วันเสาร์, กรกฎาคม 05, 2557

"ว่าแต่เขา เราโกงเอง" : ปัญหาคอร์รัปชัน-จุดเสื่อม คสช.?


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

ต้องยอมรับว่า การเข้ามายึดกุมอำนาจการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.นั้น เป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง สำหรับคณะนายทหารที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ

ไม่เช่นนั้น ตัว พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่พูดทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคมว่า “ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่มีใครอยากยึดอำนาจ” เพราะในโลกปัจจุบัน การยอมรับอำนาจเผด็จการทหาร ไม่ใช่สิ่งที่ประชาโลกส่วนใหญ่จะเข้าใจและยอมรับได้

เหตุผลสำคัญของการไม่ยอมรับระบอบเผด็จการทหาร หรือระบอบที่ทหารเป็นใหญ่ หรือเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ของโลกประชาธิปไตยนั้น เพราะมีความเชื่อว่า เป็นระบบที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากประชาชน และการวิพากษ์วิจารณ์คณะผู้ปกครอง โดยเฉพาะในปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะไม่สามารถทำได้

ทั้งที่การกระทำรัฐประหารในบ้านเรา โดยเฉพาะภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2534 และวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นข้อพิสูจน์แน่ชัดแล้วว่า พลังประชาธิปไตย ของประชาชนคนไทยนั้น พร้อมที่จะลุกขึ้นมาตรวจสอบอำนาจของเผด็จการทหารเสมอ โดยจะเห็นได้จากการเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535

การเข้ามาทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.ในปี 2534 ไม่ได้เสียงตอบรับจากประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศชาติสงบสุข และไม่ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลไกการตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย ไม่สามารถเอาผิดตามข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างอิสระ อย่างมากมายเช่นการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557

แต่ด้วยความใจกว้างที่เปิดโอกาสให้พลเรือนอย่าง นายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และนายอานันท์ได้ใช้โอกาสที่มีอำนาจในช่วงนั้น ดำเนินการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการแก้ไขและริเริ่มกฎหมายใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว

โดยสิ่งสำคัญที่นายอานันท์นำมาใช้ในการบริหารประเทศและกลายเป็นโลโก้ประจำตัวคือ “ความโปร่งใส” ซึ่งสอดคล้องกับข้อกล่าวหาที่คณะ รสช.ได้นำมาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจจากรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และจากประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาลอานันท์ ก็ทำให้ รสช.ได้รับความชื่นชมไปด้วย

จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่โหมดของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 คณะ รสช.แสดงท่าทีให้เห็นว่า ต้องการที่จะสืบทอดอำนาจด้วยการสนับสนุนการตั้งพรรคการเมืองใหม่เพื่อเข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อจะยังสามารถกุมอำนาจการบริหารประเทศไว้ได้ แต่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองที่หัวหน้าพรรคการเมืองนั้น ไม่สามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ในที่สุดหัวหน้าตัวจริงของคณะรัฐประหารก็ตัดสินใจ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง

ความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจในรัฐบาลใหม่นี้เองที่นำมาสู่ความไม่พอใจของนิสิต นักศึกษาและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ที่ไม่ต้องการเห็นการสืบทอดอำนาจของ “เผด็จการทหาร” จึงนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก่อนจะลุกลามกลายเป็นการขับไล่รัฐบาล เมื่อข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนอง

จุดจบของรัฐบาลที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 จึงเป็นจุดจบที่ไม่สวยงามนักของการรัฐประหารของคณะ รสช. ซึ่งทำให้ข้าราชการทหารกลายเป็นที่รังเกียจของประชาชนในขณะนี้

ใครจะคิดบ้างว่า ในอีก 15 ปีเศษถัดมา ทหารจะกลับเข้ามาทำ “รัฐประหาร” อีกครั้ง และเป็นการรัฐประหารที่ได้รับเสียงตอบรับจากคนไทยจำนวนมากที่ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งหรือต้องการเพียงให้รัฐบาลที่ถูกสงสัยว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันออกไปจากอำนาจ

คณะรัฐประหารภายใต้ชื่อที่คุ้นกันต่อมาว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ได้พยายามนำบทเรียนในอดีตมาปรับใช้ด้วยความพยายามที่จะคืนอำนาจโดยเร็วด้วยการตั้งรัฐบาลพลเรือน สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาถ่วงดุลอำนาจกัน และมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด

แม้รัฐธรรมนูญฯ 2550 จะได้รับการประกาศใช้โดยผ่านกระบวนการทำประชามติก็ตาม แต่ด้วยความที่ต้นทางของการร่างมาจากอำนาจของคณะรัฐประหาร ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงถูกตั้งคำถามจากฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนร่วมร่างมาอย่างต่อเนื่อง

และที่สำคัญ ภายหลังการรัฐประหารและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นไปจากวังวนแห่งความขัดแย้งไปได้ และอาจจะเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกมากขึ้น เพราะคู่ขัดแย้งต่างใช้มวลชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองตลอดระยะเวลา 6 ปีเศษที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ข้อสงสัยที่ว่า บุคคลในคณะรัฐประหาร มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันในระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ได้ถูกเปิดโปงออกมาทีละเล็กทีละน้อย จนทำให้คณะรัฐประหารกลายเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งแม้แต่หัวหน้าคณะรัฐประหารยังกลายเป็นเพียงหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตัวเองเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรค

เชื่อได้ว่า คณะ คสช.ในปี 2557 คงจะได้ศึกษาบทเรียนความผิดพลาดของคณะรัฐประหารในอดีตที่ล้วนตกเป็นจำเลยของสังคมภายหลังจากที่พ้นจากอำนาจด้วยข้อหาการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างที่ใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากกลไกการตรวจสอบนั่นเอง

ดังนั้น สิ่งที่คณะ คสช.จะต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งคือ ข้อกล่าวหาว่า ฉวยโอกาสใช้อำนาจเผด็จการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยงบประมาณสูงๆ ที่ขณะนี้ ฝ่ายที่ไม่หวังดีหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเริ่มปล่อยข่าวพร้อมหลักฐานออกมาทาง Social Media บ้างแล้ว

หรือแม้กระทั่งข้อเคลือบแคลงเดิมที่สังคมมีต่อทหารอยู่แล้ว แม้เป็นช่วงเวลาปกติ นั่นคือ ผลประโยชน์จากสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในสังกัดของกองทัพ ก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องของสัญญาสัมปทานและการรักษาผลประโยชน์เดิมจากคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่หากมีการฉวยโอกาสเข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการเปลี่ยนผ่านหรือการปฏิรูปสื่อที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2540 ก็อาจจะทำให้ความชอบธรรมในการเข้ามาปฏิรูปประเทศให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งของ คสช.ถูกแปรเจตนาไปในทางอื่นจนเกิดความไม่ไว้วางใจในที่สุด

สุดท้าย ความพยายามและความตั้งใจของคณะ คสช. ก็อาจจะสูญเปล่า เพราะความเชื่อถือไว้ใจที่ประชาชนจำนวนมากมอบให้เมื่อวันที่เข้ามายึดอำนาจ ก็จะหมดลงไปเรื่อยๆ และกลายเป็น “จุดเสื่อม” ของคณะรัฐประหารที่อาจจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากคณะรัฐประหารในอดีตก็เป็นได้

เพราะสงครามข่าวสารในวันนี้ ไม่ใช่สงครามข่าวสารโดยใช้สื่อกระแสหลักแบบเดิมๆอีกต่อไปแล้ว สงครามใน Social Media นับเป็นสงครามที่ คสช.ต้องเร่งทำความเข้าใจและใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความโปร่งใสในการบริหารประเทศช่วงที่ปราศจากองค์กรควบคุมตรวจสอบให้ได้โดยเร็ว

“ความโปร่งใส” นี้เอง จะเป็นเกราะกำบังในการทำงานให้กับ คสช.ได้ดีกว่ากำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ทั้งกองทัพมากมายนัก...

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
Twitter: @chavarong
chavarong@thairath.co.th