกรรมใหม่ๆ มันก็น้อยลง ถ้าองค์กรกำกับดูแลไม่เป็นอิสระ คลื่นที่เราใช้น้อยลง โอกาสที่เราจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ลดน้อยลง

เรากำลังพูดถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล การส่งเสริมให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อจะได้มีความรู้ไปสร้างนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดโลก แต่ถ้าเบื้องต้น คนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ในราคาที่เขาจ่ายได้ สิ่งต่างๆ ที่คุณพูดไปมันไม่เกิด เพราะถ้ามันมีคลื่นมากขึ้น แปลว่าการแย่งประมูลมันก็น้อยลง ค่าบริการจะถูกลง

ต่างประเทศมีการดักจับข้อมูลแบบนี้ไหม อย่างที่จีนก็มีการบล็อกเฟซบุ๊กหรือไลน์?

คุณคิดว่าจะอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งตลาดโลกอย่างจีนไหม เขามีตลาดในประเทศ ไทยไม่ได้เป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี อยู่ในฐานะผู้ซื้อ เราอยากประกาศโต้งๆ แบบนั้นเหรอว่า ความมั่นคงของพรรคสำคัญที่สุด ความมั่นคงของ คสช. หรือของกองทัพหรือรัฐบาลสำคัญสุด ถ้ายอมรับแบบตรงไปตรงมาก็ไม่มีปัญหา และถ้ามีเงินไปทุ่มแบบนั้น โดยไม่ต้องไปพัฒนาด้านอื่นๆ ไม่ต้องค้าขายกับโลกก็ไม่เป็นไร

ที่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมันจำเป็นเพราะเราอยู่ในตลาดโลก ในการส่งต่อข้อมูลต่างๆ มันมีการเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ จากประเทศที่เราค้าขายด้วย ถ้าเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มันโอเคพอ เขาก็ไม่ดีลด้วย

ผมคิดว่าต้องดูให้ครบ ปากคุณบอกว่าส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล แต่คลื่นคุณก็ขโมยไป เงินคุณก็ขโมยไป คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็ต่ำกว่ามาตรฐาน มันอาจไม่เกิดก็ได้นะที่คุณว่ามา

จะกลายเป็น "พี่เบิ้ม" ในนิยาย 1984 ไหม ที่เราถูกจับตาอย่างง่ายดาย?

เราเดินไปไหนมาไหนก็มีกล้องวงจรปิด ไม่ว่าจะในห้างหรือร้านสะดวกซื้อ ทั้งรัฐและเอกชนต่างๆ เก็บข้อมูลของเราตลอดเวลาอยู่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นภาวะที่หนีลำบากเพื่อที่จะได้รับบริการอะไรบางอย่างจากองค์กรเหล่านี้

อย่างห้างต่างๆ มีกล้อง ตัวห้างก็เป็นคนใช้เป็นหลักเพื่อความปลอดภัย บ้านผมมีกล้องวงจรปิดก็มีแค่บ้านผมใช้ อำนาจมันก็มีอยู่จำกัด ข้อมูลมันค่อนข้างกระจัดกระจาย อำนาจไม่ได้รวมศูนย์มากนัก แต่ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มีการพูดถึงว่าตัวคณะกรรมการสามารถเรียกดูข้อมูลได้ แปลว่าข้อมูลต่างๆ ที่องค์กรต่างๆ มีไว้รัฐสามารถเรียกดูได้

ภาวะนี้คือ เมื่อก่อนรัฐถือข้อมูลของพลเมืองเยอะที่สุดเพราะบริการจำนวนมาก รัฐเป็นคนให้ แต่ต่อมาบริการมากขึ้นๆ เอกชนเป็นคนให้บริการ ฉะนั้น ข้อมูลจำนวนมากก็อยู่ในมือเอกชน ที่ผ่านมารัฐไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้สะดวกนัก แต่ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อนุญาตให้รัฐเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

ถ้ามองในมุมประชาชน ทุกคนถูกเก็บข้อมูลอยู่แล้ว แต่มันไม่มี "บิ๊ก บราเธอร์" เดี่ยวๆ ที่เข้าถึงข้อมูลในทุกแง่มุมของตัวเราได้มากขนาดนี้ แต่เมื่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ออกมา ตัวสำนักงานคณะกรรมการนี้เขาสามารถบอกว่าฉันมีข้อมูลคุณ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว อีก 50 เปอร์เซ็นต์ของภาคเอกชนที่ก่อนหน้านี้ดึงมาไม่ได้ แต่ตอนนี้มีกฎหมายแล้ว ฉันก็จะดึงข้อมูลอีก 50 เปอร์เซ็นต์มา

ซึ่งนี่แหละที่น่าห่วงมากๆ เพราะตัวคณะกรรมการนี้ทำเองได้เลยโดยไม่ต้องมีขั้นตอนการกลั่นกรองใดๆ


ที่มา : มติชนรายวัน 24 มกราคม พ.ศ. 2558
ooo