วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 10, 2557

คุยกับ "ธนาพล" บก.ฟ้าเดียวกัน หลังถูกคุมตัวครั้งที่ 2 เฉลยของฝากให้ทหารเมื่อคราวรับนัดกินกาแฟ


https://www.youtube.com/watch?v=MupEDE9039U

ที่มา มติชนออนไลน์
สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว

"มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์ "ธนาพล อิ๋วสกุล" บก.วารสาร "ฟ้าเดียวกัน" ช่วงค่ำวันที่ 9 กรกฎาคม ภายหลังจาก ธนาพล เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวที่กองปราบปราม เวลา 15.30 น. ในวันเดียวกัน การถูกควบคุมตัวครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ของ "ธนาพล" นับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ติดตามเรื่องราวประสบการณ์หลัง "การปรับทัศนคติ" จากบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

-ช่วยเล่าเหตุการณ์ถูกควบคุมตัว ทั้ง 2 ครั้ง

เริ่มจากวันที่ 24 พ.ค. 2557 หลังจากรัฐประหาร 2 วัน ผมก็ได้รับการเรียกให้ไปรายงานตัว แล้วก็ได้ไปอยู่กองพลทหาร พัฒนาที่1 จังหวัดราชบุรี 7 วัน ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม แล้วก็มีการเซ็นเงื่อนไข 3 ข้อโดยหลักๆ ก็คือไม่ออกมายุยงปลุกปั่น เพื่อให้เป็นสิ่งที่เรียกว่า เป็นการต่อต้านคณะรัฐประหาร รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ มาตรา 112

ผมก็เข้าใจว่า โดยหลัก เราก็ไม่ได้เป็นพวกจัดการชุมนุม หรือไปชุมนุม โอเค ก่อนหน้านั้น ก็ไปชุมนุม แต่หลังออกมาจากการควบคุมเราก็ไม่ได้ไปชุมนุม แต่คิดว่าเป็นเรื่องปกติ คือการแสดงความคิดเห็น จะเรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายของคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายทางการเมือง ทางกฎหมาย ก็พูดจริงๆ ก็พูดตามเนื้อผ้ามีอะไรเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ซึ่ง อาจจะทำให้ทางคณะรัฐประหารวินิจฉัยแล้วว่า การวิพากษ์วิจารณ์จะกลายเป็นความยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดความวุ่นวายได้

ขั้นแรกพ.ท.ภาสกร กุลรวิวรรณก็มีการโทรมาหาผมเมื่อวันที่4กรกฎาคม ว่าขอเชิญให้ไปพูดคุยว่า อะไรที่พูดได้หรือพูดไม่ได้ เขาโทรมาตอนเย็นวันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม ผมก็บอกว่า ไม่สะดวกเพราะเย็นวันศุกร์มีงาน แล้วก็จะต้องไปงานศพ ก็ขอนัดเป็นวันเสาร์แล้วกันบ่ายโมง

แล้วทาง พ.ท.ภาสกร เป็นคนโทรมานัดก็แจ้งว่า งั้นเรามาเจอกันที่ร้านกาแฟ มากินกาแฟกัน มาปรับทัศนคติ เพื่อบอกว่าอะไรเขียนได้ เขียนไม่ได้ ผมก็ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะเราก็ถือว่าคณะรัฐประหาร ณ ปัจจุบันเป็น รัฏฐาธิปัตย์แล้ว หลังจากนั้น เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม ผมก็ไปเจอกับ พ.ท.ภาสกร ที่ร้าน เดอะคอฟฟี่ ซีเล็คชั่น ซอยอารีย์

ก็คุยแนะนำตัวได้สัก 15 นาที ทาง พ.ท.ภาสกร ก็บอกว่า ทางหัวหน้า ทางเจ้านายอยากจะคุยด้วย คงไม่สะดวกถ้าให้เจ้านายออกมาคุยที่ร้านกาแฟ ก็ชวนไปที่กองพลทหารม้าที่1 รักษาพระองค์ ตรงสนามเป้า ไปถึงก็หัวหน้าระดับสูงที่กองพลทหารม้าที่ 1 บอกว่า สิ่งที่ผมทำ มันผิดเงื่อนไข เพราะยุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความวุ่นวาย จะทำให้คนมาต้านคณะรัฐประหาร แล้วผมก็เป็นคนที่ได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว ก็คือได้รับการคาดโทษแล้ว ก็ขอให้เห็นใจทางคณะรัฐประหารหน่อยว่า อาจจะต้องปราม

พูดตรง ๆ ๆ ก็คือว่า คือ ถ้าผมทำได้เดี๋ยวคนอื่นที่ออกมาอาจจะได้ใจ อาจจะทำให้คณะรัฐประหารรู้สึกไม่มั่นคง ผมก็โอเค เข้าใจ ถ้าอย่างนั้น ก็แล้วแต่ทางคณะรัฐประหาร ผมก็อยู่ในการคุมขังที่กองปราบ 5 วัน ทางคณะรัฐประหารก็ไม่ได้แจ้งข้อความเพิ่มเติม โอเค ก็ถือว่าเราผิดเงื่อนไข หรือว่าเราเข้าใจไม่ตรงกัน

สำหรับผม คิดว่าเป็นเรื่องปกติของการวิพากษ์วิจารณ์ ขณะที่ทางคณะรัฐประหาร รู้สึกว่า เป็นเรื่องของการยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดความวุ่นวาย ก็ว่ากันไป ก็ยอมรับคำตัดสินนี้

-ก่อนหน้านี้ เคยเจอรูปแบบนี้ไหมที่เชิญไปดื่มกาแฟแล้วควบคุมตัว

ไม่เคยครับ จริงๆ คือก่อนหน้านั้น ในช่วงอื่นๆ การชวนไปคุยโดยฝ่ายความมั่นคง เป็นเรื่องปกติก่อนรัฐประหาร คือก่อนหน้านี้ ก็เคยมีการชวนไปสอบถาม แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องผิดปกติที่เราจะไป เพียงแต่ก็อยากบอกแค่ว่า ถ้ามีธงอยู่แล้ว จะให้ไปกองทัพเลยก็ไม่มีปัญหานะครับ ผมก็ยินดีไปอยู่แล้ว

เพราะหากทำแบบนี้ อาจจะทำให้ความไว้วางใจลดลงไป อาจจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของกองทัพด้วยซ้ำ ก็ฝากบอกทางผู้บังคับบัญชาไปว่า วันหลังถ้าจะเชิญให้ไปคุยไปรับทราบข้อกล่าวหา ก็เชิญไปที่กองทัพเลย ไปที่ทำการเลยก็แค่นั้นแหละครับ

-ถ้ามีการเชิญไปดื่มกาแฟอีก โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะไปอีกไหม

ผมคิดว่า ก็ดูความสมเหตุสมผล เช่น เวลาใครชวนที่เราจะบอกว่าไปหรือไม่ไป มันก็มีเหตุผลในการตัดสินใจหลายอย่าง บริบท หัวข้อ คนเชิญ หรือสภาพเหตุการณ์บ้านเมือง ผมคิดว่า อาจจะต้องดูเป็นกรณีกรณีไป

-ระหว่างถูกควบคุมตัว มีการทำร้ายร่างกายไหม

ไม่มีครับ พูดกันจริงๆ นะ ไม่มีทางกายภาพ แต่ผมคิดว่า ถึงที่สุดการควบคุมตัว การคุมขัง ก็เป็นความรุนแรงชนิดหนึ่งอยู่แล้วแหละ การจำกัดสิทธิเสรีภาพ พูด คิด อ่าน เขียน อาจจะเป็นบทลงโทษ ของคณะรัฐประหาร ที่รู้สึกว่าทำให้เรา หรือทำให้สังคมรู้สึกเข็ดหลาบก็ได้

-ทุกครั้งที่ถูกควบคุมตัวไป มีคนเป็นห่วงมาก อยากจะฝากอะไรถึงคนที่เป็นห่วงบ้าง

ก็ขอบคุณนะครับ เพราะผมก็ไม่อยากให้ใครเป็นห่วงอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากสูญเสียอิสรภาพ ผมคิดว่า จริงๆ ต้องฝากคณะรัฐประหารมากกว่า ถ้าเป็นไปได้เรื่องการควบคุมเสรีภาพก็ไม่ควร เพราะคุยกันได้ พูดกันตรงๆ อย่างกรณีผม ที่เราเห็นเมื่อมีการสอบสวน มีการยกตัวอย่างโพสต์มาเป็น 10 โพสต์ ที่โพสต์ในเฟซบุคส่วนตัว

ผมก็กำลังคิดว่า ถ้ารู้สึกไม่พอใจ ตั้งแต่โพสต์แรก หรือโพสต์ 2 ก็โทรมาบอกคุยกันก็ได้ ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา จะให้ปรับปรุงอะไร ไม่เช่นนั้น ผมคิดว่าจะไม่ดีกับทั้ง 2 ฝ่าย คือเราก็สูญเสียเสรีภาพ และไม่ดีกับคณะรัฐประหาร ที่ถูกมองว่า ใช้อำนาจปิดกั้นในการแสดงความคิดเห็น

-ก่อนถูกควบคุมตัว 1 วัน เห็นคุณธนาพล โพสต์ว่า ได้รับการเตือนและจะไม่โพสต์อีก แต่ทำไมถูกควบคุมตัวในวันต่อมา

เขาก็คงมีธงอยู่แล้ว ไงครับ อันนี้ตีความเองว่า ต้องทำให้คนที่ได้รับการปล่อยตัว ไม่ไปเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เพราะอาจจะบริหารลำบาก

-หลังจากนี้ ชีวิตจะเปลี่ยนไปไหม

ชีวิตก็มีอย่างอื่นให้ทำอีกเยอะ พูดจริงๆ หลังปล่อยตัวรอบแรก ผมก็คิดว่า เราก็สูญเสียเสรีภาพไปพอสมควรแล้ว เราก็ไม่ได้ใช้เต็มที่ หลังจากนี้ อาจจะสูญเสียเพิ่มขึ้นมาสักหน่อย แต่ผมคิดว่า คนเรามันคงมีทางออก คือถ้าเราไม่รู้สึกว่าสิ้นหวังในแง่เรื่องสิทธิเสรีภาพ มันก็อยู่ที่บริบท อยู่ที่โอกาส อยู่ที่จังหวะ

-ระหว่างควบคุมตัว ได้พบกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวในการทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย

ครับ ก็เจอทั้งคนที่ไปชูป้ายที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา หรือคนที่ไม่เกี่ยวโดยตรง เช่น จากนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งก็สวนกันไปมา ผมเข้าไป เขาจะออก ระหว่างนั้น ก็มีคนเข้าคนออก อะไรอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ

-ได้พูดคุยอะไรบ้าง

ก็ไม่ได้คุยอะไรเยอะแยะยกเว้นพี่อีกคนหนึ่งคุณ"โหน่งโอเคนิติราษฎร์"อาจจะเจอกันนานหน่อย4 วัน การได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา 24 ชั่วโมง การให้ข้อมูลกัน คงไม่เรียกว่าการปลอบ ผมคิดว่า แต่ละคนคงมีความเข้มแข็งแล้วก็แลกเปลี่ยนทัศนคติกันเป็นอย่างนี้มากกว่า แล้วก็มีอะไรที่เราพอให้ความช่วยเหลือเขาได้ ในแง่การประสานช่วยติดตามคน ก็เป็นการช่วยเหลือกันเป็นปกติอยู่แล้วสำหรับผู้อยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

-ตอนถูกคุมตัวไปเมื่อวันที่5กรกฎาคมมีเจ้าหน้าที่ที่อยู่บนรถกี่คน

มีพ.ท.ภาสกรคนหนึ่งแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ อีก2 คน รวมผมด้วย 4 คน นั่งรถไปด้วยกัน

-คุณธนาพล พกหนังสืออะไรไปให้ทหารด้วย

หนังสือ "การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง : วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย" ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มี "ประจักษ์ ก้องกีรติ" เป็นบรรณาธิการ ผมตั้งใจจะเอาไปฝากพันโทภาสกร คนที่เชิญผม

-ทำไมถึงเลือกเล่มนี้ให้เขา

1) คือ หนังสือมันดี (หัวเราะ)

2) ก็คือ ในแง่เราทำหนังสือแบบเปิดเผย มีชื่อ ที่อยู่ ติดต่อได้ ทำหนังสือบนดิน ไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัว อยากให้เห็นว่าเราทำอะไร เราทำหนังสือ เท่าที่เห็น แล้วนี่คือการเคลื่อนไหวทางความคิด เราก็มีแค่ปากกา กระดาษ

3) คือ เราคิดว่าหนังสือเล่มนี้สำคัญ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะ เรื่องของการเลือกตั้ง มีมิติ ไม่ใช่เรื่องการซื้อเสียงขายเสียง แต่เป็นพลวัตของสังคมไทย โดยเฉพาะชนบทไทยที่ตอบรับการเลือกตั้ง แล้วก็ส่วนหนึ่งก็เป็นเหตุผลเรื่องการเกิดขึ้นของขบวนการเสื้อแดงด้วย ที่ยืนอยู่บนเรื่องของการเลือกตั้ง

เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะมีเวลาอ่านหรือเปล่า เราให้ พ.ท.ภาสกร ตอนนั่งรถไปค่ายทหาร