วันพุธ, ตุลาคม 15, 2557

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชี้ปธ.สปช.ต้องเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ


คำนูณ สิทธิสมานชี้ปฏิรูปประเทศต้องออกจากสภาวะ 2 ผูกขาด 2 กินรวบ แนะแก้กม.ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค ด้านสื่ออาวุโสวอนเร่งปฏิรูปอย่าส่งต่อความบอบช้ำให้ลูกหลาน ดร.เอนก ห่วงสปช. 11 ด้านจะปฏิรูปแต่ด้านของตนเอง ไม่คิดแบบองค์รวม

วันอังคาร ที่ 14 ตุลาคม 2557
ที่มา สำนักข่าวอิศรา

วันที่ 14 ตุลาคม 2557 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานรำลึก 41 ปี 14 ตุลาคม 2516 ประจำปี 2557 ทั้งนี้ภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย” ณ ห้อง LT1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ด้านกฎหมาย กล่าวว่า 41 ปีก่อนเป็นประชาธิปไตยที่ตรงไปตรงมาแบ่งชัดเจนระหว่างขาวกับดำ เป็นประชาธิปไตยที่ต้องการเพียงแค่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับเดียวเท่านั้น และสุดท้ายก็ได้มา และเมื่อเอ่ยถึงเผด็จการทุกคนมักนึกถึงทหารที่ปกครองโดยใช้อำนาจแบบเด็ดขาด

ส่วนประชาธิปไตยเมื่อ10 ปีที่ผ่านมา นายคำนูญ กล่าวว่า แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทั้งๆที่ชูธงเดียวกันในเรื่องการต้องการความเป็นประชาธิปไตย แม้จะมีการเรียกร้องที่แตกต่างกัน ทั้งนี้สุดท้ายแล้วประเทศไทยก็จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยแต่ต้องวางกรอบกติกาและการผูกขาด

นายคำนูณ กล่าวว่า วันนี้เราบอกว่าไม่เอาทหาร ก็ต้องบอกด้วยว่า ไม่เอาสาเหตุที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร ดังนั้นการปฏิรูปประเทศจำเป็นที่จะต้องขจัดการผูกขาดอำนาจของกลุ่มทุนหรือนายทุนพรรคการเมืองในระบบรัฐสภาและต้องขจัดการผูกขาดอำนาจรัฐที่ส่วนกลางให้กระจายไปสู่ท้องถิ่น หรือที่เรียกว่าสภาวะ 2 ผูกขาด หรือ 2 กินรวบ โดยเริ่มจากนายทุนพรรคการเมืองในรัฐสภาลงทุนในการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก และเป็นรัฐบาลผูกขาดการครองอำนาจในกรุงเทพและกระจายการผูกขาดไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ ดังนั้นสภาวะ 2 กินรวบแบบนี้ต้องขจัดออกไปให้ได้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ในยุคที่อำนาจรัฐราชการรวมศูนย์กลับมาอีกครั้ง

“ในยุคปฏิรูปมองว่าน่าจะมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งใน 3 ประเด็น คือ 1.ยกเลิกให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติลงสมัครได้โดยไม่ต้อง สังกัดพรรค 2.เปิดโอกาสให้ ส.ส.ไม่ต้องทำตามมติพรรค เพื่อให้สามารถตัดสินใจดำเนินงานได้ตามมโนสำนึกที่ถูกต้อง และ 3.ยกเลิกที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนรูปแบบการเลือกต้องเป็นไปอย่างเสรีตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ดร.เอนก ชี้การเมืองไทยเป็นการเมือง 2 ฤดู

ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สปช.สาขาการเมืองกล่าวว่า สปช. ต้องทำงานที่แตกต่างจากนักการเมือง คือไม่ยึดเป็นอาชีพ หรือใช้เป็นสิ่งที่สร้างโอกาสทางการเมือง ทั้งนี้เห็นว่า ควรนำจิตวิญญาณของคนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม2516 ที่สามารถเรียกร้องประชาธิปไตยในประเด็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ มาปรับใช้ไม่ต้องให้ได้ทั้ง100% เพียงแค่25-50% ก็พอ และการทำงานจำเป็นที่จะต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ พรรคการเมือง กลุ่มเอ็นจีโอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและทำให้เรื่องที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้เป็นไปได้

“ส่วนเรื่องการปฏิรูปที่คาดหวังกันไว้กับสปช.จะบอกว่า จริงๆแล้วสปช.ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะปฏิรูป แต่สปช.เสมือนเป็นที่ปรึกษาว่าควรจะต้องทำอะไร แล้วมองคนอื่นจะปฏิรูป" ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วงสปช.ทั้ง 11 ด้านจะปฏิรูปแต่ด้านของตนเอง ไม่คิดแบบองค์รวม ซึ่งสปช.ต้องคิดภาพรวมด้วย

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวถึง 80 ปี การเมืองไทยว่า เป็นการเมือง 2 ฤดู คือ ฤดูรัฏฐาธิปัตย์ กับฤดูเลือกตั้ง 2 ฤดูนี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ฉะนั้นที่กลัวทหารอย่าไปกลัวเพราะทหารอยู่ตลอดไปไม่ได้ เพราะการเมืองไทยเป็น 2 ระบอบ ส่วนการปฏิรูปทหารมีความพยายามมาหลายครั้งมาก แต่ในขณะนี้อย่าเพิ่งไปคิดปฏิรูปทหาร เก็บความคิดนี้ไว้ก่อนเมื่อถึงเวลา

ส่วนการเลือกประธานสปช.และรองประธานสปช.นั้น ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวด้วยว่า ต้องไม่ลืมเราไม่เคยมีสภา สปช. ดังนั้น ตำแหน่งนี้จะทำงานอย่างไร บรรยากาศการทำงานหากไม่มีการควบคุมให้ดีอาจโกลาหล เพราะธรรมชาติของคนจะออกมา ดังนั้น ประธาน และรองประธานต้องเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษ เป็นที่ยอมรับของคน ของสังคม พาสมาชิกไปในทางที่ทำให้ทุกคนถ่อมตัว ให้อภัยคนอื่น อะไรที่จะทะเลาะเบาะแว้งต้องปรับทันที เป็นต้น

ขณะที่นายมานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนอาวุโส สปช.สาขาสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งยังมีปัญหาทางสังคมร่วม จนกลายเป็นวิกฤตใหญ่ในประเทศ การปฏิรูปครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยขจัดปัญหาของประเทศโดยมีประเด็นสำคัญที่ควรจะปฏิรูปดังนี้ กระบวนการยุติธรรมที่มีมาตรฐาน, ระบบการศึกษา, สื่อมวลชนที่ถูกมองว่าทำงานไร้สาระมอมเมาประชาชน รวมถึงระบบทุนนิยมสามานย์ที่แทรกซึมไปยังหน่วยงานราชการและทุกหน่วยงานในประเทศ หากไม่แก้วันนี้คำถามคือเราจะส่งมอบประเทศที่บอบช้ำให้กับลูกหลานหรือ

“สำหรับแนวทางที่จำเป็นต้องทำคือ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจการปกครองที่เป็นของประชาชน การมีเสรีภาพที่ถูกใช้อย่างเหมาะสม รัฐบาลมีความโปร่งใสและไม่ใช้เงินภาษีประชาชนมาซื้อสื่อมวลชน”

ขณะที่ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย สปช.สาขาเศรษฐกิจ กล่าวถึงการลำดับความสำคัญปฏิรูปประเทศว่า ต้องจัดการเรื่องคอร์รัปชั่นให้ได้ ปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง รวมถึงให้สปช.ไม่ว่าอยู่ด้านไหนก็ตาม ทั้ง 11 ด้านต้องคุยกัน มองให้กว้าง และมองทะลุให้ 11 แท่งเป็นแท่งเดียวกัน

"การที่เรามีฝ่ายต่างๆ ปฏิรูปถึง 11 ฝ่าย จะจัดประชุม ระดมความเห็นอย่างไร เพราะทุกวันมีความคิดของตนเอง นอกจากต้องหาข้อสรุปแล้ว เชื่อว่า ในที่สุดก็เป็นข้อสรุปซึ่งไม่มีใครพอใจทั้งสิ้น ดังนั้นต้องแยกเรื่องเล็กกับเรื่องใหญ่ออกจากกัน จับยุทธศาสตร์ได้ถูก ทำแค่ 4-5 เรื่อง" ดร.ธวัชชัยกล่าว และว่า สปช.เป็นคนทำโรดแมป เสนออยากให้ประเทศชาติเดินหน้าต้องทำสิ่งเหล่านี้สิ่งที่ต้องปฏิรูป ปฏิรูปอย่างไร หลังเสนอแผนเสร็จจบหน้าที่ และคนปฏิบัติคือรัฐบาลในอนาคต ส่วนหน้าที่ประชาชนคือช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้ได้

ขอบคุณภาพจากสปริงนิวส์