วันพุธ, กรกฎาคม 30, 2557

“น้ำผึ้งหลายหยด” สุภาษิตใหม่สำหรับเศรษฐกิจไทย

ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ

ผมได้ตามข่าวจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้สะดุดกับข่าวๆหนึ่งที่มีเนื้อหาว่าบริษัท ฐิติกร ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ออกมายอมรับว่า ธุรกิจเช่าซื้อปัจจุบันมีแนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.6% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้ และเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวัง กรรมการของบริษัทได้กล่าวต่อว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอยู่แล้วเพราะเห็นทิศทางนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาการเมือง แม้ตอนนี้ปัญหาต่างๆจะคลี่คลาย แต่ก็ยังไม่เห็นการฟื้นตัว
โดยการผ่อนเงินของลูกค้าบางกลุ่มมีปัญหา โดยเฉพาะลูกค้าที่ทำงาน ลูกค้ากลุ่มเกษตรกร

ในอีกมุมนึงของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่ให้ข่าวว่าเวลานี้ ได้เริ่มเห็นสัญญาณของผู้บริโภคที่กำลังหนีตายกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบรรดาผู้ที่จองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เริ่มมีอาการ ทั้งการทิ้งเงินดาวน์ ทั้งการเลื่อนการรับโอนในโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

เห็นอะไรจากข่าวพวกนี้มั๊ยครับ? เกษตรกรและชาวนามีรายได้ลดลง และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อจากภาคประชาชนที่เราๆคาดหวังว่าสิ่งนี้อาจจะช่วยชดเชยการส่งออกโดยเพิ่มกำลังการบริโภคจากในประเทศ สิ่งที่เราๆคาดหวังกำลังล้มเหลว ในอีกมุมหนึ่ง คนชั้นกลางก็เริ่มทิ้งจองบ้านและคอนโด หรือเลื่อนรับโอนกันบ้างแล้ว อันตรายจากทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพกำลังใกล้เข้ามาทุกทีแล้วครับ สิ่งที่จะเราจะได้รับกันมันเป็นเป็นไปตามทฤษฎีโดมิโน่ คือเมื่อธุรกิจนึงล้มธุรกิจต่อๆมาจะล้มตามๆกัน

ท่านๆที่ให้ความสนใจหรือพอมีความรู้เกี่ยวกับด้านธุรกิจ ผมเดาว่าคงได้คาดการณ์ล่วงหน้ามาอย่างต่ำครึ่งปีแล้วจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่กล้าจับจ่าย ไอที่บริโภคไปแล้วถ้าซื้อขาดก็ดีไป แต่ถ้าซื้อผ่อนก็ต้องกุมขมับกันเพราะอาจหมุนเงินไม่ทัน ในฟากของผู้ผลิตและผู้ประกอบการก็ไม่กล้าลงทุน ชะลอการลงทุนเนื่องจากผลิตแล้วกลัวจะขายไม่ได้

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่าน้ำผึ้งหยดเดียวใช่มั๊ยครับ แต่วันนี้ผมขอเสนอสุภาษิตใหม่สำหรับเศรษฐกิจไทยว่า “น้ำผึ้งหลายหยด” หยดเดียวก็ก่อผลกระทบวงกว้างแล้ว แต่นี่หลายๆหยดจากทุกๆมุมของประเทศ หากตัวผู้มีอำนาจรัฐในตอนนี้ยังนิ่งดูดายกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังปะทุขึ้นในทุกภาคส่วน ผมว่าตอนนั้น ประชาชนคงเป็นฝ่ายขอคืนความสุขจากท่านๆเองแหละครับ

ที่มา อภินิหารการเงิน
...

เรื่องเกี่ยวข้อง...

เศรษฐกิจชะลอดันหนี้เสีย'เช่าซื้อ'พุ่ง


แบงก์ชาติจับตาหนี้เสีย"เช่าซื้อ"เพิ่ม ผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอ กระทบภาคครัวเรือน ฉุดการฟื้นตัวภาคบริโภค

"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจสถาบันการเงินที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อเป็นสัดส่วนหลัก ปรากฏว่ามีผลประกอบการลดลงถ้วนหน้า เพราะ การเติบโตของสินเชื่อลดลง ขณะที่หนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของตลาดรถมือสอง ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลดคันแรกมาเป็นเวลา 2 ปี

ธนาคารธนชาต ถือว่ามีพอร์สินเชื่อค่อนข้างมาก เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย. มีการปล่อยสินเชื่อ 738,235 ล้านบาท ลดลง 1% จากสิ้นปีก่อน ตามการลดลงของสินเชื่อเช่าซื้อที่ลดลง 3.06% ขณะที่หนี้เสีย 38,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3%จากสิ้นปีก่อน ทำให้เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 4.49% เป็น 4.61% จากเช่าซื้อเป็นหลัก

กลุ่มทิสโก้ มีเงินให้สินเชื่อรวม 280,276 ล้านบาท ลดลง 4% จากสิ้นปีก่อน เป็นการลดลงของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อลดลง 4.45% เอ็นพีแอลอยู่ที่ 6,365 ล้านบาท หรือ 2.27% ต่อสินเชื่อรวมจากสิ้นปี 2556 ที่มี 1.7% ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2555 ที่มี 1.25% ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ และโครงการรถคันแรกที่ทำให้ราคารถมือ 2 ปรับลดลง

ธนาคารเกียรตินาคิน ไตรมาส 2 สินเชื่อยังเติบโต 1.7% จากสิ้นปี 2556 เพราะมีการเติบโตของสินเชื่อรายใหญ่สนับสนุน แต่ลดลง 1.8% จากไตรมาสแรกของปีจากการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และยอดขายรถครึ่งปีแรก ประกอบกับการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง

ขณะที่ เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 5.6% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2556 ที่ 3.8% จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อ ที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 2.1% ณ สิ้นปี 2556 เป็น 2.6% และขาดทุนจากขายรถยึด 497 ล้านบาท จากแผนจัดการหนี้ด้อยคุณภาพที่เร่งกระบวนการยึดรถให้รวดเร็วขึ้น และเพิ่มรอบประมูล

ธปท.เผยเอ็นพีแอลเช่าซื้ออยู่ที่3%

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าทิศทางเอ็นพีแอล ของสินเชื่อเช่าซื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มเอ็นพีแอลประเภทอื่นๆ แต่ปรับขึ้นเล็กน้อย ตามภาวการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ซึ่งยังไม่น่ากังวล

"แนวโน้มเอ็นพีแอลของสินเชื่อเช่าซื้อเราเห็นว่าเพิ่มขึ้น เป็นลักษณะเดียวกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ แต่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจนต้องเพิ่มความระมัดระวังจนเกินไป"

นายเกริกกล่าวว่าก่อนหน้านี้ แนวโน้มเศรษฐกิจดี ทำให้คนต้องการมีรถยนต์ แต่เศรษฐกิจไม่ดีเขาก็ปล่อย ทำให้เต็นท์รถอาจมีรถมากขึ้น ปัจจุบันเอ็นพีแอลเช่าซื้ออยู่ที่ 3% ยังไม่น่าห่วง

เผยเกาะติดปล่อยสินเชื่อรถ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธปท. กล่าวว่า เอ็นพีแอลของกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มสูงขึ้นมาระยะหนึ่ง ซึ่งธปท. ติดตามดูอยู่ ที่ผ่านมาได้ส่งสัญญาณมาตลอดว่า ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคครัวเรือนบางกลุ่ม เริ่มมีความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนี้ คือ สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์

การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลกลุ่มเหล่านี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แต่อาจทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศไม่ได้ฟื้นเร็วเหมือนที่เคยเห็นในอดีต

"ทุกครั้งหลังจากสถานการณ์ความกังวลต่างๆ คลี่คลายลง การบริโภคมักกลับมาเร็ว แต่ครั้งนี้อาจจะไม่ได้กลับมาเร็วอย่างที่เราอยากเห็น เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง" นางรุ่งกล่าว

ส่วนแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อเหล่านี้ ถ้าการเมืองและเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะทำให้ความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ลดลงตามไปด้วย

ธนชาตประคองตัวไม่ให้สินเชื่อติดลบ

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ปลายปีก่อน ธนาคารวางแผนธุรกิจ โดยปีนี้คาดจีดีพีจะอยู่ระดับ 5% สินเชื่อน่าจะเติบโต 5-6% แต่เอาเข้าจริงตลาดกลับทรุด โดยเฉพาะเช่าซื้อ ซึ่งธนาคารทบทวนแล้วว่า สินเชื่อรายย่อยคงไม่เติบโต มองว่าปีนี้สินเชื่อรวมของธนาคารจะทรงตัว โดยจะพยายามประคองไม่ให้ติดลบ

ปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้น คือ ความต้องการรถมือสองลดลง และเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้รถยึดเพิ่มขึ้น ปริมาณรถมือสองเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น จึงกดดันราคารถมือสองลงไปอีก ที่ผ่านมาธนาคารเพิ่มทีมติดตามหนี้ และคุยกับลูกค้า หากรายใดผ่อนไม่ไหว ให้ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อประคองลูกหนี้ หวังว่าอีก 4-6 เดือนน่าจะดีขึ้น ความสามารถหารายได้จะเพิ่มขึ้น

เอ็นพีแอลเช่าซื้อทั้งระบบเฉลี่ย3.5%

"สินเชื่อปีนี้แค่เสมอตัวก็เก่งแล้ว เพราะเราขายเอ็นพีแอลออก ส่วนเอ็นพีแอลเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี แต่เอ็นพีแอลเช่าซื้อมีแค่ 2% แต่ที่เห็น 4.6-4.7% เป็นเอ็นพีแอลเก่าตั้งแต่ควบรวมกิจการ แบงก์ไหนที่ทำสินเชื่อรายย่อยเจอปัญหาเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นหมด ที่ผ่านมาทุกบริษัทพยายามประหยัดต้นทุน โดยลดค่าโอที กระทบกับรายย่อยมีรายได้ลดลง หลังจากนี้คงต้องรอรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเม็ดเงินจะได้หมุนรอบ"

นายอนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า เอ็นพีแอลเช่าซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% มาจากรถคันแรกไม่มากนัก ส่วนเอ็นพีแอลจากรถมือสองเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่วนยอดขายรถมือสองครึ่งปีแรกยังไม่ดีนัก โดยมียอดขายรวม 440,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40% แต่ครึ่งปีหลังคาดแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 เป็นช่วงที่ตลาดรถยนต์มียอดขายดีที่สุด โดยปีนี้ยอดขายรวมจะจบที่ 9 แสนคัน

"รถมือสองปีนี้ค่อนข้างซึม และจะซึมยาว แต่ถ้ายอดขายรถใหม่ดีขึ้น รถมือสองจะหมุนเวียนมากขึ้น ตลาดรถมือสองเริ่มทรงตัว ค่ายรถมือสองเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นบ้าง เห็นการประมูลรถใหม่ๆ ทำให้มีรถหมุนเวียนมากขึ้น"

ทิสโก้คาดสิ้นปีสินเชื่อติดลบ2-3%

ด้านนายไพโรจน์ ชื่นครุฑ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส กล่าวว่า ครึ่งปีหลังนี้ตลาดสินเชื่อยานยนต์จะดีขึ้น เพราะการเมืองชัดเจนมากขึ้น ต่างชาติเชื่อมั่นมากขึ้น ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยนโยบายทรงตัว ซึ่งบริษัทยังคงเป้าสินเชื่อเติบโต 10% หรือมีฐานสินเชื่อรวมปลายปีนี้ 2.47 แสนล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมียอดสินเชื่อใหม่ 25,837 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 225,660 ล้านบาท

นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารไม่หวังเติบโตมากนัก แต่จะเน้นคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น และอาจเห็นสินเชื่อทั้งปีติดลบ 2-3% จากเป้าเดิมตั้งไว้ที่ 10% โดยมุ่งเน้นสินเชื่อรายย่อย และปรับปรุงเพื่อรอจังหวะการเติบโตอีกครั้งปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพราะรอให้ตลาดรถใหม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อน โดยคาดว่ายอดขายรถใหม่ปีนี้จะอยู่ที่ 8.5 แสนคัน

ตลาดรถมือสองฟื้นกลางปีหน้า

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ราคารถมือสองที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถคันแรกเริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดจะเห็นการฟื้นตัวของตลาดรถมือสองไตรมาส 2 ปี 2558 โดยสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็นพอร์ตหลักของธนาคารหดตัวลง 2-3% ทั้งปีคาดสินเชื่อจะเติบโตเหลือ 5-6% จากตั้งเป้า 9.5% โดยเป็นการเติบโตจากสินเชื่อรายใหญ่เป็นหลัก

"ในช่วงที่ผ่านมาเราระมัดระวังมากขึ้น ลดวงเงินการให้สินเชื่อต่อหลักประกันลง และลดระยะเวลาการผ่อนที่จะเป็นการล่อหนี้เสียเช่น 72 เดือนหรือ 84 เดือนลง โดยรถยึดในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นจาก 500 คัน เป็น 1,500 ต่อเดือน ทำให้ซับพลายในตลาดล้นราคายิ่งตกลง"

เอ็นพีแอลมอเตอร์ไซด์พุ่ง4.6%

ด้านนายประพล พรประภา กรรมการ บริษัท ฐิติกร ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ กล่าวว่า ธุรกิจเช่าซื้อปัจจุบันแนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.6% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2556 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้ และเศรษฐกิจครึ่งปีหลังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดหวัง

"แนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ผมเห็นทิศทางนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน จากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัญหาการเมือง แม้ตอนนี้ปัญหาต่างๆ จะคลี่คลาย แต่ผมยังไม่เห็นการฟื้นตัว"

สิ่งที่เราเห็น คือ การผ่อนเงินของลูกค้าบางกลุ่มมีปัญหา โดยเฉพาะลูกค้าที่ทำงาน ลูกค้ากลุ่มเกษตรกร ทำให้ต้องเร่งการบริหารจัดการรถยึดเร็วขึ้น หากเราเร่งปล่อยรถยึดออกไป จะเกิดปัญหาทำให้ราคารถมือ 2 ปรับตัวลดลงไปด้วย

เขากล่าวว่าด้านกลยุทธ์ ในการรับมือนอกจากการบริหารจัดการรถยึดแล้ว ต้องตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่วนการปล่อยสินเชื่อรถใหม่ครึ่งปีแรก หดตัวลงชัดเจน โดยรถจักรยานยนต์ยอดขายลดลง 20% จากปีก่อน ส่วนตลาดรถยนต์หดตัวรุนแรงถึง 40% ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการรถยนต์คันแรก ที่ดึงกำลังซื้อไปก่อนหน้านี้
...

ลดเป้าผลิต...จับทิศอุตฯยานยนต์ปี57



การประชุมสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุป

อย่างเป็นทางการว่า กลุ่มได้ปรับประมาณการณ์การผลิตรถยนต์ในปีนี้ลง 2 แสนคัน จาก 2.4 ล้านคัน เหลือ 2.2 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้มาจากการปรับลดเป้ายอดขายในประเทศจาก 1.2 ล้านคัน เหลือ 1 ล้านคัน ขณะที่การส่งออกยังคงเป้าเดิม 1.2 ล้านคัน

ตัวเลขที่ลดลง 2 แสนคัน อาจจะดูเหมือนมาก และสร้างความตกอกตกใจให้กับหลายคนพอสมควร แต่หากติดตามข่าวสารมาตลอดตั้งแต่ต้นปี จะพบว่าเป็นทิศทางที่ค่ายรถประเมินล่วงหน้า และเตรียมการตั้งรับเอาไว้แล้ว

สำหรับตัวเลขที่ได้จะมาจากที่สมาชิกแต่ละรายนำผลประกอบการ และแผนธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังมาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป้าขายในประเทศล่าสุดจำนวน 1 ล้านคันนั้น สูงกว่าที่ผู้บริหารค่ายรถยนต์ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เช่น ฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ที่มองว่าน่าจะมียอดต่ำกว่า 1 ล้านคัน เล็กน้อย เนื่องจากยอดขายในช่วง 5 เดือนแรก หดตัวลงไปค่อนข้างรุนแรง 42-43% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2556 อีกทั้งปัจจัยที่จะผลต่อตลาดหลายอย่าง ยังไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นดัชนีเศรษฐกิจ ราคาพืชผลการเกษตร ทั้งยางพารา หรือว่าข้าว รวมไปถึงผลกระทบจากโครงการรถคันแรกที่ยังส่งผลมาถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามผู้บริหารอีซูซุ ก็ยังมองว่า สถานการณ์ตลาดไม่ได้เลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหักตัวเลขของรถคันแรกออกไป ยอดขายปีนี้ก็หดตัวลงไม่มาก

และก็ยังเชื่ออีกว่าหลังจากบ้านเมืองนิ่งมากขึ้น มีมาตรการผลักดันเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลาดรถยนต์น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3

ส่วนพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฎิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ตลาดตกลงไปมาก ฉะนั้นทำให้คาดว่ายอดขายโดยรวมทั้งปีน่าจะอยู่ในระดับ 9.5 แสนคัน แต่ถ้าหากตลาดฟื้นเร็วจากการเมือง และเศรษฐกิจ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ความรู้สึกเรื่องการตื่นตัวในการบริโภคเริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากที่ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคตกลงโดยตลอดก่อนหน้านี้ การกระตุ้นของตลาดของผู้ค้า โดยเฉพาะการมีรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปถึง 9.85 แสนคัน

ในส่วนของฮอนด้าก็ปรับเป้าลงจาก 1.6 แสนคันเหลือ 1.35 แสนคัน

ด้านวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้อำนวยการฝ่ายการขาย และการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่า ตลาดน่าจะอยู่ที่ระดับ 9 แสนคัน หลังจากการออกตัวช่วงต้นปีทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตัวเลขยอดขายอย่างเป็นทางการล่าสุด เดือน มิ.ย.ออกมา หลังจากบ้านเมืองสงบ ค่ายรถชี้ว่า เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น จากยอดขายที่ทำได้ 7.37 หมื่นคัน ซึ่งเป็นการขยับขึ้นมาสู่ระดับสูงกว่า 7 หมื่นคันอีกครั้ง หลังจากร่วงไปอยู่ต่ำกว่า 7 หมื่นคันก่อนหน้านี้ ทั้งๆที่ปกติ มิ.ย. ไม่ถือว่าเป็นเดือนแห่งการขายรถ

ซึ่งสัญญาณตัวเลขการขายที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยอื่นๆ รวมทั้งการมีรถใหม่ออกสู่ตลาดหลายรุ่น เช่น ปิกอัพ นิสสัน นาวารา ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด และอีกหลายๆรุ่นที่จะตามมา เช่น ปิกอัพมิตซูบิชิ หรืออาจจะรวมถึงโตโยต้า ทำให้เป็นแรงผลักดันตลาดให้กลับมาสู่ระดับ 1 ล้านคันได้อีกครั้ง

แม้ว่าตลาดในประเทศจะทำได้ 1 ล้านคัน หรือต่ำกว่า แต่แวดวงยานยนต์เห็นว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดส่งออกยังทำได้ดี และตัวเลขคาดการณ์ 1.2 ล้านคันนั้น สูงกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ 1.1 ล้านคัน โดยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.6%

ทั้งนี้แนวโน้มของการส่งออกน่าจะยังคงอยู่ในทิศทางที่เติบโตต่อไป เนื่องจากบริษัทแม่หลายค่าย ให้ความสำคัญกับกิจกรรมนี้มากขึ้น เช่น นิสสันที่เตรียมส่งออกปิกอัพใหม่ไป 45 ประเทศ หรือข่าวที่ออกจากญี่ปุ่นว่า มิตซูบิชิ เตรียมส่งรถอีโค คาร์ รุ่น แอททราจ จากไทย ให้กับไครสเลอร์เพื่อทำตลาดในเม็กซิโกในเร็วๆนี้อีกด้วย