วันเสาร์, พฤศจิกายน 08, 2557

รถไฟฟ้า บางสายอาจไม่ได้สร้าง เพราะส่วนต่างเงินทอน

หมายเหตุ ดร. โสภณ พรโชคชัย ผู้ชำนาญด้านอสังหาริมทรัพย์ อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อคิดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทั้งที่กำลังมีการก่อสร้าง และที่อยู่ในแผนแม่บทรอผู้บริหารหยิบเอามาดำเนินการ ไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะในข้อความที่ว่า

รถไฟฟ้าดีๆ อย่างนี้อาจไม่ได้สร้าง หรืออาจสร้างช้ากว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะงบประมาณน้อยไม่คุ้มกับ เงินทอน

และ สร้างรถไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาชาติโดยไม่ต้องใช้ภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ (แต่ต้องสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยเสียก่อน)

เชิญอ่านบทความเต็ม ดังนี้

รถไฟฟ้า อย่าสักแต่สร้างส่งเดช

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

            เราอยากให้สร้างรถไฟฟ้ากันมาก แต่ที่เราคิดจะสร้างนั้นเหมาะสมหรือไม่ หรือเราถือคติว่า "กำขี้ ดีกว่ากำตด" คือได้สร้างก็ยังดี  ขณะนี้รัฐบาล คสช. ก็คิดสร้างรถไฟฟ้าตามคำ 'เพ็ดทูล' ของข้าราชการประจำเหมือนกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมาอีกแล้ว เรามาวิพากษ์กันให้ชัดเจนว่าจะสร้างตรงไหนดี

            รถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน รถไฟฟ้าสายนี้เริ่มต้นจากบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนสวนผัก ไปตามแนวเส้นทางรถไฟ จากนั้นจะเป็นโครงสร้างยกระดับ ข้ามถนนจรัลสนิทวงศ์ แม่น้ำเจ้าพระยา ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ถนนกรุงเทพ - นนทบุรี ถนนประชาชื่น ข้ามคลองประปา สิ้นสุดที่จุดเชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ รังสิต ที่สถานีกลางบางซื่อ หลายท่านอาจไม่รู้ว่าสร้างเสร็จ (เกือบ) 100% แล้ว เคยเอารถมาทดลองวิ่งแล้ว  แต่อาจไม่ได้เปิดใช้เพราะยังไม่มีรถไฟฟ้า อนาถไหมครับ

          รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ รถไฟสายนี้กำลังจะแล้วเสร็จแต่ไม่รู้จะได้วิ่งเมื่อไหร่จะล่าช้าหรือไม่ ที่สำคัญตลอดเส้นทางที่รถไฟฟ้านี้วิ่งผ่านชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ที่มีความหนาแน่น ไม่มากนัก จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจขนาดไหน แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเราได้รับการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ นานาเพื่อขายโครงการที่อยู่อาศัยในย่านนี้ แต่ในความเป็นจริงการเดินทางจากบางใหญ่เข้าถึงสีลมอาจต้องใข้เงินไปกลับด้วยรถไฟฟ้านี้ถึงราว 200 บาทต่อวันชาวบ้านจะสู้ไหวไหม แถมใช้เวลาเดินทางนับชั่วโมง (ก็คล้ายรถไฟหวาน เย็นธรรมดาแต่ติดแอร์เท่านั้น)

            รถไฟฟ้าสายสีม่วงบางซื่อ-ราชบูรณะ ที่ควรสร้างก็คือจากบางซื่อวิ่งไปตามถนนสามเสนถึงเทเวศน์ ผ่านมานางเลิ้ง เข้าราชวงศ์ ข้ามสะพานพระปกเกล้า ผ่านถนนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสิ้นสุดที่ราชบูรณะ แต่รถไฟฟ้าสายนี้แทบไม่มีความคืบหน้าเลย อันที่จริง ช่วงจากบางซื่อถึงเทเวศน์มีดำริจะสร้างมานาน ถือเป็นเส้นที่ดีที่สุดเส้นหนึ่งเพราะมีคนใช้สอยมาก สัญญารถไฟฟ้าก็ลงนาม ในสมัย น้าชาติ 2 วันก่อน รสช. มา  พอ รสช.มา ก็หาว่า 'น้าชาติโกง' ยกเลิกรถไฟฟ้าสายนี้ไปทั้งที่เป็นสายที่มีประโยชน์ กลับไปสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ผ่านพื้นที่ๆ แทบไม่ค่อยมีคนเลย

            รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟสายนี้สร้างจากแยกแคลาย ย้อนขึ้นไปแยกปากเกร็ด แล้ววิ่งไปทางตะวันออกตามถนนแจ้งวัฒนะ ผ่านศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะต่อไปยังถนนรามอินทราถึงมีนบุรีหะแรกดูตามโครงการนี้ก็ดีเหมือนกันที่จะมีรถไฟฟ้าผ่านแถวศูนย์ราช การแจ้งวัฒนะที่รถติดวินาศสันตะโร บ้านเราก็แปลกมีศูนย์ราชการทั้งทีก็ไม่มีปัญญาเชื่อมทางด่วนโทลเวย์กับทางด่วนแจ้งวัฒนะ เข้าหาศูนย์ราชการ รถไฟฟ้าก็ควรมีเชื่อมกับสายสีม่วง สายบีทีเอส และสายเอ็มอาร์ที

            แต่หากดูให้ดีๆ แล้วรถไฟฟ้าสายนี้ไม่รู้จะสร้างไปทำไม เพราะสร้างในเส้นทางที่ไม่ได้เข้าเมือง ไม่ได้มีความสัมพันธ์กันระหว่างคนจากแคลาย ปากเกร็ด กับมีนบุรีเลย ไม่ทราบสร้างไปหาญาติใครแถวนั้น รถไฟฟ้าที่ดีต้องวิ่งในเมือง หรืออย่างน้อยก็ต้องวิ่งเข้าเมืองเพื่อขนส่งคนมาทำงาน แต่นี่กลับวิ่งจากจุดนอกเมืองจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมใดๆ เลย

            รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟสายนี้วิ่งจากตลิ่งชันข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสนามหลวง ยศเส เพชรบุรี ประตูน้ำ วิภาวดี ดินแดง ศูนย์วัฒนธรรม บางกะปิ จบที่สุวินทวงศ์ นับเป็นรถไฟฟ้าที่มีประโยชน์อย่างยิ่งยวด ผ่าเข้าใจกลางเมืองโดยตรงเลย แต่รถไฟฟ้าสายนี้คงอีกนานกว่าจะได้สร้าง ดูอืดๆ แต่ที่สำคัญก็คือช่วงจากบางกะปิไปถึงสุวินทวงศ์ซึ่งมีระยะทางราว 1/3 ของทั้งหมด อาจไม่จำเป็นต้องสร้าง เพราะยังมีจำนวนประชากรค่อนข้างเบาบางกว่าเมื่อเทียบกับบริเวณอื่น

          รถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายด้านเหนือ จากลาดพร้าวไปตามถนนพหลโยธินถึงลำลูกการถไฟฟ้าเส้นนี้ไม่ควรสร้าง!!! แต่มี ลุ้น มากที่สุดเส้นหนึ่ง เพราะเป็นการเชื่อมสัมปทานเดิม ขณะนี้รัฐบาลกำลังสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงไปรังสิต  ดังนั้นหากสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสไปสะพานใหม่ขนานกันและห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร ก็น่าจะมีเส้นใดเส้นหนึ่งที่ เจ๊ง อย่างแน่นอนเพราะแข่งขันกันเอง ถ้าจะสร้างรถไฟฟ้าไปเข้าลำลูกกาจริง (ถ้ามีผู้ใช้บริการเพียงพอ) ก็ควรสร้างเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ดอนเมือง น่าจะเหมาะสมกว่า ไม่ต้องไปเอื้อภาคเอกชนนัก

        รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-บางนา รถไฟฟ้าสายนี้มาจากบริเวณแยกรัชดา- ลาดพร้าวไปบางกะปิ วิ่งลงใต้ไปตามถนนศรีนครินทร์ และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางนา สิ้นสุดที่สี่แยกบางนา แต่เดิมรถไฟฟ้าสายนี้จะสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2572 ซึ่งผมเองก็ยังไม่รู้จะอยู่จนได้ใช้หรือไม่ แต่ทางราชการว่าจะทำให้เสร็จภายในปี 2562 ซึ่งผมก็ไม่เชื่อนักว่าจะทำได้ ดังนั้นก่อนที่เราคิดจะลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ตามแนวรถไฟฟ้านี้ ก็พึงเผื่อใจไว้บ้าง ที่สำคัญรถไฟฟ้าสายนี้ช่วงถนนศรีนครินทร์อาจไม่มีความจำเป็นนักเมื่อเทียบกับถนนสายอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร เพราะขณะนี้ถนนศรีนครินทร์ก็ได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามลำดับ

            รถไฟฟ้าสายสีเทา รถไฟฟ้าสายนี้วิ่งจากแยกวัชรพลถึงสะพานพระรามที่ 9 ผ่านถนนเอกมัย-รามอินทรา ทองหล่อ สุขุมวิท 38 พระรามที 4 คลองเตย พระรามที่ 3 และรัชดาภิเษก (ช่วงที่ตัดกับสาธุประดิษฐ์) รถไฟฟ้าสายนี้น่าจะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งเพราะสามารถเชื่อมเข้าเมืองได้ดี และเพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุด น่าจะสร้างจากช่วงลาดพร้าวมาก็พอ ไม่ต้องไปถึงรามอินทราซึ่งยังมีประชากรน้อยอยู่ รถไฟฟ้าเส้นนี้จะทำให้ใจกลางเมืองได้รับการเชื่อมต่อกันมากขึ้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าเส้นนี้วางแผนที่จะสร้างเสร็จในปี 2572 ซึ่งผมอาจอยู่ไม่ถึงวันนั้น แต่กรุงเทพมหานครก็จะรับเป็นเจ้าภาพกระตุ้นให้เร็วขึ้น ซึ่งคงต้องคอยดูกันต่อไป

            รถไฟฟ้าสายสีฟ้า รถไฟฟ้าสายนี้เชื่อมระหว่างดินแดง-สาทร เป็นรถไฟฟ้าแบบมวลเบารางเดี่ยว จากเคหะชุมชนดินแดง ย่านมักกะสัน ไปยังถนนวิทยุ และถนนสาทร รวมระยะทาง 9.5 กิโลเมตร แต่รถไฟฟ้าสายนี้เป็นอีกหนึ่ง ความฝันซึ่งไม่รู้ว่าจะลมๆ แล้งๆ หรือไม่ เพราะเป็นแผนปี พ.ศ.2572ถือเป็นรถไฟฟ้าสายที่มีประโยชน์มากเพราะเชื่อมต่อย่านธุรกิจใจกลางเมือง รถ ไฟฟ้าดีๆ อย่างนี้อาจไม่ได้สร้าง หรืออาจสร้างช้ากว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะงบประมาณน้อยไม่คุ้มกับ เงินทอน ?!?

            ราคาที่ดินรอบรถไฟฟ้าพุ่ง จากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) พบว่า ราคาที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า 112 สถานีตามแนวรถไฟฟ้า 10 สายในเขตกรุงเทพมหานคร ราคาพุ่งขึ้น 178% หรือเท่ากับปีละ 8.9% ณ ปี 2553 จนบัดนี้ปี 2557 ราคาก็คงพุ่งสูงกว่าเดิมเป็น 251% จากราคาเดิม 100%

            ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ยังพบว่า
         โดยที่มีสถานีรถไฟฟ้าทั้งหมด 41 สถานี จึงคาดว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาราคาที่ดินได้เพิ่มขึ้นมากถึง 404,105 ล้านบาท ณ ปี 2552 แต่หากนับถึงปี 2557 ก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 621,513 ล้านบาท เฉพาะเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ หากจัดเก็บภาษีสัก 20% ก็นำมาสร้างรถไฟฟ้าได้ใหม่ได้หลายสายเลยทีเดียว

  ข้อคิดสำคัญเชิงนโยบายที่น่าสนใจ ที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เคยนำเสนอไว้โดยสรุปก็คือ

1. การที่ราคาที่ดินบริเวณแนวรถไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ทางการเงินในการสร้างโครงการรถไฟฟ้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะคุ้มค่ากับเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง

2. การที่ราคาที่ดินรอบรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มสูงกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินนั้น ส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นการสร้างรถไฟฟ้ายกระดับไม่ใช่ ทัศนะอุดจาดสามารถที่จะสร้างได้ หากสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ดังนั้นจึงควรสร้างเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างโดยไม่สนใจต่อกลุ่มนักอนุรักษ์ใดๆ

3.    การสร้างรถไฟฟ้าควรสร้างในใจกลางเมืองหรือเขตต่อเมืองเป็นสำคัญ ไม่ใช่สร้างออกนอกเมือง ซึ่งควรเป็นบทบาทของทางด่วนมากกว่า สำหรับการสัญจรโดยทางด่วนมีค่าโดยสารถูกกว่ารถไฟฟ้าในกรณีนอกเมือง เนื่องจากทางด่วนยังมีรถประจำทาง รถตู้ทางด่วน ซึ่งค่าโดยสารต่ำกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายชานเมือง ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เงินเดินทางเกือบร้อยบาทต่อเที่ยวในการต่อสายเข้าใจกลางเมือง

4.    การที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเช่นนี้ เป็นข้อสนับสนุนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยิ่งหากสามารถจัดเก็บได้ประมาณ 1-2% ของมูลค่า ก็ยิ่งจะมีเงินงบประมาณเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นยิ่งขึ้นและยิ่งทำให้ท้องถิ่นเจริญเติบโต ราคาที่ดินจะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ไม่เป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีแต่อย่างใด


            ดังนั้นการมีรถไฟฟ้าจึงเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลพึงสร้างรถไฟฟ้าโดยเฉพาะรถไฟฟ้าในใจกลางเมือง เพื่อให้ประชาชนอยู่กันอย่างหนาแน่น (แต่มีระเบียบในเมือง) แทนที่จะออกไปทำลายพื้นที่เกษตรกรรมนอกเมือง และทำให้เมืองขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

          ทุนสร้างรถไฟฟ้ามาจากไหนดี  การกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศมาจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสัง หาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เคยเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าโดยส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนอย่างขนานใหญ่ ถือเป็นการดีกว่าการไปส่งเสริมให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะผู้ได้ประโยชน์ก็เป็นเพียงผู้ประกอบการและนายหน้าข้ามชาติบางส่วนเป็นสำคัญ หากมีการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า เป็นเงินลงทุนในแต่ละโครงการนับแสนล้านบาท หากทำหลายโครงการก็จะเป็นเงินหลายแสน ล้าน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดผลต่อเนื่องมากกว่าการลงทุนอื่นๆ อีกมาก

          ข้อคิดส่งท้ายก็คือสร้างรถไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาชาติโดยไม่ต้องใช้ภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ แต่ให้ผู้ใช้เป็นผู้จ่ายและหานักลงทุนต่างชาติมาลงทุน (แต่ต้องสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยเสียก่อน)