วันพุธ, ธันวาคม 10, 2557

เราปกป้องประชาธิปไตยไม่สำเร็จ... โดนเผด็จการพังอีกครั้งหนึ่ง... แต่ความใฝ่ฝันหานั้นตราตรึง... ซึมลึกสู่ก้นบึ้งแห่งหัวใจ...




ประชาธิปไตยกลางใจเรา:
ในโอกาสครบรอบปีการก่อตั้งสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๖

เราปกป้องประชาธิปไตยไม่สำเร็จ
โดนเผด็จการพังอีกครั้งหนึ่ง
แต่ความใฝ่ฝันหานั้นตราตรึง
ซึมลึกสู่ก้นบึ้งแห่งหัวใจ
ได้เห็นคนพันหมื่นยืนผงาด
ป่าวประกาศความเชื่อเหนือจรดใต้
คนเราต้องเท่ากันทั่วเมืองไทย
โดยประชาธิปไตยสันติธรรม
เราพ่ายแพ้บ้านแตกสาแหรกขาด
เราล้มเหลวมิตรญาติพลัดเสียส่ำ
แต่เราไม่สับปลับกลับถ้อยคำ
เราไม่ย่ำยีล่าเข่นฆ่าใคร
แพ้อย่างนี้ล้มอย่างนี้แหละพี่น้อง
ทางวิบากก็ต้องยืนขึ้นใหม่
ลุกแล้วล้มลุกซ้ำตรากตรำไป
จังหวะเต้นหัวใจของพวกเรา
อยู่อย่างคนเท่ากันถึงมันยาก
เอื้อมคว้าสิทธิ์ถูกพรากให้เหมือนเก่า
เคารพความเป็นคนอดทนเอา
เพื่อลูกหลานของเขาเราทั้งปวง
จึงในคืนฟ้าคลุ้มชุ่มโชกฝน
ชวนเพื่อนทนสืบสานงานใหญ่หลวง
มาคล้องแขนกอดคอพออุ่นทรวง
จุดไฟคนละดวงแล้วส่องทาง
...


สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (อังกฤษ: Assembly for the Defense of Democracy; ชื่อย่อ: สปป.; AFDD) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556 โดยกลุ่มนักวิชาการกว่า 150 คนซึ่งร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และมีการจัดแถลงข่าว เมื่อเวลา 13:00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องจุมพฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ร่วมแถลงการณ์ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ, รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์[1], รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รองศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล[1] และ อาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ[2]

โดยมีจุดยืนร่วมกันในเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพไทยแทรกแซงการเมือง รักษาและขยายพื้นที่ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย พร้อมทั้งเผยแพร่คำขวัญของกลุ่มว่า "เคารพกติกาประชาธิปไตย เข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่มอบอำนาจให้คนกลาง"[3] และออกเป็น 3 ข้อเสนอหลัก ดังต่อไปนี้[4]

การก่อตั้งสภาประชาชน ด้วยการอ้างอิงมาตรา 3 ถือว่า ไม่สอดคล้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ไม่สามารถทำได้

ข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังยุบสภา ตามมาตรา 7 เป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย

เสนอการร่วมออกแบบการทำประชามติ ในการแก้ไขหรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ควรเป็นทางออกของสังคม

โดยในจำนวนผู้ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับที่ 1 มีนักวิชาการที่สำคัญหลายท่าน อาทิเช่น ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, อาจารย์ พนัส ทัศนียานนท์, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร, รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ รัชชกูล, รองศาสตราจารย์ ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา[1]

รองศาสตราจารย์ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล[1], ดร.เอกชัย ไชยนุวัติ, ดร.เกษม เพ็ญภินันท์, ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, อาจารย์ สาวตรี สุขศรี[1], อาจารย์ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์[1], อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร[1], ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เวียงรัฐ เนติโพธิ์, อาจารย์ วิโรจน์ อาลี, ดร.ณัฐพล ใจจริง, อาจารย์ วันรัก สุวรรณวัฒนา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาตรี ประกิตนนทการ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรพศ ทวีศักดิ์, อาจารย์ วิจักขณ์ พานิช (หลานชายพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ; พุทธทาสภิกขุ) นักวิชาการปรัชญา และประวัติศาสตร์ศาสนา) เป็นต้น[2]

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย อุเชนทร์ เชียงเสน (นักกิจกรรม), อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (เชฟหมี ครัวกากๆ และสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ ตำนานเทพเจ้า), วรพจน์ พันธุ์พงศ์ (นักเขียน และสื่อมวลชน), วาด รวี (นักเขียน), ปราบดา หยุ่น (นักเขียน), ซะการีย์ยา อมตยา (นักเขียน), ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข (สื่อมวลชน), อัลเบอท ปอทเจส (นักเขียน นักแปล ) เป็นต้น[2]

รวมทั้งมีการเปิดหน้า Fanpage ของเฟซบุ๊กชื่อ "สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย" เพื่อเป็นสื่อกลาง
อ้างอิง[แก้]