วันพุธ, ตุลาคม 01, 2557

จากฮ่องกง 2014 ถึง 14 ตุลา 2516

ตลอดสัปดาห์ นักศึกษาฮ่องกงหยุดเรียนประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย มีการเดินขบวนชวนคนออกร่วมชุมนุมใหญ่ 1 ตุลาคมนี้ 
โดย พรรณิการ์ วานิช
ที่มา Voice TV

การต่อสู้ของภาคประชาชนและขบวนการนักศึกษาในฮ่องกง ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายๆคนหวนนึกถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบานด้วยหยาดเลือดที่รดแผ่นดินไทยจนชุ่มฉ่ำ ภาพนักศึกษา ประชาชนที่ออกมาเดินเต็มท้องถนน ไม่ได้แตกต่างกันระหว่างฮ่องกงในวันนี้ กับกรุงเทพฯในวันนั้น แต่อะไรทำให้ภาพนี้เกิดขึ้นในฮ่องกงหลังจากอยู่ใต้การปกครองของจีนมาอย่างค่อนข้างราบรื่นนานถึง 17 ปี และอะไร ทำให้คนไทย อาจจะไม่ได้เห็นพลังบริสุทธิ์ของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ยิ่งใหญ่แบบนี้อีกแล้ว?

การประท้วงเรียกร้องขอการเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะตามระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งมีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เริ่มโดยกลุ่ม NGO นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และหนุ่มสาวทั่วไป ตอนนั้นสื่อทั่วโลกเผยแพร่ข่าวตรงกันว่าผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อย แต่พลังของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในฐานะองค์กร ยังไม่ได้ปรากฏออกมาชัดเจน



จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม หลังจากรัฐบาลจีนยืนยัน ไม่ยอมให้ชาวฮ่องกงได้เลือกผู้ว่าการเกาะได้อย่างเสรี แนวร่วมประชาธิปไตยทุกเครือข่ายจึงรวมพลังเตรียมระดมคนประท้วงครั้งใหญ่แบบยืดเยื้อ โดยหนึ่งในองค์กรที่มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้มากที่สุดก็คือสหภาพนักศึกษาฮ่องกง ที่ยื่นคำขาดให้รัฐบาลจีนแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง มิฉะนั้นจะหยุดเรียนประท้วง 1 สัปดาห์ และระดมคนออกมาประท้วงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

กลุ่มนักศึกษาพิสูจน์แล้วว่านี่ไม่ใช่แค่คำขู่เลื่อนลอย ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึง 1 ตุลาคม วันชาติจีน และวันดีเดย์ของการประท้วงใหญ่ สหภาพนักศึกษาได้ประกาศหยุดเรียนทั่วฮ่องกง โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆร่วมแคมเปญนี้กว่า 13,000 คน ไม่มีใครเข้าเรียน แต่กลับออกมาชุมนุมเสวนาประชาธิปไตยตามสถานที่สาธารณะ และรณรงค์ให้ประชาชนออกมาแสดงพลังตามระบอบประชาธิปไตย จนกระทั่งแม้แต่เด็กมัธยมปลายจำนวนมาก ก็ทิ้งห้องเรียนออกมาร่วมชุมนุมด้วย โดยบอกว่านี่คือเวลาที่พวกเขาจะได้ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมา สร้าง “ฮ่องกงใหม่” ที่เป็นประชาธิปไตยกว่าเดิม

นักเรียนเหล่านี้อายุเพียง 16-18 ปี ส่วนบรรดานักศึกษาก็ไม่ได้อายุมากไปกว่ากันนัก พวกเขาเป็นเจเนอเรชันที่เติบโตมาในฮ่องกงภายใต้การปกครองของจีน ไม่เคยลิ้มรสฮ่องกงแบบเสรีในยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนต้องโหยหาประชาธิปไตย แต่ทำไมหนุ่มสาวเหล่านี้ กลับรักและพร้อมเสียสละเพื่อประชาธิปไตย แม้ต้องแลกมาด้วยเสรีภาพ หรือแม้แต่ชีวิตของพวกเขาเอง?

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ขบวนการนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน เมื่อปี 2007 เคยมีการประท้วงใหญ่ของบรรดานักเรียนนักศึกษา ต่อต้านการทุบท่าเรือควีนส์ สัญลักษณ์ประจำเกาะฮ่องกง เพื่อนำที่ดินไปแปรรูปเพื่อการค้า การประท้วงครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นการบ่มเพาะรากฐานของประชาธิปไตยลงในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ จนเติบใหญ่มาเป็นการประท้วงเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าในปัจจุบัน

Pro-democracy mass protests grow in Hong Kong: ABC News

Hong Kong's protesters are using the "hands up, don't shoot" gesture from Ferguson
Picture from Max Fisher

Hong Kong police unleashed tear gas on #OccupyCentral protesters
WSJ Asia  

Hong Kong streets blocked as pro-democracy protests spread
BBC World News
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การประท้วงเมื่อปี 2007 ยังทำให้มองเห็นรากฐานที่แท้เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นตอนนี้ นักเรียนนักศึกษาที่ออกมากรำแดดกรำฝนอยู่บนท้องถนนไม่ได้สู้เพื่อประชาธิปไตยในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ลึกลงไปกว่านั้น พวกเขากำลังสู้เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นฮ่องกง ที่กำลังถูกจีนกัดกร่อนทำลายลงทีละเล็กละน้อย ทั้งจากการอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และการรุกคืบเข้าริดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของรัฐบาลปักกิ่ง

ในแง่หนึ่ง ประชาธิปไตย ก็ไม่ต่างอะไรกับท่าเรือควีนส์ และสไตล์การใช้ชีวิตที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้วแบบตะวันตก นี่คือสิ่งที่หลอมรวมเป็นตัวตนของชาวฮ่องกง และเป็นสิ่งที่พวกเขาจะไม่ยอมสูญเสียไป ไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เสรีภาพ หรือแม้แต่ชีวิต

ความแตกต่างนี้ชัดเจน เมื่อหันกลับมามองขบวนการนักศึกษาและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในเมืองไทย สิ่งที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาของไทยอันรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต โรยราลงจนแทบไม่เหลือเค้าของการเป็นองคาพยพที่เคยขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ไม่ใช่เพียงการปราบปรามที่โหดเหี้ยมรุนแรงจากฝ่ายขวาในช่วงปี 2517-2519 แต่โดยแก่นแท้แล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาธิปไตยไม่เคยได้รับการยอมรับให้เป็นอัตลักษณ์ของชาวไทย ไม่เคยมีความรู้สึกร่วมกันในหมู่ประชาชนว่าต้องหวงแหนไว้ให้ลูกหลานในอนาคต เป็นได้ก็เพียงความรู้สึกชั่ววูบของคนรุ่นหนึ่งที่ต้องรับผลกระทบจากเผด็จการจนทนไม่ได้อีกต่อไป ก่อนจะถูกกลบซัดด้วยอัตลักษณ์อื่นๆอันเข้มแข็งและมีการผลิตซ้ำมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความสามัคคี หรือ ปรองดอง

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเมืองไทย จึงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่เคยเป็นสิ่งที่ยึดโยงคนในชาติไว้ด้วยกัน จนสามารถสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงและสถาปนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืนได้เสียที แม้ว่าประเทศนี้จะเป็น “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มาได้กว่า 80 ปีแล้ว