วันพุธ, กรกฎาคม 16, 2557

บทวิจารณ์: “ประเทศไทยไม่ใช่อาร์เจนตินา”

ฮวน โดมิงโก เปรอง
โดย Philip Bowring วันที่ 2 กค. 2557
ที่มา Asia Sentinel
แปลโดย ordinary people
นักข่าวหน้าจอ

อย่าร้องไห้สงสารประเทศไทยไปเลย ตระกูลชินวัตร (Don’t cry for me, Shinawatra)

หนึ่งในหลายๆเหตุผลที่อำมาตย์และทหารยกขึ้นมาอ้างในการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของทักษิณ ก็คือป้องกันไม่ให้ประเทศไทยต้องเป็นเหมือนกับอาร์เจนตินา (โควตคำพูดจากบทความ Thai Game Plan: Drive Shinawatras into Exile โดยสามารถดูได้ที่ลิ้งค์นี้ http://goo.gl/srmRl7 - ผู้แปล)

ประเทศไทยกับอาร์เจนตินามีอะไรที่คล้ายกันน้อยมาก แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาก็กล่าวหาอดีตนายกทักษิณว่าเป็นฮวน เปรอง ของประเทศไทย เปรองเป็นผู้ชื่นชอบนโยบายประชานิยมแห่งอาร์เจนตินา ทำให้อาร์เจนตินาที่ครั้งหนึ่งเคยมั่งคั่งในระดับเดียวกันกับออสเตรเลีย กลายมาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลางเพราะสร้างหนี้สินให้เป็นภาระกับประเทศมาเป็นเวลานาน

การเอาทักษิณไปเปรียบกับเปรอง ขอโทษนะ มันเป็นการกระทำของคนที่ไม่รู้จริงว่าเปรองทำอะไรกับอาร์เจนตินาบ้าง แต่สิ่งที่สามารถเอาอำมาตย์ไทยไปเปรียบกับอดีตผู้นำอนุรักษ์นิยมของอาเจนตินาคนนี้ได้คือการดูถูกคนจน กล่าวหาว่าคนจนไร้ค่าไม่สมควรที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินเลือกรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศ

เปรองเป็นทหารมาก่อน มาดังก็ตอนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานในสมัยที่ทหารเรืองอำนาจในยุค 1940 เขาเป็นคนกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ สนับสนุนให้มีการตั้งสหภาพและพยายามส่งเสริมนโยบายดูแลสุขภาพแบบกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ทำให้เปรองชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 1946 และ1952 ก่อนจะถูกทหารปฏิวัติขับไล่ให้ไปอยู่นอกประเทศ ภายหลังกลับมาครองอำนาจอีกครั้งในช่วงสั้นๆในปี 1973 ก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปีถัดมา

การกลับมาของทหารครั้งนี้โหดยิ่งกว่าเดิม รัฐบาลทหารในยุคของนายพลจอร์จ ราฟาเอล ฟิเดลา สังหารหมู่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายซ้ายไปมากมาย ผู้สืบทอดอำนาจต่อมาคือนายพลฟิโอลาและนายพลกาลทิเอรี่ที่หมดอำนาจเมื่อตอนล้มเหลวในการยึดเกาะฟอล์คแลนด์และเกาะมาลวินามาจากอังกฤษเมื่อปี 1982

เรื่องราวของเปรองเกิดบนแผ่นดินที่มีการแตกแยกสุดร้าวลึก ไม่ใช่เรื่องศาสนาหรือชนกลุ่มน้อย แต่เป็นเรื่องของชนชั้น ที่คล้ายกันกับประเทศไทย

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อาร์เจนตินาเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุนของเปรอง ก่อนที่จะเกิดปัญหาหนี้สิน สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะการลงทุนที่มากเกินไปและความตกต่ำทางการค้าอย่างรุนแรง ข้อผิดพลาดของเปรองไม่ได้อยู่ที่การพยายามลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย แต่เป็นเรื่องการนำนโยบายชาตินิยมมาใช้ ยึดกิจการของต่างชาติมาเป็นของรัฐ ทำให้อเมริกาโกรธ ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องการลงทุนในประเทศ

นโยบายเหล่านี้ที่เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีการนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อราวปี 1930 ในยุควิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) และในช่วงที่อาร์เจนตินาค้าขายไม่ได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อาร์เจนตินาผูกติดกับนโยบายนี้เป็นสิบๆปี และมีครั้งหนึ่งที่องค์กรการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติให้การเห็นชอบ นโยบายนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของ “ประเทศโลกที่สาม” ที่ไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง (ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ) ในระว่างปี 1970 และ1980

การเน้นหนักไปที่นโยบายเศรษฐกิจพอเพียงและปฏิเสธการลงทุนจากต่างประเทศ ตามด้วยการนำเอาสูตรสำเร็จในการพัฒนาตามแบบมุสโสลินีของอิตาลีและนายพลฟรังโกแห่งสเปนมาใช้ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เปรองและพรรคพวกสร้างความฉิบหายวายวอดให้กับอาเจนตินา ไม่ใช่เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการแรงงาน ไม่มีอะไรที่จะเหมือนกันสักนิดระหว่างเปรองกับทักษิณ ก็เห็นอยู่ว่าทักษิณเป็นนักลงทุนตัวยงในระบบการตลาดแบบเปิด ทักษิณส่งเสริมการค้านำเข้าและส่งออกและการไหลของเงินทุน

จริงๆแล้ว ผู้นำในอดีตของไทยที่สมควรจะนำมาเปรียบเทียบกับเปรองได้คือจอมพลป. พิบูลสงคราม (ปี 1938-1957) และจอมพลสฤทธิ์ ธนะรัตน์ (ปี 1958-1963) เจ้าของนโยบายชาตินิยมที่ใกล้เคียงกับของเปรอง

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านโยบายทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาที่ซวนไปเซมาและล้มเหลวตลอดหกสิบปีที่ผ่านมา คือระบอบการเมือง การเมืองคือคำอธิบายว่าทำไมอาร์เจนตินาที่เมื่อร้อยปีที่แล้วร่ำรวยในระดับเดียวกับออสเตรเลีย ทั้งยังเป็นประเทศใหญ่เต็มไปด้วยประชากรที่ขยันขันแข็งอพยพมาจากยุโรป อาร์เจนตินาได้รับเอกราชจากการปฏิวัติปลดแอกตัวเองจากการปกครองของสเปน ตั้งแต่ได้เอกราชการเมืองก็ลุ่มๆดอนๆมาโดยตลอด ส่วนใหญ่การปกครองอยู่ในมือทหารโดยมีการเมืองแบบประชาธิปไตยประชานิยมเข้ามาสอดแทรกบางช่วง มีช่วงสั้นๆที่เศรษฐกิจเป็นแบบเสรีนิยมสุดโต่งภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีเศรษฐกิจโดมิงโก คาวาลโย ในปี 1991-2001 มีการเอาค่าเงินไปผูกติดกับเงินดอลลาร์ของสหรัฐ

อาร์เจนตินานั้นโชคไม่ดี ที่ไม่ได้รับการปลูกฝังให้สร้างองค์กรเสรีประชาธิปไตยจากเจ้าอาณานิคมสเปน เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจากประเทศอาณานิคมสู่ประเทศเอกราช ไม่มีองค์กรของรัฐบาลใดๆเลยที่ได้รับการปลูกฝังจากสเปนเหมือนกับที่ออสเตรเลียได้รับการถ่ายทอดจากอังกฤษ ไม่มีความรู้สึกผูกพันไม่มีความเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจเหมือนกับที่ออสเตรเลียผูกติดกับอังกฤษต่อมาก็กับสหรัฐอเมริกา และไม่ชาตินิยมจนเกินไป

ความชาตินิยมของอาร์เจนตินาทำให้ตัวเองว้าเหว่ มีเพื่อนน้อยและอยู่ห่างไกล ชิลีก็เป็นศัตรู บราซิลคือคู่แข่ง สเปนคือผู้ปกครองเก่าที่ภายในประเทศยังไม่สงบ ออสเตรเลียสร้างองค์กรเพื่อควบคุมอำนาจของผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ของระบบราชการ ของทหารของประชาชนที่มีส่วนร่วมอย่างมีเกียรติในสงครามโลกทั้งสองครั้ง ประชาธิปไตยมีไว้เพื่อรับใช้ประชาชนคนธรรมดาให้ได้รับสิทธิและโอกาศโดยเท่าเทียมกัน ดีกว่าระบอบของยุโรปแบบเดิมที่ให้ประโยชน์แก่คนชั้นสูง การเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอม ไม่ใช่ผู้ชนะกินรวบฝ่ายเดียวการสร้างความเสียหายให้กับชาติไม่ได้วัดกันเป็นตัวเงิน

แต่เรื่องของอาร์เจนตินามันตรงกันข้าม ประเทศที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่แต่ยากจน อำนาจรัฐให้ประโยชน์กับนักการเมืองมากกว่านายทุน ทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญต่อชาติ ผิดกับออสเตรเลียที่มีองค์กรที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ด้วยความประนีประนอม ออสเตรเลียให้ความคุ้มครองทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาค เช่น ในปี 1960 และ 1970 สิ่งเหล่านี้สมควรทำให้เกิดขึ้นจริงมากกว่าจะเป็นเพียงแค่ความคิด เพราะมันอาจไม่ได้รับความสนใจและถูกละเลยได้ง่าย

แน่นอนที่สุดไม่มีเหตุผลใดๆเลยที่จะคิดว่าคณะรัฐประหารจะนำเอาเศรษฐกิจแบบชาตินิยมที่ทำลายตัวเองมาใช้ เมื่อประเทศไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการผลิตของโลกไปแล้วโดยเฉพาะกับญี่ปุ่น

และก็มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะมีการนำนโยบายประชานิยมของทักษิณมาใช้ พวกเขาเกลียดทักษิณแต่ชอบนโยบาย อย่างไรก็ตาม การเมืองของประเทศไทยก็ยังคล้ายอาร์เจนตินามากกว่าออสเตรเลีย ปัญหาไม่ใช่อันตรายจากนโยบายที่คล้ายกันกับของเปรอง แต่ประเทศไทยขาดองค์กรและขาดทัศนคติที่จะทำให้รัฐบาลมีความมั่นคงและมีประชาธิปไตยแบบประนีประนอม ถ้าเปรียบทักษิณเป็นเปรอง ประยุทธ์ก็ต้องเป็นฟิเดล่า

แปลโดย ordinary people
ที่มา: http://www.asiasentinel.com/politics/thailand-not-argentina/