วันจันทร์, พฤศจิกายน 10, 2557

รอยแยกที่ สนช. 2 ขั้วปะทะ-เขย่า "บิ๊กตู่" เสียของ-ปรองดอง


ที่มา มติชนออนไลน์
9 พฤศจิกายน 2557

ผลการโหวตรับถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภานั้น หากมองเป็นกระบวนการแล้ว อดคิดไม่ได้ว่ามีนัยยะ

ทั้งนี้ เพราะนายสมศักดิ์และนายนิคมพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถูกฉีกไปแล้ว

และที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้วิป สนช.เคยพิจารณาและเห็นว่าไม่ควรรับเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ร้องให้ถอดถอนอดีตประธานทั้ง 2 คน

แต่เมื่อถึงวันที่ สนช.ประชุม มติ สนช.โหวตให้รับเรื่องถอดถอนอดีตประธานทั้ง 2 คน 87 ต่อ 75

ในจำนวนนี้มี สนช. 15 คน งดออกเสียงด้วยสาเหตุฟังคำถาม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ที่ถามก่อนโหวต ไม่เข้าใจ

ในจำนวนนี้ มี สนช.อีกประมาณ 30 คน ลาการประชุมไปทอดกฐิน

ในจำนวนนี้มี สนช.อีกสิบกว่าคนที่ไม่ได้มา

ทั้ง 3-4 ประการที่เกิดขึ้่นและเป็นเหตุให้มติ สนช.ขัดกับท่าทีของวิปแบบกลับตาลปัตร จึงกลายเป็นที่สนใจ

สนใจว่าความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้น จะก้าวสู่เป้าหมายอะไรกันแน่

เป้าหมาย "ปรองดอง" หรือเป้าหมาย "ไม่ให้เสียของ" ?

ทั้งนี้ เพราะ 2 แนวความคิดนี้ปีนเกลียวมาตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มเพลี่ยงพล้ำไปเมื่อปลายปี 2556 ต่อจนถึงต้นปี 2557

ฝ่าย "ไม่ให้เสียของ" มองว่า ต้องไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตระกูลชินวัตร และเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณให้หมดสิ้นไปจากแวดวงการเมือง

ส่วนฝ่าย "ปรองดอง" มองว่า ให้ทุกฝ่ายยอมถอย แล้วหันหน้ามาวางกติการ่วมกัน เพื่อเริ่มต้นประเทศกันใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจุดยืนนี้มาตั้งแต่ต้น

ดังนั้น การปฏิบัติภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ยึดอำนาจคือการแยกมวลชน 2 กลุ่มออกจากกัน แล้วปฏิบัติตัวเป็นกลาง พร้อมทั้งจัดตั้งแนวทางวางกติกาประเทศใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และก้าวไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ระหว่างฝ่ายสนับสนุนแนวปรองดองกับฝ่ายสนับสนุนแนวกวาดล้าง เพื่อมิให้เสียของยังคงมีอยู่

แม้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. หรือในสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และรวมไปถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แต่งตั้ง

แต่ความขัดแย้ง 2 แนวทางก็ยังคงอยู่

ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ยืนยันคำร้องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายนิคม ไวยรัชพานิช ไปให้ สนช. ท่ามกลางข้อสงสัยในข้อกฎหมายทั้งเรื่องอำนาจของ สนช. และเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายสมศักดิ์และนายนิคม

กระทั่ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ตัดสินใจส่งเรื่องให้ที่ประชุมพิจารณา

กระแสความขัดแย้งระหว่าง 2 แนวความคิดก็กระพือขึ้น

ฝ่ายต้องการไล่ล้างระบอบทักษิณยืนยันให้ สนช.ถอดถอน ฝ่ายต้องการปรองดองยืนยันว่าถอดถอนไม่ได้

ในระยะแรกมีข่าวว่า สนช.จะไม่รับถอดถอน จนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม มีการประชุม และผลสรุปคือขอเลื่อนการพิจารณาออกมาก่อน

วันที่ 6 พฤศจิกายน มีการประชุมอีกครั้ง โดยมติ 87 ต่อ 75 ให้รับถอดถอนอดีตประธานทั้ง 2 คน ท่ามกลางความบังเอิญที่ปรากฏเป็นข่าว

บังเอิญแรกคือ บังเอิญที่มี สนช.จำนวน 30 คนติดภารกิจทอดกฐิน

บังเอิญที่สองคือ บังเอิญที่ สนช.อีก 15 คน ฟังคำถามประธานไม่เข้าใจ จึงโหวตงดออกเสียง

บังเอิญที่สามคือ มี สนช.อีกสิบกว่าคนหายไป ไม่ได้ลงมติ

ผลจากความบังเอิญจึงทำให้ที่ประชุมมีมติรับพิจารณาถอดถอนอดีต 2 ประธาน ท่ามกลางการวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดความปรองดองขึ้นในเมืองไทย

วิเคราะห์ว่าเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นนั้น สนช.ตั้งใจจะให้บังเอิญ หรือไม่ตั้งใจกันแน่

หากไม่ตั้งใจให้บังเอิญ สิ่งที่จะติดตามมาคือการคลี่คลายสถานการณ์การไล่ล่า

แต่ถ้าเป็นการตั้งใจให้บังเอิญ ย่อมหมายถึงการผนวกรวมของ สนช.กับแนวทาง "ไม่ยอมให้เสียของ"

และเท่ากับว่ากระแสเสียงที่แพร่กระจายออกมาก่อนหน้านี้คือการลวงและการพรางนั่นเอง

ผลจากการลวงและการพราง ภายใต้ความตั้งใจที่จะ "ไม่ให้เสียของ" ทำให้เกิดจินตภาพของเหตุการณ์หลังปี 2549 บังเกิดขึ้น

ภายหลังปี 2549 ที่ฝ่ายได้เปรียบใช้กฎหมายและองค์กรอิสระ รวมทั้งคณะกรรมการและสภาแต่งตั้งเข้ารุกไล่อีกฝ่ายอย่างหนัก

ผลที่คาดว่าจะเกิดคือ ฝ่ายที่ถูกรุกจะยอมถอยและหนีไปจากเวทีการเมือง

หากแต่ผลที่ไม่คาดกลับเกิดขึ้นคือ แทนที่ฝ่ายที่ถูกรุกจะถอย กลับกลายเป็นเงื่อนไขในการปลุกมวลชนขึ้นสู้ กระทั่งเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นบาดแผลในหัวใจของคนในชาติ

ผลอันปวดร้าวเช่นนั้นคงไม่มีใครอยากเห็น โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ตั้งใจจะนำความสุขกลับคืนสู่ประเทศไทย

จึงเป็นปัญหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะคนกลาง จะมีกลยุทธ์ใดที่ทำให้ขั้วที่กลัวเสียของ กับอีกขั้วที่หวังปรองดอง ไม่เกิดการปะทะกันจนแตกแยก

จะทำอย่างไรให้แม่น้ำทั้ง 5 สายตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นสายน้ำที่เย็นฉ่ำ เชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีของคนในชาติ

ไม่ใช่สายน้ำที่ไหลเชี่ยว พุ่งกระแทก จนทำให้ไทยแตกแยกกันอีกหน