วันพฤหัสบดี, กันยายน 04, 2557

เปิดใจ“พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ” ในวันถูกทหารสั่งยกเลิกเสวนาสิทธิมนุษยชน


"..เราคิดว่า กระบวนการยุติธรรมในช่วงที่ประเทศเราเข้าสู่ระยะของการเปลี่ยนผ่าน ก็ควรมีช่องทางที่นำไปสู่ความปรองดองและสันติภาพที่ยั่งยืน จริงๆ การนำเสนอ อาจไม่ต้องตาต้องใจเจ้าหน้าที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลข่าวสารที่จะเสนอต่อสาธารณะ การไม่อนุญาตให้เราจัดเวที หรือการปิดกั้นเวทีเช่นนี้ ก็เป็นการปิดกั้นอิสรภาพทั้งคนพูดและคนฟัง .."

ที่มา สำนักข่าวอิศรา

หลังเหตุการณ์ วันที่ 2 กันยายน 2557 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ( FCCT ) อาคารมณียา เซ็นเตอร์ พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก. สน.ลุมพินี เดินทางมายังห้องประชุมสมาคมฯ เพื่อยื่นหนังสือจาก กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ลงนาม โดยพันโท ภาสกร กุสรวิวรรณ ต่อเจ้าหน้าที่ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ,แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เพื่อขอความร่วมมืองดจัดงานเวทีเสนอรายงานสิทธิมนุษยชนและเวทีเสวนาหัวข้อ “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” ที่ทั้ง 3 องค์กรร่วมกันจัดขึ้น

กล่าวสำหรับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ก่อนหน้านี้ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ก็ได้ถูกกรมทหารพรานที่ 41 ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากนางสาวพรเพ็ญ ส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ถึงผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 โดยเรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ทุบตีชายคนหนึ่งอย่างรุนแรงระหว่างการจับกุม เมื่อเดือนเมษายน 2557 และระบุว่าหากข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริงก็จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายไทยรวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สัมภาษณ์พิเศษ “พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ” ถึงความรู้สึกที่ถูกขอให้ยกเลิกกิจกรรม รวมถึงสิ่งที่ตั้งใจจะพูดบนเวทีเสวนา แต่ไม่ได้พูด เนื่องจากต้องยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว ขณะที่ความคืบหน้าของคดีที่ถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาท นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่าถูกทนายสั่งห้ามไม่ให้กล่าว แต่ยืนยันว่า วันที่ 14 กันยายน 2557 จะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ จ. ยะลา

ทั้งนี้ นางสาวพรเพ็ญ ยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่ก่อตั้งมูลนิธิ สถานการณ์ในช่วงนี้ถือเป็นครั้งที่เผชิญกับแรงเสียดทานมากที่สุด

@ ความรู้สึกที่ถูกขอให้ยกเลิกกิจกรรมครั้งนี้


พรเพ็ญ : เราคิดว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ให้เกียรติเรานักสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมายพอสมควร เพราะมีการทำหนังสือ ขอให้งดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร คือเมื่อเราได้เห็นหนังสือฉบับนั้น เราก็ยอมที่จะงดกิจกรรม

แต่เราก็ยังอยากจะสื่อสาร กับผู้ที่ตอบรับการมาร่วมงานและสื่อมวลชนที่สนใจรายงานสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ด้วย

เพราะเราเชื่อว่า การจัดเวทีในครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชน แต่เนื้อหาอาจกระทบกับผู้กำหนดนโยบายในปัจจุบันอยู่บ้าง แต่เราก็อยากให้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับนโยบายเข้าใจว่าคำสั่ง ประกาศตั้งแต่การรัฐประหาร หรือย้อนไปนับตั้งแต่การประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศมีผลอะไรบ้าง เนื่องจากเราเป็นศูนย์ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกจับกุม ดำเนินคดี ที่บางรายก็ยังมีปัญหาไม่ได้รับการประกันตัว

เราคิดว่า กระบวนการยุติธรรม ในช่วงที่ประเทศเราเข้าสู่ระยะของการเปลี่ยนผ่าน ก็ควรมีช่องทางที่นำไปสู่ความปรองดองและสันติภาพที่ยั่งยืน จริงๆ การนำเสนอ อาจไม่ต้องตาต้องใจเจ้าหน้าที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลข่าวสารที่จะเสนอต่อสาธารณะ การไม่อนุญาตให้เราจัดเวที หรือการปิดกั้นเวทีเช่นนี้ ก็เป็นการปิดกั้นอิสรภาพทั้งคนพูดและคนฟัง

@ ทราบว่าก่อนวันงาน 1 วัน มีโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ขอให้งดกิจกรรม เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลอย่างไร

พรเพ็ญ : โดยส่วนตัว ดิฉัน ไม่ได้รับการติดต่อ ใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็มีการติดต่อที่ให้เกียรติ เนื่องจากองค์กรที่ทำหนังสือเชิญคือแอมเนสตี้ฯ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ลงนามจดหมายเชิญสื่อ

ดังนั้น เจ้าหน้าที่ เขาก็จะติดต่อแอมเนสตี้ฯและศูนย์ทนายความฯ ดังนั้น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ไม่ทราบรายละเอียด แต่เขาก็ติดต่อมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน

แต่เราก็ผิดหวังนิดหนึ่ง ที่เขาติดต่อล่วงหน้ามาเพียงวันเดียว เนื่องจาก จดหมายประชาสัมพันธ์งาน ก็เผยแพร่ไปแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราก็ติดต่อสถานที่ ไปแล้ว จองห้องไปแล้ว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่เขาติดต่อมา เราก็พร้อมรับฟัง แต่เราก็ขอหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ให้หนังสือมา เราก็ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ แต่ยืนยันว่า ถ้าจะมีวิธีที่ขอให้ทั้งสองฝ่ายได้พบกัน เราก็ยินดีที่จะเข้าพบ

@ มีอะไรที่อยากสื่อสารถึงเจ้าหน้าที่รัฐ

พรเพ็ญ : เราเองก็อยากขอความร่วมมือกลับไปทั้งหัวหน้า คสช. นายกรัฐมนตรี และผู้ที่กำกับนโยบายว่าเราอยากให้รับฟังว่าการใช้กฎหมายทั่วหน้าแบบปูพรม มันอาจมีเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งที่มีนี้ไม่ได้ถูกเอื้ออำนวยให้นำไปสู่ความปรองดอง ถ้าได้ให้เรามีเวทีคุยกันแบบขาหุ้นฯ เราก็ยินดีไปคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรง เราก็อยากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ที่รับผิดชอบทางด้านกฎหมายและด้านสิทธิมนุษยชนโดยตรงด้วย เพราะเรามีหน้างานที่ต้องเผชิญหน้ากันโดยตรงอยูแล้ว เวลาที่เราต้องไปติดต่อที่ศาลทหาร ไปเรือนจำ เราก็อยากได้พบกับผู้ประสานงานทางด้านนี้โดยตรง นี่ก็เป็นแนวทางการสมานฉันท์

@ คุณคิดว่าอะไร คือ เหตุผลที่ทำให้งานถูกสั่งยกเลิก

พรเพ็ญ : ชื่อรายงานและชื่องาน ก็อาจทำให้เขาเกิดความกังวล ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เราก็ควรจะมาคุยกัน ว่าเขาอาจมีมุมมองคู่ขนาน เราอยากให้มาคุยกัน เจ้าหน้าที่จะได้บอกเราว่าเหตุผลอะไร ที่ต้องปิดตาผู้ที่ถูกควบคุมตัว หรือนำตัวไปไว้ในสถานที่ที่ไม่รู้ว่าที่ไหน การดำเนินการ ค้นหาความจริงเป็นอย่างไร หากได้พูดคุย และมีการนำเสนอข้อมูลอีกด้านจากเจ้าหน้าที่ก็น่าจะดีกว่าการที่ไม่ให้เราเสนอรายงานออกไป

@ ทำไมไม่เชิญเจ้าหน้าที่รัฐ มาร่วมเสวนาบนเวทีนี้ด้วย

พรเพ็ญ : เหตุผลที่เราไม่เชิญ ก็เพราะเราไม่แน่ใจท่าทีของหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบาย แต่ก็ยอมรับว่านี่ก็อาจจะเป็นข้อผิดพลาดของเราด้วย เราก็อยากเชิญเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลงานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายโดยตรงมาร่วมด้วย การที่ไม่เชิญนี่อาจเป็นความผิดพลาดของเรา

@ ยังมีประเด็นอื่นอีกไหม ที่คุณคิดว่าอาจนำมาสู่การยับยั้งเวทีครั้งนี้

พรเพ็ญ : ก็อาจจะเป็นสถานที่ด้วย อาจเพราะเอฟซีซีทีเป็นองค์กรระหว่างประเทศ แต่ที่เราเลือกใช้ที่นี่เพราะสื่อไทย อาจมีความจำกัดในด้านการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้อำนาจ ซึ่งเราก็ยืนยันว่าจะจัดเวทีใหม่ แต่ก็อาจต้องมีการบริหารจัดการที่สื่อสารใหม่ ว่าบทบาทเราเป็นผู้ช่วย ผู้ตรวจตราหน่วยงานรัฐในแนวทางการปฏิบัติ ก็หวังให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เห็นว่าเราก็น่าจะเคารพบทบาทกันและกัน

@ คุณยืนยันว่าจะจัดงานใหม่

พรเพ็ญ : ใช่ เราจะประเมินใหม่และจะมีการแลกเปลี่ยนบทเรียนที่เกิดขึ้นทั้งจากมุมของผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

@ อะไรคือเหตุผลที่มาร่วมกันจัดงานกับแอมเนสตี้ฯ

พรเพ็ญ : สาเหตุหนึ่ง เพราะมุลนิธิผสานวัฒนธรรม และแอมเนสตี้ฯ มีบทบาทร่วมกันคือต่อต้านการทรมาน มูลนิธิผสานก็ยินดีที่จะเข้ามาร่วมงานนี้ ตั้งแต่บทบาทของการจัดงาน

@ อะไรคือสิ่งที่คุณอยากจะพูดและไม่ได้พูดบนเวทีวันที่ 2 กันยายน

พรเพ็ญ : ที่ดิฉันจะพูดคือบทบาทของการป้องกันการทรมาน แนวทางการคลี่คลายว่าเมื่อมีข้อกล่าวหา จะทำอย่างไรให้นำไปสู่การคลี่คลายและมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ รวมถึงแนวทางการป้องกัน ไม่ให้มีการทรมานเกิดขึ้นเกิดขึ้น รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง นี่คือ สิ่งที่ดิฉันจะพูดในวันที่ 2 กันยายน
เมื่องานวันนี้ ( 2 กันยายน 2557 )ถูกงด ก็เลยไม่ได้พูดในสิ่งนี้

@ หัวข้อยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง หมายถึงเรื่องนี้

พรเพ็ญ : ใช่ และมีเรื่องการดำเนินคดีในศาลทหาร การดำเนินคดี มาตรา 112 การดำเนินคดีกับอาวุธสงคราม ซึ่ง เราพบว่า การใช้ประกาศ,คำสั่ง ของ คสช. ไม่สามารถอุทธรณ์ ได้ ซึ่ง ในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ตามหลักสิทธิมนุษยชนในหลักสากล ในคดีอาญาก็ต้องมีการอุทธรณ์

@ : หนังสือจากกองพันทหารม้าที่ 1 ฯ ระบุตอนท้ายถึงช่องทางแจ้งข้อมูลเรื่องร้องเรียนว่าแจ้งได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม

พรเพ็ญ : ที่ผ่านมา ศูนย์ดำรงธรรมอยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงมหาดไทย แต่ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามอำนาจทางกฎหมายโดยตรงกับหน่วยงานความมั่นคง ดังนั้น การไปให้มหาดไทยดูในเรื่องนี้ก็…( ไม่ระบุ )

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ถูกหน่วยทหารพรานที่ 41 ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท นางสาวพรเพ็ญ กล่าวว่า ทนายได้ห้ามไว้ไม่ให้เอ่ยประเด็นนี้ แต่ยืนยันว่า วันที่ 14 กันยายน 2557 ตนและนายสมชาย หอมละออ ในฐานะประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจ จ.ยะลา


*หมายเหตุ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 กองทัพไทยแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในข้อหาหมิ่นประมาทว่าทำให้กรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง โดยการแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าวเกิดหลังจากที่นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ส่งจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ถึงผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย โดยนางสาวพรเพ็ญได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ ทุบตีชายคนหนึ่งอย่างรุนแรงระหว่างการจับกุม เมื่อเดือนเมษายน 2557 และระบุว่าหากข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริงก็จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย ไทยรวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีด้วย

ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 กอ.รมน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทหารพรานที่ 41 และหน่วยงานอื่น รวมทั้งแพทย์ที่ตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ร้องเรียนว่าถูกทำร้าย ได้ออกคำแถลงชี้แจงว่าได้ทำการสอบสวนและพบว่าข้อกล่าวหาที่ว่ามีการทำร้าย ร่างกายนั้นไม่เป็นความจริง และคำแถลงยังกล่าวว่ามูลนิธิผสานวัฒนธรรมจะต้องรับผิดชอบต่อการบิดเบือน ความจริงและเผยแพร่ข้อความเท็จสู่สาธารณะโดยเจตนา

บรรยายภาพ : พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก. สน.ลุมพินี เดินทางมายังห้องประชุมเพื่อยื่นหนังสือต่อศูนย์ทนายความเพื่อขอความร่วมมืองดจัดงาน โดยหนังสือ ลงชื่อ พ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่1 รักษาพระองค์

ภาพประกอบจาก : http://prachatai.org
...

เรื่องเกี่ยวข้อง...

คสช. งาม...อีกแล้ว...นักข่าวต่างชาติ งง ทำไมต้องห้าม...ดูคลิป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แถลงงดการจัดงาน "ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง" ในวันที่ 2 กย. 2557