วันศุกร์, ตุลาคม 31, 2557

เสียงร่ำไห้ของชาวปกาเกอะญอ เสียงสะท้อนสถานการณ์ของคนเล็กคนน้อย


ที่มา FB Paskorn Jumlongrach

เห็นภาพชาวปกาเกอะญอเกาะลูกกรงร่ำไห้แล้ว พูดได้คำเดียวว่าแสน “หดหู่”ครับ

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันก็เพิ่งมีภาพโลงแม่เฒ่าพร้องโรงศพ แกเสียชีวิตเพราะความเครียดภายหลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมในข้อหามีไม้สักไว้ในครอบครอง

เหตุเกิดที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อชาวบ้าน 39 รายถูกจับกุมและส่งฟ้องศาลในข้อหามีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครับ ซึ่งเช้าวันนี้(29 ตุลาคม)ศาลจัดหวัดแม่สะเรียง ตัดสินทั้งจำคุกและรอลงอาญาชาวบ้านทั้ง 37 คน(เสียชีวิตไปก่อน 2 คน)

ที่ชวนให้ปวดใจและเจ็บจี๊ดเข้าไปถึงตับเพราะตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ผมและเพื่อนนักข่าวจำนวนหนึ่งได้ติดตามกรณีขบวนการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวิน ทำให้พบข้อเท็จจริงว่า ระบบอุปถัมป์ในวงราชการยังคงทำงานปกป้องกันอย่างได้ผล

กว่า 1 ปีแล้วที่ไม้สักนับร้อยนับพันท่อนในป่าสาละวินถูกโค่นโดยขบวนการอิทธิพลกลุ่มหนึ่ง แรกทีเดียวก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก แต่เมื่อสืบเสาะลึกจึงได้พบว่าขบวนการลักลอบตัดไม้ครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะมีคนมีสีในระบบราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง(แม้แต่ผู้ว่าฯก็ยังเคยออกปากเช่นนี้) หากผู้มีอำนาจในประเทศจะใส่ใจและสอบสวนจริงจังก็จะสาวถึงตัวการสำคัญนี้ได้ไม่ยาก แต่เรื่องทั้งหมดกลับถูกกลบเกลื่อนให้เงียบ

ที่บอกว่าถูกกลบเกลื่อนเพราะเมื่อคสช.ยึดอำนาจและประกาศนโยบายปราบปรามผู้ลักลอบตัดไม้ ปรากฏว่าบุคคลที่เชื่อว่าอยู่ในขบวนการลักลอบตัดไม้ป่าสาละวิน ได้เป็นหัวขบวนในการหว่านแหจับกุมชาวบ้านที่มีไม้สักไว้ในครอบครองเพื่อสร้างเป็นผลงาน

ถามว่าชาวบ้านผิดมั้ย ก็ต้องบอกว่าผิดแน่นอนเพราะมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง ขณะเดียวกันหากมองอีกมุมหนึ่งนั่นคือวิถีของชาวบ้านเขา เพราะเขาอยู่กับป่าแต่ไม่ได้หมายความว่าจะตัดป่าได้ เพียงแต่ขอใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บ้าง ถ้าไม่ถูกก็ว่ากล่าวตักเตือนหรือหาทางแก้ไขกันไป แต่ไม่ใช่กวาดจับเพื่อทำงานปิดบังอำพรางกันเช่นนี้

ถ้าจะเอาผิดเรื่องการอยู่ในป่าอนุรักษ์ หรือเรื่องการมีไม้ไว้ในครอบครองของคนในแม่ฮ่องสอน มีหวังได้ติดคุกกันแทบยกจังหวัดเพราะแม้แต่หน่วยงานราชการบางแห่งยังตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน เช่น ที่ว่าการอำเภอปางมะผ้าตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย

ถึงวันนี้ชาวบ้านรับรู้กันทั้งลุ่มน้ำสาละวินว่าตัวการสำคัญในการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ในดินแดนแถบนี้เป็นคนกลุ่มไหน มีแต่คนของทางการเท่านั้นแหละที่ทำเป็นไม่รับรู้ สุดท้ายคนเล็กคนน้อยจึงต้องเป็น “เหยื่อ”

เสียงร่ำไห้ของชาวปกาเกอะญอที่ศาลแม่ฮ่องสอนในวันนี้จึงเชือดเฉือนใจยิ่ง
---------------------

ศาลสั่งจำคุก-รอลงอาญา 37 ชาวบ้านแม่ฮ่องสอน
คดีมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง-เสียงร่ำไห้ระงม
ยูเอ็นสนใจส่งคนลงพื้นที่เก็บข้อมูลละเมิดสิทธิ์


เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้อ่านคำพิพากษากรณีที่ชาวบ้านจำนวน 39 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงถูกฟ้องร้องในข้อหามีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง ทั้งนี้นายยงยุทธ สืบทายาท ทนายความในคดีเปิดเผยว่า ศาลได้ตัดสินจำคุมผู้ที่มีไม้หวงห้ามเกิน 2 ลูกบาศน์เมตรตั้งแต่ 1 ปีไปจนถึง 7 ปีจำนวน 24 ราย ที่เหลืออีก 13 รายรอลงอาญา และอีก 2 คนเสียชีวิตไปแล้ว

นายยงยุทธกล่าวว่า คดีนี้ชาวบ้านทั้งหมดได้สารภาพตั้งแต่ต้นว่ามีไม้สักไว้ในครอบครองจริง ดังนั้นการต่อสู้คดีจึงขอให้ศาลลงโทษสถานเบา โดยชาวบ้านเกือบทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีขบวนการลักลอบตัดไม้ในผืนป่าสาละวินแต่อย่างใด มีเพียง 2-3 คนซึ่งตนไม่แน่ใจและไม่ได้ว่าความให้ อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือชาวบ้านเหล่านี้ได้พยายามชี้ให้ศาลเห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและฐานะทางเศรษฐกิจเพื่อให้ศาลเมตตา โดยศาลได้ส่งพนักงานสืบเสาะเข้าไปสืบเสาะ ซึ่งตนเห็นว่าข้อมูลที่ได้รับคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทีตนชี้แจงไป

“การจับกุมทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับชาวบ้าน และเป็นเหตุให้มีการบุกตรวจค้นและยึดไม้จากชาวบ้าน โดยเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเพราะ เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแหโดยไม่แยกแยะใดๆ แล้วให้ชาวบ้านไปแก้ตัวในชั้นศาล เป็นการใช้กฎหมายแบบไม่มีน้ำใจ ทั้งๆที่รู้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้มีไม้ไว้ขายหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เพราะหากจับกุมในลักษณะนี้กันจริงๆ คงต้องจับประชาชนอีกมากมายในแม่ฮ่องสอน"นาย”ยงยุทธ กล่าว

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า กรณีการจับกุมชาวบ้านทั้ง 39 คน เป็นการสะท้อนการทำงานของระบบราชการไทยที่มุ่งแต่จับกุมคนเล็กคนน้อย ซึ่งเมื่อวาน(28 ตุลาคม) ได้มีเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เดินทางมาเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน อำเภอ ทหาร รวมถึงตนด้วย เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิ

นายพงษ์พิพัฒน์กล่าวว่า บรรยากาศเมื่อตอนเช้าภายหลังจากทราบคำตัดสินของศาล บรรดาญาติพี่น้องและชาวบ้านที่ถูกตัดสินให้จำคุกต่างพากันร้องไห้ทั้งในและนอกห้องขัง ทำให้บรรยากาศน่าเศร้าใจมาก บางคนประสบปัญหาไม่มีหลักทรัพย์หรือเงินค้ำประกัน บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อถูกตัดสินจำคุกก็ไม่รู้ว่าครอบครัวจะอยู่กันอย่างไร

“ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแม่บ้าน เขามีลูกเล็กๆอายุ 4 ขวบ เมื่อถูกตัดสินจำคุกก็เลยไม่รู้ว่าลูกจะอยู่อย่างไร ขณะนี้ทีมทนายกำลังช่วยกันหาหลักทรัพย์ประกันตัวออกมา ผมอยู่ในบรรกาศเมื่อเช้าแล้วรู้สึกห่อเหี่ยวใจมาก”นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าวและว่า จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เตรียมตัวไปให้กำลังใจพี่น้องที่ขึ้นศาล แต่ปรากฏว่าได้มีข้าราชการฝ่ายปกครองโทรศัพท์มาข่มขู่ชาวบ้านไม่ให้เดินทางไปโดยอ้างว่าอาจเป็นการทำผิดกฎอัยการศึก

อนึ่ง การจับกุมชาวบ้านทั้ง 39 รายเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ภายหลังจากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ซึ่งประกาศนโยบายจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้มีการลักลอบตัดไม้สักจำนวนมากในผืนป่าสาละวินซึ่งเป็นข่าวคึกโครม แต่ปรากฏว่าทางการไม่สามารถจับกุมหรือดำเนินคดีตัวการใหญ่หรือพ่อค้าไม้ได้เลย ขณะเดียวกันมีข่าวออกมาเป็นระยะว่ามีข้าราชการระดับหัวหน้าปฎิบัติงาน เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบตัดไม้สาละวินในครั้งนี้ ทำให้การตรวจสอบถูกตัดตอนและไม่มีการตั้งคณะกรรมการระดับสูงขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงใดๆและไม่มีหน่วยงานที่ทำงานเชิงลึกทั้งดีเอสไอ หรือตำรวจกองปราบฯเข้ามารับผิดชอบสืบสวนสอบสวนคดีนี้ทั้งๆที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบและดูแลพื้นที่ประกอบด้วย ทหารพราน ตำรวจ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ