วันศุกร์, พฤษภาคม 30, 2557

คู่มือการปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)




ที่มา ilaw

กรณีถูกเรียกให้ไปรายงานตัว ผู้ถูกเรียกตัวและญาติควรปฏิบัติ ดังนี้
• แจ้งญาติ เพื่อน คนใกล้ชิด 
• เมื่อไปรายงานตัวควรมีญาติหรือคนใกล้ชิดเดินทางไปด้วยมากกว่าหนึ่งคน
• ควรจะนัดหมายให้ผู้ถูกเรียกตัวคนอื่นๆ ที่รู้จักไปพร้อมกัน
• ญาติ เพื่อน บุคคลใกล้ชิด ควรสร้างความรู้จักกันเพื่อติดตามสถานการณ์
• ผู้ถูกเรียกตัวและญาติควรทำบันทึกรายละเอียดวัน เวลา สถานที่ที่ไปรายงานตัว ชื่อและยศของเจ้าหน้าที่ผู้รับรายงานตัว เบอร์โทรศัพท์ และรายละเอียดเท่าที่มีให้ได้มากที่สุด
• ก่อนไปรายงานตัวควรเก็บหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและสภาพร่างกาย เช่น การถ่ายรูปส่วนต่างๆ ของร่างกาย ใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี) เป็นต้น
• สอบถามระยะเวลาที่ใช้ในการรายงานตัว ถ้าไม่ปล่อยตัว ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าจะควบคุมตัวที่ไหน กี่วัน
• ให้ญาติสอบถามเจ้าหน้าที่เรื่องช่องทางการติดต่อสื่อสารกับผู้ถูกเรียกตัว 
• ให้ผู้ถูกเรียกตัวนำของใช้ส่วนตัว ยาประจำตัวติดตัวไปด้วย
• ถ้าถูกปล่อยตัว ให้ทำบันทึกเวลา สถานที่ และสภาพร่างกายทันที ถ่ายรูปบันทึกสภาพร่างกายเพื่อเป็นหลักฐาน



กรณีถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่ ผู้ถูกซักถามควรปฏิบัติ ดังนี้
• ถ้าแน่ใจว่าข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาไม่ถูกต้อง ต้องปฏิเสธ

• ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น
• ไม่ควรพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เกินกว่าที่จำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
• หากเจ้าหน้าที่ให้ลงชื่อ ควรอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมคิดหรือคาดเดาไปเอง หากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูก หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่ยอมลงชื่ได้ 
• โปรดระวังว่าเอกสารทุกชนิดถูกนำมาใช้ในชั้นศาลได้


มาตรการเตรียมตัวเมื่อมีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม (เช่น กรณีจะไปชุมนุม)
• ผู้มีความเสี่ยงก่อนออกไปควรแจ้งสถานที่ที่จะไป และการติดต่อต่างๆ 
• ควรถ่ายรูปขณะเดินทางหรือขณะชุมนุม เพื่อให้คนอื่นติดตามที่อยู่ได้
• ควรบันทึกการแต่งกาย ของมีค่าและของใช้ที่ติดตัวไป


กรณีถูกจับกุม
• ผู้ถูกจับกุมควรบอก ชื่อ นามสกุล เบอร์ติดต่อญาติหรือคนใกล้ชิด ให้คนที่อยู่บริเวณที่ถูกจับกุมทราบ
• ควรสอบถามว่าจะถูกควบคุมตัวไปไว้ที่ไหน
• ควรแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของตนเป็นระยะ 
• ขออนุญาตเจ้าหน้าที่แจ้งญาติทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวในโอกาสแรก หากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ติดต่อให้
• ควรแจ้งให้ญาติหรือคนใกล้ชิดมาขอเยี่ยมทันทีที่ถูกกักตัว

กรณีถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่
• ถ้าแน่ใจว่าข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาไม่ถูกต้อง ต้องปฏิเสธ
• ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น
• ไม่ควรพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เกินกว่าที่จำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม

กรณีถูกกักตัว
• เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเต็มในการกักตัวได้ไม่เกิน 7 วัน ตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ หากมีการควบคุมเกินกว่านั้น จะเป็นอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต้องอาศัยหมายจากศาล
• กรณีที่ญาติอยู่ด้วยระหว่างมีการจับกุม ญาติควรตามไปเพื่อให้ทราบสถานที่กักตัวหรือควบคุมตัว
• กรณีไม่ทราบสถานที่กักตัว ให้ญาติติดต่อสอบถามหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องโดยแจ้งจุดที่ถูกจับให้เจ้าหน้าที่ทราบ 
• ญาติควรเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมในโอกาสแรก
• ญาติควรเข้าเยี่ยมผู้ถูกกักตัวตั้งแต่วันแรก และ บ่อยเท่าที่เป็นไปได้
• เมื่อครบ 7 วัน ญาติควรไปรับตัวจากสถานที่ควบคุมตัว หากครบ 7 วัน ยังไม่มีการปล่อยตัวให้ติดต่อทนายความเพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม มาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
• ในระหว่างการกักตัว หากมีการนำตัวผู้ถูกเรียกให้รายงานตัวและถูกจับไปที่สถานีตำรวจเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา ให้ขอตำรวจแจ้งญาติทันที และให้เตรียมหลักทรัพย์มาประกันตัว
• เมื่อถูกแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว มีสิทธิขอประกันตัวต่อพนักงานสอบสวน

สิทธิของผู้ถูกจับ 
• กรณีการจับกุมตามกฎหมายพิเศษ เจ้าหน้าที่ใช้กำลังดำเนินการได้เท่าที่จำเป็น
• ผู้ถูกจับมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจ  ทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมตัวในโอกาสแรก
• ผู้ถูกจับมีสิทธิพบและปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว 
• ผู้ถูกจับมีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนในชั้นสอบสวนได้
• ผู้ถูกจับมีสิทธิได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อญาติได้ตามสมควร
• ผู้ถูกจับมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
• ผู้ถูกจับมีสิทธิได้รับแจ้งสิทธิจากเจ้าพนักงานหรือตำรวจในโอกาสแรก
• ได้รับแจ้งข้อกล่าวหาหรือรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ทราบ  หากมีหมายจับ  ต้องแสดงหมายจับให้ผู้ถูกจับทราบขณะจับกุม การจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  และตามป.วิฯอาญา จะมีหมายจับ  เว้นแต่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า หากจับตามกฎอัยการศึกไม่ต้องมีหมายจับ
• ผู้ถูกจับมีสิทธิมีสิทธิจะไม่ให้การหรือให้การก็ได้
• ผู้ถูกจับมีสิทธิมีสิทธิได้รับสำเนาบันทึกการจับกุม