วันอังคาร, สิงหาคม 26, 2557

เรื่องเล่าหลังร้านหนังสือ: ชีวิตหลังรัฐประหารของคนเสื้อแดงธรรมดาๆ


ที่มา ประชาไท
Sat, 2014-08-23

เรื่องราวของร้านหนังสือเล็กๆ และชีวิตของคนขายหนังสือเสื้อแดงธรรมดาๆ ที่มักมีทหารมาเยี่ยมเยียนตรวจตราเป็นเพื่อนนักอ่านอยู่อย่างสม่ำเสมอ หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด


ณ ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่เคยเป็นที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงและเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่หลากหลาย เพราะมีขายตั้งแต่หนังสือธรรมะ ตำราทำอาหาร หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ ตลอดไปจนถึงหนังสือแนวประวัติศาสตร์ - การเมือง ทั้งในอดีตและร่วมสมัย ทั้งที่เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของแกนนำ เส้นทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ไปจนถึงนิตยสารการเมืองเชิงวิพากษ์อย่าง “ฟ้าเดียวกัน” และ “อ่าน”

บัดนี้ รายได้หลักของร้านกลับได้มาจากการขายอาหารประเภทกาแฟ ไอศกรีม ปาท่องโก๋ สินค้าเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ ลูกค้าที่ยังแวะเวียนมาก็มีแต่หน้าเดิมๆ จำนวน 10 - 20 คน พวกเขาจับกลุ่มเล็กๆ กันเองบริเวณหน้าร้านเพื่อพบปะเพื่อนเก่า พูดคุยและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาเริ่มปรับตัวและทำความคุ้นเคยกับการมาเยี่ยมเยือนของเหล่าทหารอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กระนั้น พวกเขาก็ยังประคับประคองรักษาพื้นที่เสรีภาพอันน้อยนิดที่ยังคงเหลือของพวกเขาเท่าที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจะทำได้

“ป้าแต๋ว” มวลชนคนเสื้อแดงที่มาช่วยร้านขายหนังสือเป็นประจำ และพี่น้องเสื้อแดงที่แวะเวียนมาอุดหนุนเกื้อกูลให้ธุรกิจร้านเล็กๆ นี้อยู่รอดต่อไปได้ เล่าว่าหลังรัฐประหาร ทหารก็เข้ามาเยี่ยมเยียนตรวจตราที่ร้านและบริเวณโดยรอบอยู่เสมอ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังรัฐประหาร ศูนย์การเรียนรู้คอมพิวเตอร์ข้างๆ ถูกบุกค้นและยึดฮาร์ดแวร์ไปกว่า 30 เครื่อง “ป้าแต๋ว” พูดด้วยความขุ่นเคืองว่า “ที่นั่นเขาเอาไว้สอนคนแก่ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ยึดของเขาไปทำไม เขาเอาไว้สอนให้คนฉลาดขึ้น” จวบจนทุกวันนี้ ของที่ถูกยึดไปก็ยังไม่ได้คืนมา
 


สองสัปดาห์ผ่านไป การตรวจตราของทหารก็แผ่ขยายมายังร้านค้าและสำนักงานของคนเสื้อแดงแทบทั้งหมด “พี่นุช” ผู้จัดการร้านหนังสือร่างเล็กเล่าพร้อมรอยยิ้มขำๆ ว่า “มีทหารในเครื่องแบบติดอาวุธเข้ามาในร้าน ถ่ายรูปร้าน รูปพี่เขา รูปหนังสือที่วางขายเกือบทุกเล่ม พร้อมสอบถามชื่อเจ้าของร้าน “พี่นุช” ก็ให้ความร่วมมือพูดคุยเป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่าหนังสือที่ขายนั้นล้วนแต่ถูกกฎหมาย เป็นหนังสือที่ร้านหนังสือชื่อดังอื่นๆ ก็วางขายบนแผงแบบเดียวกัน จะผิดไปจากร้านอื่นก็ตรงที่เป็นร้านหนังสือของคนเสื้อแดง

หลังเก็บข้อมูลและถ่ายภาพไปแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารก็เหลือบไปเห็นภาพโปสเตอร์ตั้งพื้นขนาดเท่าคนจริงซึ่งเป็นรูปของนักการเมืองและแกนนำคนเสื้อแดงชื่อดังคนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าร้าน พวกเขาประกาศทันทีว่าจะขอยึดรูปนั้น สำหรับพวกทหารแล้ว บุคคลผู้นี้คงถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงเพราะขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. มีหมายจับ และปัจจุบันยังอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่สำหรับเหล่าลุงๆ ป้าๆ บุคคลผู้นี้เป็นคนที่พวกเขาให้ความรักและนับถือ “ป้าแต๋ว” หญิงใจกล้าพูดจาฉะฉานเข้าไปดึงดันไม่ให้ทหารยึดเอารูปกระดาษนั้นไป โดยรีบเก็บเข้าไปไว้ในร้านอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะไม่เกิดการปะทะรุนแรงและสุดท้ายของก็ไม่ถูกยึดไป แต่ทหารก็กำชับว่าห้ามนำรูปบุคคลผู้นั้นออกมาตั้งหน้าร้านอีกเด็ดขาด เหล่าลุงๆ ป้าๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์บางคนให้ความเห็นว่า “ก็น่าจะให้พวกเขาแบกรูปไป คงดูตลกพิลึก”

นับตั้งแต่วันนั้น ทหาร 4 - 5 นายจะแวะเวียนมาที่ร้านอยู่เสมอ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง สี่คนเป็นทหารเกณฑ์อายุ 20 ต้นๆ บางครั้งมาพร้อมกับหัวหน้า การมาเยือนครั้งต่อๆ มา ทหารไม่ได้มาพร้อมอาวุธครบมือแล้ว น่าจะเป็นเพราะโดนป้าๆ ต่อว่าเรื่องอาวุธ เจ้าหน้าที่ทหารจะถามคำถามซ้ำๆ ว่าใครเป็นเจ้าของร้าน ขอนามบัตร มาถ่ายรูปสิ่งของเดิมๆ คนเดิมๆ “พี่นุช” รำพึงว่า “ไม่รู้จะถ่ายรูปซ้ำๆ ไปทำไมทุกวัน” โดยภาพรวมเจ้าหน้าที่ที่มาที่นั่นพูดจาสุภาพ ไม่มีการข่มขู่ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่นั่งล้อมวงกันบริเวณนั้นก็มักจะเลี่ยงไม่มาใกล้ๆ เวลาที่ทหารมาตรวจตรา จะมีก็เพียงป้าไม่กี่คนที่กล้าตั้งคำถามกับการกระทำของทหาร “ป้าแต๋ว” ถามผู้บังคับบัญชาอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไปไล่ล่าจับคนเสื้อแดงเขาทำไม!” “อยากขึ้นเป็นนายกฯ ก็ไปเลือกตั้งเถอะ” ฝ่ายทหารก็มิได้ตอบโต้อย่างรุนแรง ตรงกันข้าม เขามักพูดซ้ำๆ อย่างนอบน้อมให้เห็นใจว่า ตัวเขาเองก็เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งแต่ต้องทำตามคำสั่งเจ้านาย เมื่อโดนคนเสื้อแดงตัดพ้อเรื่องการรุกรานยึดทรัพย์สินร้านค้าบริเวณนี้ เขาก็จะตอบแบบเลี่ยงๆ ว่าฝ่ายเขาไม่ได้รับผิดชอบการกระทำดังกล่าว หากแต่เป็นทหารจากหน่วยอื่น เป็นคนละกลุ่มกัน หรือไม่ก็จะอธิบายปัดความรับผิดชอบไปว่าเจ้าของสถานที่เขาทำเองโดยสมัครใจ

การปรากฏตัวของทหารกลายเป็นความเคยชินมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันเกิดอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” คนเสื้อแดงนำรูป “อดีตนายกฯ ทักษิณ และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์” มาติดตกแต่งตามร้านต่างๆ ห้างร้านที่เคยเงียบเหงากลับเต็มไปด้วยคนเสื้อแดงจำนวนมาก บรรยากาศวันนั้นดูคึกคักผิดจากวันอื่นๆ มีรถฮัมวี่มาจอดบริเวณที่จอดรถมากผิดปกติ มีทหารชั้นประทวนนั่งประจำการอยู่หน้าร้านค้า แต่ก็อยู่อย่างเงียบๆ ท่ามกลางคนเสื้อแดงที่เดินกันขวักไขว่ หรือนั่งล้อมวงคุยสังสรรค์กัน ส่วนหัวหน้าทหารก็เลือกที่จะใส่ชุดนอกเครื่องแบบกลมกลืนไปกับคนทั่วไป

ถึงจะอยู่ในชุดนอกเครื่องแบบ “ป้าแต๋ว” ก็จำนายทหารผู้ใหญ่คนนั้นได้ดี ป้าไม่รีรอที่จะไปต่อว่าเรื่องการปลดรูปอดีตนายกฯ ทั้ง 2 คน พร้อมเรียกเพื่อนๆ อีก 3 - 4 คนมารับฟังด้วย เมื่อป้าคนอื่นๆ ทราบว่าชายในชุดลำลองผู้นี้คือ “ทหาร” ต่างก็ไม่ลังเลที่จะแสดงความไม่พอใจของตนออกมาอย่างชัดเจน บ้างก็เบนหน้าไปอย่างเงียบๆ พร้อมพูดเบาๆ ว่า “เกลียดทหาร” บ้างก็จี้ถามนายทหารผู้นั้นว่า “นี่จะมาล้างสมองพวกเราหรือ” นายทหารผู้นั้นได้แต่ยิ้มและรับฟังคำตัดพ้อของเหล่าป้าอย่างสุภาพ “ป้าเกลียดทหารแต่รักผมสักคนได้ไหม?” เขาหัวเราะแห้งๆ งานฉลองในวันนั้นยังดำเนินไปจนถึงค่ำ ถึงแม้รูปจะถูกปลดลงก็มีการนำรูปใหม่เข้าไปตั้งบริเวณด้านในแทน และมีคนเสื้อแดงต่อแถวถ่ายรูปกันอย่างไม่ขาดสาย

อย่างไรก็ดี หลังวันเกิด “อดีตนายกฯ ทักษิณ” มีการสับเปลี่ยนผลัดเวรให้ทหารเกณฑ์อย่างน้อย 4 คนมาประจำในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทหารได้เข้าไปกินนอนอาศัยที่สำนักงานแห่งหนึ่งของคนเสื้อแดง “พี่นุช” กล่าวว่า “ตั้งแต่เปิดร้านยันปิดร้าน เขาก็อยู่กับเรา คอยเดินสำรวจเป็นระยะๆ แถมยังพูดด้วยความเห็นใจว่า “สงสารทหารเด็กๆ พวกนี้ ที่ต้องตื่นแต่เช้าและทำงานที่น่าเบื่อซ้ำๆ กันทุกวัน เพราะทหารเหล่านี้มักจะบ่นว่าต้องมา ต้องทำ เพราะ “นาย” สั่ง


ถึงแม้ว่าจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ข่มขู่ กระทำการรุนแรงใดๆ แต่เราปฏิเสธได้หรือว่า มาตรการค้นร้าน ถ่ายรูป ปลดรูปอยู่เป็นนิจ ซ้ำร้ายยังประจำการอยู่บริเวณดังกล่าว 24 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่ปกติหรือสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง ไม่เพียงเท่านั้นเว็บไซต์ขายหนังสือของร้านก็ยังถูกไอซีทีบล็อก “พี่นุช” ตัดพ้อว่า “เว็บไซต์ของร้านหนังสือไม่ได้มีเนื้อหาหรือการพูดคุยตอบโต้ทางการเมืองเลย มีแต่รายชื่อหนังสือที่วางขาย แม้กระทั่งช่องทางเล็กๆ ในการเรียกลูกค้าและหารายได้ทางอินเทอร์เน็ตก็ยังถูกทางการปิดกั้น โดยให้เหตุผลว่า ‘ยุยงปลุกระดม ต้านรัฐประหาร!!’ ”

หลังรัฐประหาร คนเสื้อแดงไม่เหลือทั้งพื้นที่การชุมนุม พื้นที่เสรีภาพในการแสดงสัญลักษณ์ที่ตนชื่นชอบ ไม่มีโอกาสได้พบปะหรือฟังแกนนำพูดคุย เหลือไว้ก็เพียงแต่พื้นที่พบเจอพูดคุยกันที่ร้านหนังสือแห่งนี้ที่พวกเขาคุ้นเคย พวกเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมคนเสื้อแดงจึงถูกจับจ้องไม่คลาดสายตาเยี่ยงอาชญากรร้ายแรงเช่นนี้

“พอเขาทราบว่าทหารมาแทบทุกวัน ลูกค้าเขาก็ไม่กล้ามา กลัวถูกค้นบ้าง กลัวถูกถ่ายรูปบ้าง” “พี่นุช” บอกว่าจำนวนลูกค้าลดฮวบฮาบอย่างน่าใจหาย เฉกเช่นร้านค้าอื่นๆ ร้านขายหนังสือของ “พี่นุช” ประสบปัญหาธุรกิจซบเซา วันๆ หนึ่งขายหนังสือได้เกือบจะไม่ถึงพันบาท จึงต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปรับเสริมร้านหนังสือให้มีสินค้าอื่นๆ บริการด้วย เช่น ขายกาแฟ ไอศกรีม ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ความหวังที่ส่องแสงรำไรในช่วงเวลาที่น่าหดหู่สำหรับคนกลุ่มหนึ่งก็คือ ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ได้กลับกลายเป็นพื้นที่ปลอบประโลมใจคนเสื้อแดงธรรมดาๆ ที่อยากพบปะพูดคุย ระบายความในใจที่อัดอั้นกับเพื่อนๆ เพราะพวกเขาไม่รู้จะไปที่ไหน ไปคุยกับใคร?

ในขณะที่ร้านค้าบางร้านซึ่งขายเสื้อผ้า ซีดี วีซีดี ถึงกับต้องปิดกิจการไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าสินค้าที่เคยซื้อขายกันอย่างแพร่หลายในอดีต บัดนี้จะกลายเป็นของผิดกฎหมายหรือขัดต่อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ โชคยังดีที่ร้านของ “พี่นุช” ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ตามอัตภาพ

เรื่องราวสั้นๆ ที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งนำเสนอการคุกคาม ข่มเหงรังแกของทหารต่อประชาชน หากแต่เป็นเรื่องราวแห่งความหวัง การปฏิเสธที่จะเป็นเพียงแค่เหยื่อที่ไร้ทางสู้ของคนธรรมดา เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจแห่งการบังคับ จับจ้อง และควบคุมอย่างเคร่งครัด

คนเสื้อแดงทั่วๆ ไปต่างมีวิธีรับมือกับวิถีชีวิตหลังรัฐประหารที่แตกต่างกันไป บ้างก็หลบเลี่ยงไม่มาเจอหน้า บ้างก็ตัดพ้อ บ้างก็ต่อว่าท้าทายซึ่งๆ หน้า หากว่านี่เป็นการกระทำของแกนนำหรือนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียง ผู้ปกครองอาจเลือกใช้ไม้แข็ง กักกันตัวเพื่อปรับทัศนคติ ทว่าพวกเขารู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับขืนใจมวลชนที่แค้นเคืองทุกคนได้ วงล้อมสนทนาเล็กๆ จึงไม่อาจจะถูกขจัดให้อันตรธานไปจากสังคมอย่างสิ้นซาก เหนือสิ่งอื่นใด ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์ของพวกเขา มิพักต้องพูดถึงการคืนความสุขให้แก่คนเหล่านี้