วันศุกร์, กรกฎาคม 18, 2557

“เศรษฐกิจของประเทศไทย - เมื่อภูมิคุ้มกันบกพร่อง”


“ความรู้สึกที่ว่าประเทศไทยทนทานต่อสิ่งร้ายๆไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ ตอนนี้ชักจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว” เมื่อประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีเสน่ห์กับนักลงทุนมากกว่า และอนาคตทางการเมืองของประเทศไทยก็ยังอึมครึมเหมือนกับท้องฟ้าของกรุงเทพฯ

ที่มา

The Economist วันที่ 5 กค. 2557

(คำโปรย) เศรษฐกิจไม่อาจหนีผลกระทบจากปัญหาการเมืองได้

มันใช้เวลาไม่นานที่คณะรัฐประหารจะค้นพบวิธีที่จะทำให้ตนเองได้รับความชื่นชม นั่นคือการจ่ายและก็จ่าย คสช.นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ากุมบังเหียนรัฐเดือนแรกจึงหน้ามืดตามัวผลาญเงินในคลังออกไปอย่างเมามัน ด้วยการจ่ายเงิน 92,400 ล้านบาท (2.8 พันล้านดอลล่าร์) แก่ชาวนาเป็นค่าจำนำข้าวตามนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกขับไล่ ตอนนี้กำลังพิจารณาโครงการเกี่ยวกับการขนส่งที่มีมูลค่ามากว่า 72,000 ล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท - แอดมิน) อย่างตั้งอกตั้งใจ

นอกจากนี้ยังสัญญาว่าจะพิจารณาโครงการมูลค่ารวมกัน 21,000 ล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 6.7 แสนล้านบาท - แอดมิน) ที่กำลังรอการอนุมัติจากบีโอไอ ที่ท่านประยุทธ์กระโดดขั้นไปนั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง ในการประชุมครั้งแรกของบีโอไอหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ได้อนุมัติ 18 โครงการมูลค่า 4,000 ล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท - แอดมิน) และหลังจากกำจัดรัฐบาลที่เป็นเจ้าของนโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมออกไป คสช.คงจะคิดว่าเอาวิธีของรัฐบาลชุดเก่ามาใช้บ้างท่าจะดีไม่น้อย จึงได้จัดการทำข้อตกลงอันเป็นที่มาของฟรีฟุตบอลโลกทางทีวี

รู้สึกว่าคนไทยจะพอใจ ผลการสำรวจหลังรัฐประหารพบว่าดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคตีกลับหลังจากถดถอยตลอด 13 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 67.8 ในเดือนเมษายน มาอยู่ที่ 70.7 ในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม หลังทหารเข้ายึดอำนาจหนึ่งวัน ขยับขึ้นอย่างมั่นคงโดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ดัชนีอยู่ที่ 1,486 จุด เพิ่มขึ้น 17 เปอร์เซนต์ นับแต่ต้นปี ค่าเงินบาทแข็งขึ้นหลังจากอ่อนตัวเล็กน้อยหลังรัฐประหาร

แต่ก็ยังไม่ถึงกับดี จีดีพีของประเทศไทยในไตรมาสแรกของปี 2557 ลดลง 0.6 เปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสที่แล้ว และลดลง 2.1 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การท่องเที่ยวที่มีมูลค่าประมาณ 7 เปอร์เซนต์ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ถดถอยอย่างน่าใจหาย จากรายงานของ STR Global ผู้ให้บริการข้อมูล อัตราการเข้าพักของโรงแรมจากเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมลดลง 15 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2556 เมื่อเดือนมิถุนายนธนาคารแห่งประเทศไทยลดการคาดการอัตราการเจริญเติบโตลงครึ่งหนึ่งเหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์

การลงทุนของต่างประเทศโดยตรงดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจน ห้าเดือนแรกของปี 2557 มีผู้ยื่นขอส่งเสริมกับบีโอไอ 334 โครงการมูลค่า 230,000 ล้าน เปรียบเทียบกับ 526 โครงการมูลค่า 256,000 บาท ในห้าเดือนแรกของปี 2556 นักลงทุนญี่ปุ่นตามปกติจะเป็นชาติลงทุนรายใหญ่ที่สุด ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีความมั่นใจในประเทศไทย ยื่นขอส่งเสริมน้อยลงมากกว่าครึ่ง

การถดถอยบางเรื่องไม่น่าแปลกใจเพราะเป็นไปตามวัฎจักร เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตในปี 2555 และ 2556 เมื่อประเทศฟื้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาตรการจูงใจของรัฐบาลด้วยการให้เงินกู้ซื้อบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกทำให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น แต่การซื้อบ้านและรถทำให้ประชาชนเป็นหนี้ผูกพันไปในอนาคตเกิดความกังวลเรื่องหนี้สินในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การหนีหายไปของนักลงทุนต่างประเทศมันผิดปกติไม่ใช่เป็นไปตามวัฎจักร ถ้าสถานการณ์การลงทุนยังเป็นอย่างในห้าเดือนแรกต่อไป การลงทุนจะต่ำกว่าตอนก่อนที่น้ำจะท่วมเสียอีก

ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าประเทศยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย มาตรการกระตุ้นทำให้เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่สอง สุทธาภา อมรวิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไทยพานิชย์ให้ความเห็น เธอบอกว่าเธอเห็นสัญญาณของการบริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้านค้าเล็กๆสั่งสินค้าเข้าร้านมากขึ้น ประชาชนออกไปกินอาหารนอกบ้านมากขึ้นและซื้อของใช้เข้าบ้านเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวกำลังจะกลับเข้ามา เหมือนกับตอนหลังปฏิวัติปี 2549 (หลังรัฐประหารหนล่าสุด สถานที่แรกที่ยกเลิกเคอร์ฟิวคือเกาะสมุย พัทยา ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว)

การเร่งอนุมัติการขอส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ เป็นการส่งสัญญาณของคสช.ว่าประเทศไทยยังคงให้การต้อนรับการทำธุรกิจของชาวต่างชาติ ในภาคการผลิตของประเทศ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางพารามากที่สุดในโลก ผลิตฮาร์ดไดรฟ์และรถยนต์กระบะเป็นอันดับสองของโลก มีความไม่สงบทางการเมืองตลอดปี ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคและมีภาษีนิติบุคคลต่ำ

แต่ประเทศไทยมีแรงงานที่แก่เกินแกง ค่าจ้างสูง ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2556 ค่าแรงเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ อัตราคนว่างงานน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เพราะประเทศไทยมีภาคการเกษตรที่ใหญ่ และการให้คำนิยามการว่างงานมุ่งไปในทางทำให้ตัวเลขน้อยเข้าไว้ ถึงกระนั้น ในครึ่งปีหลังของปี 2556 จากการสำรวจของสำนักงานเจโทร องค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนของญี่ปุ่น พบว่าบริษัทญี่ปุ่นมากกว่าครึ่งบอกว่าแรงงานขาดแคลน คสช.สัญญาว่าจะจัดระเบียบตลาดแรงงานของประเทศ ก็ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง ยกเว้นการส่งแรงงานกัมพูชาเป็นแสนคนกลับบ้าน

ไม่แปลกใจเลยที่เจโทรทำการส่งเสริมแผนการ “ประเทศไทยบวกหนึ่ง” ที่บริษัทญี่ปุ่นเริ่มโยกย้ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกและมีแนวโน้มของการเจริญเติบโต ราจิฟ บิสวาส นักเศรษฐศาสตร์สำหรับเอเชียแปซิฟิกของ IHS องค์กรให้คำปรึกษา กล่าวว่า “ความรู้สึกที่ว่าประเทศไทยทนทานต่อสิ่งร้ายๆไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายอย่างไรก็ไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจ ตอนนี้ชักจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว” เมื่อประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีเสน่ห์กับนักลงทุนมากกว่า และอนาคตทางการเมืองของประเทศไทยก็ยังอึมครึมเหมือนกับท้องฟ้าของกรุงเทพฯ

แปลโดย พระเอกลิเก
ที่มา: http://www.economist.com/news/finance-and-economics/21606327-economy-cannot-shrug-thailands-political-problems-when-teflon-wears